ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1597 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) มีคำสั่งให้ตรึงกางเขนคณะมิชชันนารีและชาวคริสต์จำนวน 26 คนที่เมืองนางาซากิ และต่อมาทั้ง 26 คนนี้ได้รับการจดจำในฐานะ “มรณสักขีทั้ง 26 แห่งญี่ปุ่น” (the 26 Martyrs of Japan)
ก่อนการประหารมรณสักขีทั้ง 26 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิมีความไม่ไว้วางใจต่อคณะมิชชันนารีชาวตะวันตกอยู่เป็นทุนเดิม เขามีคำสั่งขับไล่คริสตศาสนิกชนและคณะมิชชันนารีออกจากประเทศญี่ปุ่นมาแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1587 ทว่าคำสั่งนี้ไม่เป็นผลมากนัก คณะมิชชันนารีคาธอลิกยังคงทำงานเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นต่อไป จนกระทั่ง ‘โดมิโน’ ตัวหนึ่งล้มลง และทำลายความไว้วางใจของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิต่อคณะมิชชันนารีชาวตะวันตกอย่างสิ้นเชิงและนำไปสู่การตรึงกางเขนมรณสักขีทั้ง 26 คนในที่สุด
โดมิโน่ตัวนั้นมีชื่อว่า “ซาน เฟลิเป” (San Felipe) เรือขนสินค้าของสเปนที่บรรทุกสินค้ามูลค่ากว่าหนึ่งล้านเปโซจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปยังเมืองอากาปุลโก (Acapulco) ประเทศเม็กซิโก เรือซาน เฟลิเปมาเกยตื้นบริเวณชายฝั่งของแคว้นโทสะ บนเกาะชิโกกุ ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1596 เรือลำนี้พร้อมกับสมบัติมูลค่ากว่าหนึ่งล้านเปโซที่ขนมาได้กลายเป็นชนวนนำไปสู่วิบากกรรมของชาวคริสต์ในญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ภาพที่ 1 ภาพเรือสินค้าของชาวโปรตุเกส
แหล่งที่มาภาพ: Kano, Naizen. Screen paintings of Nanban traders. (n.d.). [Online]. Accessed 2024 Jul. 13. Available from: https://www.kobecitymuseum.jp/collection/detail?heritage=365028
คริสตศาสนาในญี่ปุ่นและการ ‘หยุมหัว’ ระหว่างสองมหาอำนาจแห่งคาบสมุทรไอบีเรีย
ก่อนกล่าวถึงเรื่องราวของซาน เฟลิเป อาจต้องกล่าวถึงยุคสมัยที่เป็นฉากหลังของเรื่องนี้เสียก่อน
ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 – 17 โลกเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการสำรวจ มหาอำนาจทางทะเลหลายแห่งออกเดินทางเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ หาเส้นทางเดินทะเลสู่เอเชีย และออกล่าดินแดนอาณานิคม สเปนและโปรตุเกสเป็นสองชาติจากยุโรปที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงต้นของยุคสมัยนี้ โดยวัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือจากยุโรปสู่เอเชียในปี ค.ศ. 1498 ขณะที่เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) เดินทางมาถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1521 ภายใต้การสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งสเปน (Charles I of Spain) ทำให้ทั้งสองชาติกลายเป็นสองมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในดินแดนเอเชีย และเป็นตัวละครสำคัญในวิบากกรรมของซาน เฟลิเป
ในปี ค.ศ. 1546 คณะเยซูอิต (Society of Jesus) นำโดยนักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ (St. Francis Xavier) เดินทางมาถึงเกาะคาโกชิมะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาวคริสต์เดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่น โดยคณะเยซูอิตได้รับมอบหมายจากพระสันตะปาปาพอลที่ 3 ให้มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ยังอาณานิคมของโปรตุเกส หลังพระเจ้าฌูเอาที่ 3 (João III) แห่งโปรตุเกสได้ยื่นเรื่องไปยังพระสันตาปาปาในปีค.ศ. 1540 ทำให้คณะเยซูอิตมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์และชนชั้นปกครองของโปรตุเกสอย่างเหนียวแน่น
