มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
ต้นไทรแห่งมิวเซียมสยาม: พยานแห่งประวัติศาสตร์และความเชื่อไทย
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
29 พ.ย. 67 124

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

               ใครที่มามิวเซียมสยามบ่อยๆ น่าจะสังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่หลายต้นภายในบริเวณรั้ว และมีต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษอยู่ 2 ต้นที่มีผ้าแพรหลากสีพันรอบโคนต้น ต้นที่อยู่ริมรั้วเป็นต้นโพธิ์ และต้นที่ถัดเข้ามาด้านในเป็นต้นไทร ต้นไม้ทั้งสองต้นนี้นับเป็นต้นไม้โบราณที่อยู่คู่กับพื้นที่แห่งนี้มานานเป็นร้อยปี หลายคนอาจสงสัยว่าต้นไหนมีอายุเก่าแก่ที่สุดในมิวเซียมสยามกันแน่

               เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่มิวเซียมได้สำรวจต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ โดยวัดขนาดลำต้นสูงขึ้นจากโคนรากประมาณ 150 cm พบว่าต้นไทรมีความยาวของเส้นรอบวงถึง 804 cm เมื่อคาดคะเนด้วยตาเปล่าก็เห็นว่าต้นไทรมีขนาดความสูงของยอดเลยไปถึงชั้น 6 ของอาคารสำนักงานเลยทีเดียว

               ทั้งนี้ ในทางพฤกษศาสตร์ ต้นไทรจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อยู่ในวงศ์โมราซีอี (Moraceae) ที่มีลักษณะเด่นคือมีรากอากาศห้อยย้อยลงมาจากกิ่ง เมื่อรากเหล่านี้แตะพื้นดินก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นลำต้นใหม่ ทำให้ต้นไทรหนึ่งต้นสามารถแผ่ขยายพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง จึงยากต่อการคำนวนหาอายุที่แท้จริงตามหลักเกณฑ์ (เส้นรอบวงที่วัดสูงจากโคนต้น 150 cm หารด้วย 2.5) หากอนุมานว่าต้นไทรมีขนาดลำต้นโตเร็วกว่าไม้ยืนต้นทั่วไปเป็น 2 เท่า ก็คาดคะเนได้ว่าต้นไทรต้นนี้มีอายุ 160 ปี เป็นอย่างน้อย

               อย่างไรก็ตาม บริเวณโคนต้นพบว่ามีรากขนาดใหญ่ที่แผ่ขยายชอนไชรัดเกาะเกี่ยวกับหินฟันม้าที่มักนำมาใช้สร้าง “เขามอ” หรือภูเขาจำลองที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ มีความนิยมสร้างทั้งในวัง วัด บ้านเจ้านายและพื้นที่สาธารณะมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 จึงสันนิษฐานว่าต้นไทรน่าจะเติบโตอยู่บนเขามอที่เคยตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณเดิมของวังพระองค์เจ้างอนรถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ตามที่ปรากฏหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีและประวัติของพื้นที่

              ในความเชื่อของคนไทย ต้นไทรถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทพยดาและภูตผี โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าเป็นที่สถิตของนางไม้หรือรุกขเทวดา ด้วยเหตุนี้ คนไทยโบราณจึงมีความเชื่อว่าหากจะตัดต้นไทรต้องทำพิธีขออนุญาตเทพยดาที่สถิตอยู่เสียก่อน

              ต้นไทรที่มิวเซียมสยามจึงนับเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า นอกจากจะเป็นพยานทางประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับเกาะรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวิถีความเชื่อของคนไทย ปัจจุบันต้นไทรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และยังคงตั้งตระหง่านเป็นจุดสนใจที่สำคัญของพื้นที่ เป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืนที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

 

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายทางอากาศ (ก่อนปีพ.ศ.2504) มองเห็นต้นไทรที่มีขนาดสูงใหญ่พ้น

อาคารสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์ที่มีความสูง 2 ชั้น

 

 

ภาพที่ 2 ภาพการขุดค้นทางโบราณคดี (พ.ศ.2549-2550) บริเวณที่ติดกับต้นไทร

ซึ่งเป็นพื้นที่ในอาณาบริเวณเดิมของวังพระองค์เจ้างอนรถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3

 

 

 

ภาพที่ 3 ภาพบริเวณรากโคนต้นไทรที่ยังมองเห็นหินฟันม้าที่นิยมใช้สร้างเขามอกระจายอยู่

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