Museum Core
พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้
Museum Core
12 มี.ค. 68 41
ประเทศจีน

ผู้เขียน : ณัฐวดี เจนสิริผล

               หลังจากการประกาศยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคน แน่นอนว่าหนึ่งในเมืองเป้าหมายหลักของการเดินทางสู่แดนมังกรมักหนีไม่พ้น “เซี่ยงไฮ้” (Shanghai; 上海)  อนึ่ง หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเซี่ยงไฮ้ หลายคนมักนึกถึงตึกระฟ้าอันทันสมัย ร้านค้า คาเฟ่ หรือสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแถวเดอะบันด์ (The Bund; 外滩) หอไข่มุกตะวันออก (The Oriental Pearl Tower; 东方明珠) หรือร้านอาร์ตทอยสุดฮิตอย่างป็อบมาร์ท (Popmart)

               ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองนี้ จึงอยากแชร์ประสบการณ์การไปเยี่ยมชม “แหล่งท่องเที่ยวกระแสรอง” ไว้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะคนชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือมิวเซียมโกเออร์ (museumgoer) สถานที่แห่งนี้คือ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Museum; 上海博物馆) ตั้งอยู่ที่จัตุรัสประชาชน (People’s Square; 人民广场) สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมายังสถานี People’s Square ทางออก 1 หรือสถานี Dashijie (大世界) ทางออก 4 และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใดอีกด้วย

               หากใครกังวลว่าไม่รู้ภาษาจีนเลยจะสามารถไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้ไหม ผู้เขียนขอให้ข้อมูลยืนยันว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ (นับเป็นสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุด) นอกจากนี้แต่ละห้องจัดแสดงจะมีแผ่นพับ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น วางแจกไว้ให้ข้อมูลทางวิชาการประจำห้องนั้น ๆ ด้วย

 

ภาพที่ 1: แผ่นพับ 3 ภาษา (ซ้าย) และ ป้ายคำอธิบายในภาษาจีนและอังกฤษ (ขวา)

 

               สิ่งแรกที่ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้เห็นเป็นตัวอาคารที่ถูกออกแบบให้ครึ่งล่างมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม และส่วนบนของอาคารเป็นทรงกลม มีรูกลวงตรงกลาง ซึ่งการก่อสร้างให้มีรูปลักษณ์เช่นนี้ นอกจากสะท้อนถึงความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาในปรัชญาจีนที่ว่าด้วย “ท้องฟ้าคือทรงกลม และโลกคือสี่เหลี่ยม” (Tian Yuan Di Fang; 天圆地方) ยังเป็นรูปทรงอาคารที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรม และวัตถุโบราณในวัฒนธรรมจีนอย่างหยกฉง (Cong; 琮) จากวัฒนธรรมโบราณเหลียงจู่ 3,300–2,300 ปีก่อนคริสตกาล (Liangzhu Culture; 良渚文化)

 

ภาพที่ 2: รูปแบบภายนอกอาคารของพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้

 

ภาพที่ 3: หยกฉง จากวัฒนธรรมเหลียงจู่ (良渚玉琮王)

ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Jade_Cong_King,_2018-06-09_01.jpg

 

               ภายในพิพิธภัณฑ์มีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงถาวรจำนวน 4 ห้องที่จัดแสดงเครื่องเรือนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง (Chinese Ming and Qing Furniture Gallery) และห้องจัดแสดงวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย (Chinese Minority Nationalities' Art Gallery) ตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 ของพิพิธภัณฑ์ ขณะที่ห้องจัดแสดงอักษรจีน (Chinese Calligraphy Gallery) และห้องจัดแสดงภาพจิตรกรรมจีน (Chinese Painting Gallery) ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ถัดมาเป็นร้านคาเฟ่บริการขนมและเครื่องดื่มที่ชั้น 2 และสุดท้ายใครอยากหาซื้อของฝากของที่ระลึกก็สามารถแวะไปที่ร้านค้าอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 1

 