เมื่อมาถึงญี่ปุ่น คณะนักบวชเยซูอิตอาศัยการผูกสัมพันธ์กับบรรดาไดเมียวและชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นในการเผยแผ่ศาสนา อีกทั้งยังเป็นตัวกลางให้กับชาวญี่ปุ่นทำการค้าขายกับพ่อค้าโปรตุเกสจากมาเก๊า จนในปี ค.ศ. 1563 โอมุระ ซึมิทาดะ (Ōmura Sumitada) หนึ่งในไดเมียวที่มีอิทธิพลในภูมิภาคคิวชูเข้ารับศีลล้างบาปและเข้ารีตเป็นคริสตศาสนิกชน พร้อมด้วยซามูไรและชาวบ้านใต้อาณัติของเขา
คณะเยซูอิตประสบความสำเร็จในการผูกขาดการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น จนกระทั่งการมาถึงของคณะฟรานซิสกัน (Franciscan Order) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์สเปนเดินทางมาถึงญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1593 นักบวชคณะฟรานซิสกันซึ่งถือสถานะผู้แทนของสเปนจากมะนิลาในขณะนั้น เดินทางมาถึงญี่ปุ่นและได้เข้า ‘ฝากเนื้อฝากตัว’ กับโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ก่อนเริ่มลงหลักปักฐานและเผยแพร่นิกายของพวกตนในญี่ปุ่นในเวลาต่อมา และเหตุนี้เองที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับคณะเยซูอิต ด้วยทั้งสองประเทศมหาอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่ศาสนาต่างเป็นคู่แข่งในการหาผลประโยชน์จากการค้าทางทะเล อีกทั้งมีความเชื่อและแนวทางการเผยแพร่ศาสนาที่แตกต่างกัน โดยคณะเยซูอิตมีความกังวลว่าความเชื่อที่แตกต่างของนิกายฟรานซิสกันจะทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความสับสน
นอกจากนี้ คณะเยซูอิตที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นนานกว่าไม่เห็นด้วยกับคณะฟรานซิสกันที่เริ่มเผยแพร่ศาสนาอย่างโจ่งแจ้ง มีการประกอบพิธีมิสซาและศาสนพิธีอื่นๆ อย่างเปิดเผย ทำให้คณะเยซูอิตที่เคยเผชิญกับความคลางแคลงใจของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิต่อศาสนาคริสต์ เกิดความกังวลว่าการเผยแพร่ศาสนาอย่างโจ่งแจ้งของคณะฟรานซิสกันจะทำให้โทโยโทมิ ฮิเดโยชิไม่พอใจ ทว่าเมื่อทักท้วงไปแล้ว คณะฟรานซิสกันกลับยืนกรานว่าพวกตนได้รับอนุญาตจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิในการเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นได้อย่างอิสระ
การมาถึงของซาน เฟลิเป และวิบากกรมของชาวคริสต์ในญี่ปุ่น
เรือซาน เฟลิเปเป็นหนึ่งในเรือใบหลายเสาธงขนาดใหญ่ (Spanish Galleon) ที่นิยมใช้สำหรับการค้าและสงครามตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 1596 เรือซาน เฟลิเป ในกองเรือมะนิลาบรรทุกสินค้ามูลค่ากว่าหนึ่งล้านเปโซจากอาณานิคมสเปนบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปยังเม็กซิโก แต่น่าเสียดายว่าการออกเดินทางที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้เรือเจอฤดูมรสุมในมหาสมุทรแปซิฟิคเข้าพอดี
เรือถูกไต้ฝุ่นซัดออกนอกเส้นทางจนถึงบริเวณชายฝั่งของแคว้นโทสะ (ปัจจุบันคือจังหวัดโคจิ) บนเกาะชิโกกุในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1596 ลูกเรือเสนอให้กัปตันนำเรือเข้าฝั่งที่เมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนาของชาวตะวันตกในญี่ปุ่น แต่กัปตันเรือปฏิเสธ ด้วยคาดหวังว่าจะได้รับการต้อนรับเช่นเดียวกับที่นักบวชคณะฟรานซิสกันเคยได้รับจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ
ภาพที่ 2 เส้นทางเดินเรือของซาน เฟลิเปที่โดนพายุพัดออกนอกเส้นทางมายังชายฝั่งแคว้นโทสะ
แหล่งที่มาภาพ: Historia Japonesa. Route of San Felipe Galleon. (2015). [Online]. Accessed 2024 Jul. 13. Available from: https://i0.wp.com/www.historiajaponesa.com/wp-content/uploads/mapa_japfil-1.jpg?w=600&ssl=1
ทว่าการณ์ไม่เป็นดังที่คาดไว้ โดยโจโซคาเบะ โมโตจิกะ (Chōsokabe Motochika) ไดเมียวแห่งแคว้นโทสะ บังคับให้เรือซาน เฟลิเปเข้าฝั่งที่เมืองอุราโดะ (Urado) และยึดทรัพย์สินบนเรือไปเกือบหมด ทำให้ลูกเรือชาวสเปนต้องส่งคณะเจรจาไปขอพบโทโยโทมิ ฮิเดโยชิที่เกียวโตเพื่อให้แทรกแซง และนำทรัพย์สินของสเปนกลับคืนมา โดยกัปตันเรือมีคำสั่งให้คณะเจรจาไปพบกับคณะมิชชันนารีฟรานซิสกันในเกียวโต และไปขอความช่วยเหลือจากมาชิตะ นากาโมริ (Mashita Nagamori) หนึ่งในห้าข้าหลวงของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และสหายของโจโซคาเบะ
