ภาพปก: ภาพการแสดงละครในโรงละคร ปรินซ์เธียเตอร์
แหล่งที่มาภาพจาก: สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 Reminiscence of Rattanakosin Vol.1 (1851 - 1911). https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3071801923144964&id=1746295179028985&set=a.1750494838609019&locale=th_TH
โรงละครปรินซ์เธียเตอร์ และ วิกละคร อาจค่อยๆ เลือนไปแล้วจากความทรงจำของคนปัจจุบัน หากย้อนกลับไปประมาณร้อยกว่าปีก่อน "ปรินซ์เธียเตอร์" และ "วิก" (ความหมายปัจจุบัน) เป็นของใหม่ที่ได้รับความนิยมสำหรับพระนครเลยทีเดียว เราอยากชวนย้อนกลับไปทำความรู้จักอีกครั้งว่าปรินซ์เธียเตอร์และวิก ตั้งอยู่ที่ไหน มีรูปแบบอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงเป็นของใหม่ที่ผู้คนในพระนครชื่นชอบกัน
ปรินซ์เธียเตอร์ เป็นโรงละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านได้เป็นอุปทูตไปอังกฤษ และได้เที่ยวชม ลอนดอน เธียเตอร์ จึงได้นำรูปแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกให้มีแนวทางแปลกออกไป ด้วยการแต่งกายประณีต หรูหรา สวยสดงดงาม จับเนื้อเรื่องวรรณคดีไทยต่างๆ มาผสมรวมกัน กลายเป็นการแสดงละครแนวใหม่ เรียก "ละครพันทาง" นับเป็นรูปแบบแปลกใหม่ของละครยุคนั้น
โรงละครปรินซ์เธียเตอร์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ภายนอกกำแพงเมืองในย่านท่าเตียน ใกล้กับวัดพระเชตุพนฯ ตัวอาคารเป็นแบบยุโรปก่ออิฐถือปูน เดิมทีคณะละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงไม่ได้ใช้ชื่อว่า ปรินซ์เธียเตอร์ แต่ใช้ชื่อว่า ไซมิสเธียเตอร์ (Siamese Theatre) เป็นละครที่เล่นอยู่กับบ้านตามความพอใจเจ้าของบ้าน และเล่นรับรองแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนพระนคร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อคณะละครจากไซมิสเธียเตอร์เป็นปรินซ์เธียเตอร์ หลังจากนำคณะละครไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 100 ปีที่สนามหลวง
โรงละครปรินซ์เธียเตอร์นั้นปรากฏในภาพถ่ายของนายจอห์น ทอมสัน และฟรานซิส จิตร ทำให้เราได้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งและรูปแบบของตัวอาคาร ซึ่งเห็นว่าเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงนั้นได้รับอิทธิพลจากยุโรปมาทั้งรูปแบบการแสดงและรูปแบบของอาคารโรงละคร
ส่วนคำว่า "วิก" ก็มีที่มาจากปรินซ์เธียเตอร์ กล่าวคือ วีก หรือ วิก นั้นเดิมไม่ได้หมายถึงโรงมหรสพหรือสถานที่แสดงมหรสพ แต่หมายถึงช่วงเวลาที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า week หมายถึง สัปดาห์ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบัญญัติคำนี้ จึงใช้คำทับศัพท์ว่า วีก เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มคิดการแสดงที่เรียกว่า ละครพันทาง เปิดการแสดงที่โรงละครปรินซ์เธียเตอร์ เดือนละ 7 วัน (ช่วงระยะเวลาข้างขึ้น) จึงเรียกช่วงเวลาที่มีการแสดงว่า วิก หรือวีก และที่หน้าโรงละครจะติดป้ายบอกว่า วิกนี้แสดงเรื่องอะไร คนทั้งหลายจึงเข้าใจว่า วิก หมายถึง โรงละคร(ของท่านเจ้าพระ) สถานที่แสดงมหรสพมาตั้งแต่นั้น และใช้กันต่อมาในความหมายว่า สถานที่แสดงมหรสพ เช่น วิกละคร วิกลิเก วิกวงลูกทุ่ง เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นว่าเป็นของใหม่ในสมัยนั้น คือ การเก็บค่าเข้าชมละคร หรือการแสดงมหรสพ ซึ่งเริ่มต้นจากเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเช่นกัน เมื่อครั้งงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี (พ.ศ.2425) ท่านเจ้าพระยาฯ นำละครไปร่วมแสดง ณ ท้องสนามหลวง และเก็บเงินสำหรับคนที่ต้องการเข้าชมการแสดงละครนั้นเป็นครั้งแรก หลังจากงานฉลองกรุงฯ ท่านได้นำกลับไปเปิดการแสดงเก็บเงินค่าชมที่โรงละครปรินซ์เธียเตอร์ ท่าเตียน
คณะละครของปรินซ์เธียเตอร์ที่ท่าเตียนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในพระนคร ได้แก่ การแสดงละครแนวใหม่ เรียก ละครพันทาง เป็นละครที่ใช้เครื่องแต่งตัวสวยสดงดงาม และหรูหรามีราคาสูง และการปิดวิกเก็บค่าชมการแสดงมหรสพเป็นครั้งแรกของพระนคร หลังจากสิ้นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง บุตรชายของท่านได้สืบต่อคณะละครและเคยพาคณะละครไปแสดงยังต่างประเทศอีกด้วย
ภาพที่ 1 ภาพการแสดงละครของโรงละคร ไซมิสเธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อโรงละครใหม่เป็น ปรินซ์เธียเตอร์
แหล่งที่มาภาพจาก : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154662718215215&id=304416475214&set=a.387596445214&locale=th_TH
ภาพที่ 2 ภาพวิวย่านท่าเตียนถ่ายจากบริเวณวัดอรุณราชวราราม
ในภาพจะเห็นโรงละครปรินซ์เธียเตอร์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง บันทึกภาพโดยจอห์น ทอมสัน
แหล่งที่มาภาพจาก:
Paisarn Piemmettawat. Siam Through the Lens of John Thomson 1865-66. Including Angkor and Coastal China. River Books Press Ltd., Bangkok.2015. (p.98-103)
ภาพที่ 3 ภาพวิวย่านท่าเตียนถ่ายจากบริเวณวัดอรุณราชวราราม ในภาพมองเห็นโรงละครปรินซ์เธียเตอร์
(ตึกสีขาว) ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว บันทึกภาพโดย หลวงอัคนีนฤมิตร หรือ ฟรานซิสจิตร
แหล่งที่มาภาพจาก: Paisarn Piemmettawat. Siam Through the Lens of John Thomson 1865-66.
Including Angkor and Coastal China. River Books Press Ltd., Bangkok.2015. (p.98-103)
แหล่งที่มาข้อมูล
อเนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม ภาค1. สำนักพิมพ์แสงดาว, กรุงเทพฯ.2559.หน้า 500-503.
https://www.silpa-mag.com/culture/article_55322
https://www.bangkokbiznews.com/social/753