เราอาจคุ้นตากับรูปแบบป้อมของกรุงเทพฯ อย่างป้อมมหากาฬ ป้อมพระสุเมรุ แต่ป้อมเมืองบางกอกในสมัยอยุธยา เป็นอย่างไร เหมือนกับป้อมมหากาฬ ป้อมพระสุเมรุหรือไม่ หรือมีรูปแบบและดีอย่างไรจนทำให้
สมเด็จพระนารายณ์ต้องให้สร้างขึ้น
ป้อมเมืองบางกอก เป็นป้อมก่อด้วยอิฐเรียงกันเป็นแนว มีแผนผังเป็นแฉก หรือที่เรียกกันว่า ป้อมรูปดาว (Star fort) ออกแบบก่อสร้างโดยนายทหารช่างชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอ ลา มาร์ (M. de la Mare) ซึ่งเข้ามาสยามพร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ป้อมรูปดาวนี้เป็นสถาปัตยกรรมทางการทหารสุดฮิตที่แพร่หลายในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นนวัตกรรมต่อต้านเทคโนโลยีทางอาวุธใหม่ คือ ปืนไฟ ที่ป้อมค่ายและกำแพงเมืองแบบเดิม ไม่สามารถป้องกันผลกระทบอันรุนแรงจากดินปืนได้อีกต่อไปแล้ว
ป้อมรูปดาว นอกจากป้อมและกำแพงที่มีความหนามากขึ้นจนปืนใหญ่ไม่สามารถทำลายได้ง่ายแล้วยังลดจุดบอดจากป้อมแบบเดิม โดยทำแผนผังให้มีป้อมรูปสามเหลี่ยมยื่นออกไปหลายทิศทาง นอกจากนี้จุดเด่นของป้อมรูปดาวคือ การพัฒนาให้กลายเป็นเมืองที่เหมาะกับการรบโดยสมบูรณ์แบบโดยมีป้อมล้อมรอบเมืองทุกด้าน และยังพยายามสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14 มีสถาปนิกคนสำคัญ เซบาสเตียง เลอ เพรส์เทรอ เดอ โวบอง (Sébastien Le Prestre de Vauban) ได้พัฒนาป้อมรูปดาวให้ซับซ้อนเป็นระบบป้องกันที่ยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเดอ ลา มาร์ ก็ได้นำเอาแบบป้อมที่โวบองพัฒนามาสร้างไว้ที่เมืองบางกอกบนแผ่นดินสยาม
ภาพที่ 1
ป้อมปราการรูปแฉกหรือรูปดาว (star fort) มีลักษณะเป็นเมืองป้อมปราการมีคูน้ำล้อม
เป็นป้อมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีความนิยมแพร่กระจายไปทั่วยุโรปทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ
เยอรมัน โปรตุเกส ฮอลันดา และส่งผ่านมาให้กับเมืองอาณานิคม ตัวอย่างป้อมปราการ
ในลักษณะนี้ที่ยังคงรูปร่างอย่างสมบูรณ์ เช่น ป้อมปราการเมือง Nevf Brisach ประเทศฝรั่งเศส
แหล่งที่มาภาพ: https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/btv1b8493884x.r=neuf%20brisach?rk=64378;0
ภาพที่ 2
แผนผังการสร้างป้อมเมืองบางกอกฝั่งตะวันออกรูปห้าแฉกกินพื้นที่กว้างครอบคลุมพื้นที่
โรงเรียนราชินี ถนนมหาราชและมิวเซียมสยาม ส่วนแผนผังป้อมฝั่งตะวันตกนั้นมีออกแบบทับกับ
ผังป้อมเมืองบางกอกเดิม โดยระหว่างทั้งสองฝั่ง มีการขึงโซ่ขนาดใหญ่ขวางกั้นเรือเข้า-ออกกรุงศรีอยุธยา
แหล่งที่มาภาพ: รศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, โบราณคดีมิวเซียมสยาม.2563.
ภาพที่ 3
แบบร่างแผนผังเมืองลพบุรี สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของ เดอ ลา มาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศส
ผู้ออกแบบก่อสร้างป้อมบางกอก ในแผนผังจะเห็นแนวป้อมที่ทับซ้อนลงไปกับแนวกำแพง
ป้อมปราการเมือง มีลักษณะเป็นแฉกแบบป้อมยุโรปที่เรียกว่าป้อมแบบโวบอง (Vauban)
ตามชื่อวิศวกรที่ออกแบบก่อสร้างป้อมในยุโรปและในฝรั่งเศส
แหล่งที่มาภาพ: รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี, “เมกะโปรเจ็คต์ (Mega Projects) ของวิศวกรฝรั่งเศสที่ลพบุรี
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561.