"พญานาค" ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์ และตามรอยความเชื่อ 3 สถานที่แห่งความศรัทธาของคนต่อพญานาคในไทย
Muse Pop Culture
21 ก.ย. 65
186K
ความเชื่อในเรื่องพญานาค หรือ นาคราช ปรากฏทั้งในอินเดีย ไทย และทั่วไปในดินแดนอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาคือ พราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ ความเชื่อเรื่องนาคของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร และนาคในความเชื่อของไทย มีที่มาจากไหน มาติดตามหาความเชื่อนี้ด้วยกัน
พรามหณ์-ฮินดู
นาค ตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู เป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งเทพ มีพลังอำนาจวิเศษ รูปลักษณะของนาคเป็นมนุษย์กึ่งมนุษย์กึ่งนาค หรือเป็นลักษณะนาคทั้งหมด นาคอาศัยอยู่ในโลกบาดาล ซึ่งเต็มไปด้วยอัญมณี ทองคำ และสมบัติทางโลกอื่น ๆ นาคมีความเกี่ยวพันกับน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือแม้แต่บ่อน้ำ และถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สมบัติ และในตำนานฮินดู นาค ซึ่งประทับรอบพระศอของพระศิวะได้มาเป็นเชือกสำหรับการกวนน้ำในเกษียรสมุทร
พระวิษณุนั้นดั้งเดิมแล้วมีการสร้างรูปเคารพในรูปลักษณะที่ทรงมีนาคเศษะประทับปกคลุม หรือประทับนอนบนนาคเศษะ แต่ประติมานวิทยานี้ในเทพองค์อื่น ๆ ก็ปรากฏเช่นกัน อาทิในพระคเณศซึ่งปรากฏนาคในหลายลักษณะ ทั้งประทับคล้องพระศอของพระคเณศ ใช้เป็นด้ายศักดิ์สิทธิ์ ประทับคล้องพระวรกายของพระคเณศ หรือเป็นบัลลังก์ให้พระคเณศประทับ ส่วนพระศิวะมักปรากฏในรูปเคารพพร้อมนาคในลักษณะคล้ายมาลัยเช่นกัน
ศาสนาพุทธ
นาคในศาสนาพุทธ ปรากฏในรูปของงูขนาดใหญ่ บางตนมีพลังวิเศษแปลงกายเป็นรูปมนุษย์ได้ เชื่อว่านาคอาศัยในบาดาล เช่นเดียวกันกับเทวดาบางส่วน และอาศัยในส่วนต่าง ๆ ของโลกมนุษย์ บางส่วนอาศัยในน้ำ เช่นลำธาร แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร และบางส่วนอาศัยบนบกเช่นในถ้ำ
นาคเป็นบริวารของท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในโลกบาลผู้พิทักษ์ทิศตะวันตก นาคต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์บนเขาพระสุเมรุ เพื่อปกป้องชั้นดาวดึงส์จากอสูร
นาคในศาสนาพุทธที่รู้จักกันคือนาคมุจลินท์ ซึ่งปรากฏในมุจจลินทสูตรว่า ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข เกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรง พญามุจลินท์จึงได้ขดรอบพระพุทธองค์แล้วแผ่พังพานปกพระเศียรของพระพุทธเจ้าเพื่อมิให้ทรงต้องฝน หลังจากฝนหยุด พญามุจลินท์ได้คลายขดออกและแปลงกายเป็นชายหนุ่มยืนพนมมือถวายความเคารพอยู่เฉพาะพระพักตร์
นาค ของไทย
ในความเชื่อของวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว มีการนับถือนาคในลักษณะเป็นเทพแห่งน้ำ และมีความเชื่อว่าในแม่น้ำโขงนั้นมีนาคอาศัยอยู่ ตามตำนาน สัตว์จำพวกงู, แมงป่อง, ตะขาบ, คางคก มีพิษจากพิษที่นาคได้คายทิ้งไว้ นอกจากนี้ในความเชื่อของไทยได้เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธในเรื่องกำเนิดของพญานาคที่มีหลายลักษณะ ซึ่งตามที่ปรากฏในแนวทางของพระพุทธศาสนา มี 4 ลักษณะ
คือ แบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักมม แบบชลาพุชะ เกิดจากครรภ์ และแบบอัณฑชะ เกิดจากฟองไข่ และ ตระกูลของนาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง ตระกูลกัณหาโคตรมะ พญานาคตระกูลสีดำ
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการไถลตัวของพญานาค 2 ตน จึงเกิดเป็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน และยังมีตำนานกล่าวถึงบั้งไฟพญานาค ว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงทำบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี
