ตลอดระยะเวลากว่า 63 ปี ของสมัยวิกตอเรียน (Victorian Era) เป็นช่วงระเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นมากมายในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งในอังกฤษและดินแดนต่าง ๆ ที่จักรวรรดิอังกฤษแผ่แสนยานุภาพไปถึง คุณลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งที่รับรู้กันโดยทั่วไปของยุคสมัยวิกตอเรียน คือ การยึดมั่นในหลักศีลธรรมจรรยาอย่างเคร่งครัด การประพฤติปฏิบัติตนของผู้คนในสังคมโดยทั่วไป ก็มีมาตรวัดทางศีลธรรมเป็นตัวกำกับให้ประพฤติตนตามบทบาทหน้าที่ตามสถานะและเพศสภาพของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยชนชั้นกลาง จัดได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้หลักศีลธรรมแบบวิกตอเรียเป็นที่แพร่หลายและได้รับการสมาทานให้เป็นค่านิยมอันถูกต้องเหมาะสมที่คนทุกชนชั้น ไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นสูงและชนชั้นล่างต้องประพฤติปฏิบัติตนตามค่านิยมนี้ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ชนชั้นกลางสมัยวิกตอเรียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ สถาบันครอบครัว โดยมองว่าครอบครัวเป็นพื้นที่ส่วนตัวภายในครัวเรือน (private sphere) แยกขาดจากพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ที่หมายถึงพื้นที่ภายนอกบ้าน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในครอบครัวจึงถูกยกให้เป็นบรรทัดฐานและมีคุณค่าเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของผู้คนในสังคม สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจำเป็นต้องประพฤติตนให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่อันสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกำหนด
ทั้งนี้ สมาชิกครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในฐานะผู้จัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้บ้านเรือนเป็นสวรรค์ อยู่อย่างสุขสบาย ทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยให้สมาชิกรุ่นต่อไปเป็นคนดีมีศีลธรรมและคุณธรรมที่ดีงาม ย่อมเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก “แม่” ที่ต้องพยายามดูแลบ้านเรือน อบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปตามความคาดหวังทางสังคมอย่างสุดความสามารถ ด้วยเหตุนี้การเป็น “แม่บ้าน” ที่สมบูรณ์แบบจำเป็นต้องมีตัวช่วยอย่างหนังสือว่าด้วยการจัดการครัวเรือน (household management) เพื่อแนะแนวทางให้เหล่าแม่บ้านทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วไปในหมู่แม่บ้านสมัยวิกตอเรียน และบุคคลสำคัญผู้ที่ทำให้การจัดการครัวเรือนเป็นสิ่งจำเป็นและต้องมี “คู่มือ” ที่ถูกต้องเหมาะสมก็คือ อิซาเบลลา บีตัน (Isabella Beeton) หรือรู้จักกันในนาม “มิสซิสบีตัน” (Mrs. Beeton) นั่นเอง
ภาพที่ 1: อิซาเบลา บีตัน ถ่ายใน ค.ศ. 1857
แหล่งที่มาภาพ: Isabella Beeton (Mrs Beeton), National Portrait Gallery, London, accessed July 23, 2024, https://www.npg.org.uk/collections/search/portrait/mw00476/Isabella-Beeton-Mrs-Beeton?LinkID=mp00351&role=sit&rNo=1
อิซาเบลลา แมรี เมย์สัน (สกุลเดิมก่อนสมรส) เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1836 ที่กรุงลอนดอน เธอเป็นบุตรสาวคนโตจากทั้งหมดสี่คน เมื่ออายุได้สี่ขวบบิดาได้เสียชีวิตลงทำให้ครอบครัวขาดเสาหลัก เอลิซาเบธ เมย์สัน ผู้เป็นมารดาจึงส่งเธอกับน้องสาวไปอาศัยอยู่กับปู่ หลังจากนั้นไม่กี่ปีมารดาก็แต่งงานใหม่กับเฮนรี ดอร์ลิง (Henry Dorling) เสมียนประจำสนามแข่งม้า ผู้เป็นพ่อหม้ายลูกติดมาแล้วสี่คน ต่อมาทั้งคู่มีลูกด้วยกันอีกสิบสามคนกลายเป็นครอบครัวใหญ่ อิซาเบลลามีพี่น้องรวมทั้งหมดเป็นยี่สิบเอ็ดคน ในฐานะบุตรสาวคนโตอิซาเบลลาจึงแบกรับภาระหน้าที่สำคัญในการเลี้ยงดูน้อง ๆ และจัดการดูแลบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จนกลายเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญและแบ่งปันแก่ผู้อื่นในเวลาต่อมา
หลังจากจบการศึกษาจากเยอรมนีที่สอนให้อิซาเบลลาได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการเป็นแม่บ้านแม่เรือนแล้ว ใน ค.ศ. 1855 เธอแต่งงานกับซามูเอล ออร์ชาร์ต บีตัน (Samuel Orchart Beeton) ผู้มีชื่อเสียงจากการตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin) ของแฮร์เรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) จนแพร่หลายไปทั่วอังกฤษ ซามูเอลเป็นผู้เชื่อมั่นในสิทธิความเสมอภาคกันระหว่างบุรุษและสตรี เขาไม่รีรอที่จะสนับสนุนให้ภรรยาผลิตงานเขียนให้แก่ The Englishwoman's Domestic Magazine นิตยสารรายเดือนสำหรับสุภาพสตรีซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1852 ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่บุกเบิกให้กับนิตยสารสำหรับสุภาพสตรีชนชั้นกลางฉบับอื่น ๆ ที่ตามมาในภายหลัง และสอดรับกับบทบาทหน้าที่ของสตรีชนชั้นกลางในฐานะแม่บ้านผู้ดูแลครัวเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามความคาดหวังของสังคมในช่วงเวลานั้น
ภาพที่ 2: ซามูเอล ออร์ชาร์ต บีตัน สามีของอิซาเบลลา บีตัน
แหล่งที่มาภาพ: Samuel Orchart Beeton, National Portrait Gallery, London, accessed July 23, 2024, https://www.npg.org.uk/collections/search/portrait/mw40886/Samuel-Orchart-Beeton?LinkID=mp56003&role=sit&rNo=0
ในนิตยสารฉบับดังกล่าว อิซาเบลลาเริ่มต้นบทบาทจากการเป็นนักแปลจากภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสเพื่อเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ก่อนขยับไปสู่ตำแหน่งบรรณาธิการและนักเขียนบทความเกี่ยวกับสูตรอาหารและจัดการครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ เธอทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานแก่นิตยสารอย่างแข็งขันเพื่อทดแทนความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียลูกชายสองคนแรกในวัยทารก นอกจากนี้อิซาเบลลายังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันทำให้รูปแบบนิตยสารมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นหลังจากการเดินทางไปปารีสใน ค.ศ. 1860 โดยการปรับรูปโฉมใหม่ทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหาที่มุ่งเน้นเกาะติดกระแสความนิยมด้านแฟชั่นจากปารีส พร้อมกับคำแนะนำที่มีประโยชน์
ภาพที่ 3: หน้าปกของ Mrs. Beeton's Book of Household Management ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1861
แหล่งที่มาภาพ: Mrs. Beeton's Book of Household Management, Wikipedia, accessed July 23, 2024, https://en.wikipedia.org/wiki/Mrs._Beeton%27s_Book_of_Household_Management
อย่างไรก็ตาม ผลงานที่สร้างชื่อเสียงทำให้นามของ “มิสซิสบีตัน” เป็นที่รู้จักกันไปทั่วเป็นหนังสือชื่อว่า การจัดการครัวเรือนของมิสซิสบีตัน (Mrs. Beeton's Book of Household Management) ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1861 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อเขียนต่าง ๆ มาตีพิมพ์ในฐานะตำราการจัดการครัวเรือนฉบับสมบูรณ์ด้วยความหนากว่า 1,000 หน้า ประกอบไปด้วยสูตรอาหารมากกว่า 200 สูตร รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวด้านต่าง ๆ สำหรับสตรีชนชั้นกลางในการจัดการครัวเรือนอย่างประสิทธิภาพ
ตามมุมมองของอิซาเบลลา การที่แม่บ้านรู้จักวิธีจัดการบริหารครัวเรือนของตนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะบ้านเรือนที่เป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่สุขสบาย ย่อมทำให้สามีอยากกลับบ้านทันทีหลังเลิกงาน ไม่ไปเตร็ดเตร่หาความสำราญส่วนตัวจากคลับ โรงแรม หรือภัตตาคารต่าง ๆ เหล่าแม่บ้านจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งทฤษฎี และลงมือปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลลัพธ์ที่รับประกันความมีศีลธรรมของครอบครัวและทำให้บ้านเป็นสถานที่น่าอยู่ ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายความมีระเบียบเรียบร้อย สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงจากโภชนาการที่มีประโยชน์ และมีสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันครอบครัวอีกด้วย ในฐานะหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม เมื่อสมาชิกของครอบครัวมีสุขภาพกายสมบูรณ์ และสุขภาพจิตดีก็พร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป
แม้ว่าหนังสือการจัดการครัวเรือนของมิสซิสบีตันจะประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้อิซาเบลลา บีตันโด่งดังในฐานะแม่บ้านตัวอย่างสมัยวิกตอเรียน และเป็นต้นแบบของการเขียนตำราอาหารและคู่มือการจัดการครัวเรือนในสมัยต่อมา ทว่าผลงานของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าลอกเลียนสูตรอาหารของผู้อื่น หรือใช้สูตรอาหารที่ผู้อ่านส่งมาให้ ไม่ได้เป็นสูตรอาหารที่เธอลงมือปรุงเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิซาเบลลา บีตัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักเขียนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น หากยังเป็นภาพแทนของแม่บ้านชนชั้นกลางสมัยวิกตอเรียน ผู้ทำให้การจัดการครัวเรือนเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อสังคมไม่แพ้อาชีพการงานอื่น ๆ และสมญา “มิสซิสบีตัน” ยังคงเป็นบุคคลที่เป็นตัวแทนของสมัยวิกตอเรียน เทียบเคียงได้กับบุคคลสำคัญแห่งยุคสมัยอย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Vitoria) ชาร์ลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) ฟลอเรนซ์ ไนท์ติงเกล (Florence Nightingale) และออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นต้น น่าเสียดายที่อิซาเบลลามีเวลาชื่นชมผลงานของตนเองได้เพียงไม่นาน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865 เธอเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการคลอดบุตรคนที่สี่ ในวัยเพียง 28 ปี เท่านั้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Beeton, Isabella. Beeton’s Book of Household Management. London: S.O Beeton, 1861
British Academy. Oxford Dictionary of National Biography: Barney-Bellasis. Oxford: Oxford University Press. 2004.
Nelson, Claudia. Family Ties in Victorian England. Westport, CT: Praeger Publishers, 2007.
Hughes, Kathryn. The Short Life and Long Times of Mrs. Beeton. London: HarperCollins Publishers, 2006.
Encyclopedia of World Biography. "Beeton, Isabella Mary." Encyclopedia (November 19, 2009). https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/beeton-isabella-mary.