ภาพที่ 4: ภายในห้องจัดแสดงถาวรบริเวณชั้น 4 และ 3

 

ภาพที่ 5: ร้านคาเฟ่ (ซ้ายบน) ร้านสินค้าที่ระลึก (ซ้ายล่าง) และโถงกลางภายในอาคาร (ขวา)

 

               ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พิพิธภัณฑ์จึงมีโครงการก่อสร้างอาคารจัดแสดงเพิ่มเติมในเขตต่าง ๆ ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะมาเยี่ยมชมตรวจสอบข้อมูลและจองเวลาเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถจองได้ไม่ยากผ่านเว็บไซต์ www.shanghaimuseum.net (และแน่นอนว่ามีให้บริการในภาษาอังกฤษ) หรือหากใครถนัดภาษาจีน ก็สามารถจองผ่านช่องทาง Mini APP ของพิพิธภัณฑ์บนแอพลิเคชั่น WeChat โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า 上博参观 แล้วเลือกตามขั้นตอนในภาพที่ 6 ได้เลย

 

ภาพที่ 6: ขั้นตอนการจองคิวเข้าชมพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ผ่าน WeChat

 

               แม้ว่างานศิลปะโบราณวัตถุ และวัตถุทางวัฒนธรรมของจีนจำนวนหนึ่งถูกทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution ระหว่างปีค.ศ.1966-1976) โดยพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้รวบรวมศิลปวัตถุ
ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มานำเสนอผ่านการจัดแสดงที่ทำออกมาได้เป็นอย่างดี โดยวัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่จัดแสดงหมวดหมู่ตามประวัติศาสตร์แบบราชวงศ์ เช่น ภาพวาดสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) เครื่องเรือนสมัย
ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) หรือภาพอักษรในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) เป็นต้น จากมุมมองของ
ผู้เขียนที่ได้เข้าเยี่ยมชมเห็นว่าการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้พยายามสอดแทรกมุมมองการตีความแนวคิด “ความเป็นจีน” (Chineseness) ถ่ายทอดผ่านวัตถุด้านศิลปะวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาและสืบทอดอย่างต่อเนื่องท่ามกลางประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน อีกทั้งยังพยายามสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจีนบนพื้นฐานความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งเห็นได้ชัดในห้องจัดแสดงวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย (Chinese Minority Nationalities' Art Gallery)

               สุดท้าย หากใครอยากเรียนรู้และเข้าใจอัตลักษณ์ของผู้คน ณ ที่ต่าง ๆ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศว่า เขาเหล่านั้นคือใคร มีมุมมองถึงตนเองอย่างไร และต้องการนำเสนอตัวตนออกมาในรูปแบบใด ผู้เขียนขอเสนอให้ลองไปเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์ในที่แห่งนั้น อาจพบคำตอบและเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง และการเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็อาจไม่ใช่แค่กิจกรรมยามว่าง หรือไปเพื่อเช็คอินเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

 

ปล. ระวังความสับสนระหว่างพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Museum; 上海博物馆) กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองเซี่ยงไฮ้ Shanghai History Museum (上海市历史博物馆) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านจัตุรัสประชาชนเช่นเดียวกัน โดยพิพิธภัณฑ์แห่งหลังเน้นการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองเซี่ยงไฮ้ในบริบทของประวัติศาสตร์จีนกระแสหลัก และบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสำคัญ

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

 

Fan Wenlan. Zhongguo tongshi jianbian (中国通史简编) [A General History of China]. Beijing: Beijing United Publishing Company, 2020.

Zhaoguang, Ge. What Is China?: Territory, Ethnicity, Culture, and History. Translated by Michael Gibbs Hill. Harvard University Press, 2018. https://doi.org/10.2307/j.ctv2867nr

Zhongshu, Zhao. “Round sky and square earth (Tian Yuan Di Fang): ancient Chinese geographical thought and its influence”. GeoJournal 26, (1992): 149–152. https://doi.org/10.1007/BF00241209

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