นาคในความเชื่อของไทยอยู่ในฐานะเทพแห่งน้ำ เพราะนาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อเรื่องนาคที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า กล่าวถึงพญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช นอกจากนี้ยังปรากฏความเชื่อเรื่องนาคในคำเสี่ยงทายปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปี เรียกว่า "นาคให้น้ำ" จะปรากฏเห็นได้ชัดที่สุดในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลของแต่ละปี
นอกจากที่ปรากฏในตำนานแล้ว นาคในงานศิลปะในประติมากรรมไทยและลาว มักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ เช่นที่พบในการสร้าง นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได, นาคลำยอง ซึ่งเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง, นาคเบือน, นาคจำลอง และนาคทันต์ หรือคันทวยรูปพญานาค และแม้แต่ในโขนเรือ (หัวเรือ) ของเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในขบวนเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นต้น
และในวันนี้จะพาไปตามรอยความเชื่อแห่งความศรัทธาต่อตำนานพญานาค ที่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและมีความศักดิ์สิทธิ์ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้เพื่อเสริมมงคลให้กับชีวิต 3 แห่ง คือ
คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี
“คำชะโนด” สถานที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียง เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคและเป็นทางเชื่อมต่อเมืองบาดาล ปกครองรักษาโดย “พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ” และ “องค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี” และปกคลุมด้วยผืนป่าคำชะโนดขนาดใหญ่อยู่ทั่วบริเวณ มี “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ชาวบ้านมักจะมาตักน้ำกลับไปสักการะ เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลกับชีวิต
ที่ตั้ง : วัดศิริสุทโธ (คำชะโนด) อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
พญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม
“องค์พญาศรีสัตตนาคราช” รูปปั้นพญานาคขดหาง มี 7 เศียร พ่นน้ำได้ หล่อด้วยทองเหลือง ขนาดความกว้างรวมหาง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร มีความสูงจากฐาน 16.29 เมตร เศียรพญานาคหันไปทางทิศเหนือ หางชี้ไปทางแม่น้ำโขง ทุกวันในเวลาพลบค่ำจะมีการเปิดไฟประดับรอบองค์พญาศรีสัตตนาคราช และบริเวณใกล้กันคือลานพนมนาคา เป็นลานคอนกรีตกว้างโล่งเหมาะกับการชมทัศนียภาพของแม่น้ำโขง
ที่ตั้ง : ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
ศาลปู่พญานาคราช จังหวัดมุกดาหาร
ศาลที่ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันเขต) สร้างเพื่อบวงสรวงองค์พญานาคในช่วงที่กำลังก่อสร้างสะพานแห่งนี้ โดยมีลักษณะเป็นรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่พันรอบเสา หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง อีกทั้งใกล้ ๆ กันยังเป็นรูปปั้น “ย่านาคน้อย” รวมไปถึงรูปปั้นพญานาคพ่นน้ำอีกด้วย ซึ่งผู้คนนิยมเดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลและขอให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
ที่ตั้ง : บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
3 สถานที่ตามรอยพญานาคที่แนะนำนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ความเชื่อเรื่อง พญานาค เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครที่ไปสักการบูชาแล้วสบายใจ ก็ลองไปตามรอยสักการะขอพรกันได้ แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายชีวิตจะเป็นไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งสิ้น
ที่มาข้อมูล:
https://th.wikipedia.org/
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2 October 2019). "ตำนานกำเนิด โขง-ชี-มูล-หนองหาน สายน้ำแห่งชีวิตของคนอีสาน". ศิลปวัฒนธรรม.https://so06.tci-thaijo.org/
ที่มาภาพ
https://www.tnews.co.th/variety/511279
https://esan108.com/
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด