Museum Core
รำลึกโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
Museum Core
28 ก.พ. 68 373
ประเทศไทย

ผู้เขียน : ชญานิศ เอี่ยมระหงษ์

               ในโลกธุรกิจและวงการอุตสาหกรรมไทย สิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ทุกอย่างก้าวไปข้างหน้าอย่างปฏิเสธไม่ได้เป็นแรงงานจากมนุษย์ที่เปรียบได้กับฟันเฟือง ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักร อย่างไรก็ดี เหล่าผู้ใช้แรงงานที่แม้ว่าจะทำงานด้วยความเหนื่อยยาก มีเพียงความคาดหวังให้นายจ้างเอื้ออำนวยความสะดวก และประโยชน์ตอบแทนตามสิทธิที่พึงได้รับ นั่นคือ สวัสดิการและการคุ้มครองจากนายจ้างเพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย สามารถทำงานได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพ ทว่าในหลายกรณี สิ่งธรรมดาสามัญนี้กลับไม่ได้รับการตระหนักใส่ใจ

               บริเวณใต้ทางด่วนพิเศษเฉลิมมหานครเป็นที่ตั้งของนิคมมักกะสัน มีพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยซ่อนตัวอยู่ หากมองดูเพียงภายนอกอาจไม่ทราบว่า สถานที่แห่งนี้จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย ด้วยมีแค่ป้ายขนาดเล็ก 2 ชิ้นติดไว้บนกระจกเท่านั้นจึงแทบไม่เป็นที่สังเกตเห็นของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปภายในแล้วจะพบกับนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของแรงงานไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงจัดแสดงจำลองเหตุการณ์สำคัญโดยเฉพาะเรื่องโศกนาฏกรรมหลายเรื่องในความทรงจำ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการถูกกดขี่ข่มเหงทำให้เสียใจและเสียน้ำตา หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

 

ภาพ 1 ป้ายพิพิธภัณฑ์และซากของเล่นเคอร์

 

               นิทรรศการที่โดดเด่นและน่าสนใจที่สุดของพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมเคเดอร์ (The Kader Tragedy) มีการจัดแสดงชิ้นส่วนของ “ตุ๊กตาและของเล่น” ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเขม่าดำ และเสื้อผ้าที่คาดว่าเป็น “เครื่องแบบ (Uniform)” ของพนักงานอยู่ด้วย ผู้ชมหลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่อาจมีความสงสัยว่า เคเดอร์คืออะไร? ทำไมจึงมีความสำคัญมากกับแรงงานไทย? ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่มีคนไม่รู้จักเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว แต่นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ของแรงงานไทยที่ไม่ควรลบเลือนไป

               เคเดอร์ เป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของบริษัทเคเดอร์ อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รับผลิตของเล่นและตุ๊กตาส่งออกไปทั่วโลก มีโรงงานตั้งอยู่ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในสมัยนั้นของเล่นน่าสนุกและตุ๊กตาน่ารักที่มีจำหน่ายทั่วไปนั้นล้วนผลิตมาจากเคเดอร์ทั้งสิ้น มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวและหารายได้เพื่อดูแลครอบครัวอยากเข้ามาทำงานที่โรงงานเคเดอร์ เพราะได้ค่าตอบแทนเงินเดือนสูง อีกทั้งบริษัทเปิดรับสมัครคนทำงานหลากหลายช่วงอายุ ทำให้มีพนักงานไทยจำนวนกว่าหนึ่งพันคน รวมถึงกลุ่มพวกวัยรุ่นที่มาทำงานเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ ทำให้มีพนักงานอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น

               ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ขณะที่พนักงานบริษัทเคเดอร์กำลังทำงานอย่างมุ่งมั่นท่ามกลางเครื่องจักรเพื่อเร่งผลิตของเล่นกับตุ๊กตาให้เสร็จทันตามออเดอร์ที่ได้รับมาก็มีเสียงลือว่าไฟไหม้โรงงาน ทว่าพนักงานทุกคนยังคงทำงานต่อและไม่มีท่าทีแตกตื่น เพราะว่าไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย หรืออาจเป็นเพราะเสียงของเครื่องจักรดังเกินไปก็ไม่ทราบได้ จนกระทั่งกลุ่มควันได้ลอยขึ้นมาถึงชั้น 3 – 4 ของอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนทำงานมากที่สุด กว่าทุกคนจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

               ทุกคนต่างรีบหาทางหนีเพื่อเอาตัวรอด ภายในอาคารคนจำนวนมากวิ่งกรูกันลงบันไดที่มีความกว้างแค่ 1.60 เมตรเท่านั้น ทำให้การอพยพหนีเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยความแออัดยัดเยียดเสี่ยงกับการโดนเหยียบโดนทับกันตาย พนักงานบางส่วนจึงเลือกหนีไฟด้วยการกลับขึ้นไปด้านบนของอาคาร หรือปีนออกนอกหน้าต่างเพื่อหนีไฟที่กำลังลุกลามมาถึงตัว ในท้ายที่สุดเมื่อไม่มีทางเลือกในการหนีแล้ว พนักงานหลายคนตัดสินใจกระโดดลงมาจากชั้น 2, 3 และ 4

               พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงโมเดลอาคารโรงงานเพื่อจำลองฉากเหตุการณ์วินาทีชีวิตนี้ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดมากขึ้น ด้านนอกอาคารมองเห็นภาพหุ่นรูปคนทำท่าปีนออกมาจากหน้าต่างโรงงานเพื่อกระโดดลงพื้นเบื้องล่าง ร่างของคนงานตกลงมาคนแล้วคนเล่าเหมือนใบไม้ร่วง บางคนโชคดีก็แค่บาดเจ็บ บางคนโชคร้ายเสียชีวิต

               อีกด้านหนึ่ง พนักงานบางส่วนได้เลือกหนีเอาตัวรอดด้วยการวิ่งไปยังประตูที่เชื่อมต่อกับอาคารโรงงานทั้ง 4 หลัง ทว่าประตูเหล่านั้นกลับถูกล็อกปิดตายด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันพนักงานขโมยสินค้าจากโรงงาน จึงเป็นเหตุทำให้พนักงานหลายชีวิตหมดหนทางหนีและไม่มีโอกาสรอดชีวิตอย่างสิ้นเชิงจากเหตุไฟไหม้ที่เลวร้ายที่สุดนี้ อาคารโรงงาน 3 หลังถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงได้ถล่มลงมาทับพนักงานทั้งหมดที่ยังติดอยู่ในอาคาร แม้ว่าด้านนอกอาคารมีรถดับเพลิงหลายคันช่วยฉีดน้ำเพื่อดับไฟไม่ให้ลุกลาม

 

ภาพที่ 2 ซากของเล่นและภาพจำลองคนงานปีนตึก

 

               หลังเพลิงสงบลงเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าช่วยเหลือและกู้ซากปรักหักพังพบว่าใต้ซากนั้นเต็มไปด้วยร่างของผู้เสียชีวิตที่ล้วนเป็นพนักงานของโรงงานทั้งสิ้น จากการตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมดได้ข้อสรุปว่าต้นเพลิงมาจากชั้น 1 อาคาร 1 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดเก็บวัสดุจำพวกเส้นใยสังเคราะห์ เศษผ้า พลาสติก โดยสันนิษฐานว่ามีพนักงานบางคนแอบสูบบุหรี่แล้ว ทำให้เกิดสะเก็ดไฟไปโดนวัสดุเหล่านั้นแล้วเกิดลุกลามกลายเป็นไฟไหม้ใหญ่ นอกจากนี้ ประตูเข้าออกรวมถึงประตูเชื่อมไปยังอาคารอื่นถูกล็อกทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่อาคารปิดตาย โครงสร้างของอาคารโรงานถูกสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูปที่ไม่ทนไฟ เกิดหลอมละลายและพังถล่มลงมาในที่สุด อีกทั้งโรงงานแห่งนี้ไม่เคยมีการซ้อมหนีไฟ และระบบสปริงเกอร์พ่นน้ำก็ใช้ไม่ได้ (บางแหล่งข่าวระบุว่าไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย) ตลอดจนประตูฉุกเฉินแคบกว่าที่มาตรฐานกำหนด โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงเกิดจากความประมาท ไร้ความรับผิดชอบและมักง่ายของนายทุนที่ไม่นึกถึงความปลอดภัยของพนักงานแม้แต่น้อย  

               ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สยองนี้มีจำนวนมากถึง 188 ราย และบาดเจ็บประมาณ 500 ราย นับเป็นอุบัติเหตุไฟไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ร้ายแรงที่สุดในไทย และเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ผู้บาดเจ็บต้องสูญเสียโอกาสหลายอย่างเพราะต้องรักษาตัวหรือพิการ ขณะที่หลายครอบครัวต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักและกระทบกระเทือนจิตใจรุนแรงที่ไม่อาจเยียวยาได้จากเงินค่าทำขวัญ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองแรงงานไทยเพิ่มขึ้นทั้งด้านสวัสดิการ ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2540 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกฯ ชวน หลีกภัย จึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมเคเดอร์

 

ภาพที่ 3 การเรียกร้องลาคลอด แรงงานไรเดอร์ และแรงงานเด็ก

 

               นอกจากเรื่องโศกนาฏกรรมเคเดอร์แล้ว พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังจัดแสดงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการลาคลอด 90 วัน การปราบปรามแรงงานเด็ก ขบวนการต่อสู้ทางการเมือง เช่น วันฆ่านกพิราบเดือนตุลา พฤษภาทมิฬ รวมถึงการคุ้มครองแรงงานสมัยใหม่ เช่น ไรเดอร์ขนส่งอาหารและผู้โดยสารตามแอปพลิเคชันต่าง ๆ และฟรีแลนซ์ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการเรียกร้องต่อไปเพื่อสวัสดิภาพของแรงงานทุกคน

               แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก สภาพค่อนข้างเก่า และอากาศค่อนข้างร้อน แต่เนื้อหาของนิทรรศการที่อธิบายและให้รายละเอียดเกี่ยวกับแรงงานไทยได้ดีมาก ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจได้ไปเยี่ยมเยือน เพราะเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่สำคัญในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่มีแรงงานที่มีบทบาทและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