โมโตจิกะ
ในขณะนั้น คณะมิชชันนารีเยซูอิตของโปรตุเกสทราบเรื่องนี้จึงอาสาเป็นผู้แทนในการไกล่เกลี่ยให้ อีกทั้งยังเสนอให้ลูกเรือไปขอความช่วยเหลือจากมาเอดะ เก็นอิ (Maeda Geni) หนึ่งในห้าข้าหลวงอีกคนของโทโยโทมิ
ฮิเดโยชิ ผู้เป็นมิตรกับคณะมิชชันนารีชาวคริสต์มากกว่า แต่คณะมิชชันนารีฟรานซิสกันปฏิเสธข้อเสนอ และเดินหน้าขอความช่วยเหลือจากมาชิตะ นากาโมริ
ในการเจรจา ฟรานซิสโก เดอ โอลานเดีย (Francisco de Olandia) กัปตันของเรือได้หลุดปากเล่าให้
มาชิตะฟังเกี่ยวกับแสนยานุภาพและการแผ่ขยายดินแดนของจักรวรรดิสเปนผ่านคณะมิชชันนารีที่เผยแผ่คำสอนให้คนท้องถิ่นหันมาเข้ารีต จากนั้นจึงส่งบรรดากองกิสตาดอร์ (conquistador) เข้ามายึดครองดินแดนภายหลัง และแน่นอนว่ามาชิตะได้นำเรื่องนี้ไปบอกโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ
โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ มีความไม่ไว้วางใจต่อคณะมิชชันนารีเป็นทุนเดิมได้ออกคำสั่งจับกุมคณะมิชชันนารี
ฟรานซิสกันในญี่ปุ่นทันที พร้อมยึดทรัพย์สินจากเรือซาน เฟลิเปทั้งหมด การจับกุมนี้นำมาสู่การประหารมรณสักขีทั้ง 26 แห่งญี่ปุ่น ประกอบด้วยนักบวชคณะฟรานซิสกัน 6 คน ชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตกับคณะฟรานซิสกัน 17 คน และชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตกับคณะเยซูอิตอีก 3 คน (ซึ่งคาดว่าอาจถูกจับด้วยความเข้าใจผิด)
ภาพที่ 3 ภาพการประหารนักบุญพอล มิกิ และสหายในการประหาร
มรณสักขีทั้ง 26 แห่งญี่ปุ่นที่เมืองนางาซากิ
แหล่งที่มาภาพ: Painting of the martyrdom of Paul Miki and companions in Nagasaki. (circa 1635). [Online]. Accessed 2024 Jul. 13. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Martyrdom-of-Paul-Miki-and-Companions-in-Nagasaki-(made-c1635).png
การยึดทรัพย์สินจากเรือซาน เฟลิเป และการประหารชีวิตมรณสักขีทั้ง 26 นำไปสู่การโต้เถียงระหว่างสเปนและโปรตุเกส ทั้งคณะมิชชันนารีฟรานซิสกัน และคณะเยซูอิตต่างโทษกัน หาว่าใครเป็นสาเหตุให้เรื่องราวลุกลามบานปลายจนถึงเพียงนี้ ภายหลังการประหารมรณสักขีทั้ง 26 ทั้งฝ่ายฟรานซิสกันและฝ่ายเยซูอิตได้จัดตั้งเวทีไต่สวน สอบปากคำพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ของเรือซาน เฟลิเป ทั้งภายในญี่ปุ่นและดินแดนอาณานิคมแห่งอื่น อย่างมาเก๊าและฟิลิปปินส์
อาจนับเป็นความโชคดีของทั้งสองฝ่าย เมื่อโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้เสียชีวิตในปีค.ศ. 1598 และโทกุงาวะ
อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu) ขึ้นครองอำนาจในเวลาต่อมา ไม่ใคร่ใส่ใจกับการเผยแพร่ศาสนาของคณะมิชชันนารีชาวคริสต์ ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ทางการค้าและการติดต่อกับชาวตะวันตกที่คณะมิชชันนารีเหล่านี้นำมา ทำให้คณะมิชชันนารีทั้งฟรานซิสกันและเยซูอิตยังคงดำเนินการเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นต่อไป จนกระทั่งชาติอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนท์เริ่มเดินทางมาถึงตะวันออกไกล จึงกลายเป็นศัตรูใหม่ของโปรตุเกสและสเปนที่ผูกพันกับศาสนจักรคาธอลิก โดยความบาดหมางระหว่างคณะมิชชันนารีที่แทรกซึมในญี่ปุ่นได้นำไปสู่การขับไล่ชาวตะวันตก และการปิดตัวของประเทศญี่ปุ่นจากโลกภายนอกในปีค.ศ. 1635
แหล่งเอกสารอ้างอิง
Bellah, R. N. (1957). Tokugawa Religion: the values of pre-industrial Japan. Boston: Beacon Press.
Boxer, C. R. (1951). The Christian Century in Japan. Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
Chen, X. (2023). Squabbles between the Jesuits and the Franciscans: a historical review of policies of two Christian orders in Japan. Trans Form/Ação: Revista de Filosofia, 235-250.