ภาพปก : เรือตันหยงถัวหลาง (Tanjung Tualang Tin Dredge No.5)
เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 พิพิธภัณฑ์เรือขุดแร่ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีในชื่อ Tanjung Tualang Tin Dredge No.5 หรือ TT5 เพิ่งได้รับรางวัลมรดกทางวิศวกรรมดีเด่นของอังกฤษ จากสถาบันวิศวกรรมเครื่องกล (The Institution of Mechanical Engineers (IMechE)) ประจำปี 2023 เรือขุดแร่อายุ 85 ปีลำนี้ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่ผลิตสร้างโดยบริษัทผลิตเรือขุดแร่ในอังกฤษ
เรือ TT5 ลอยลำอยู่ในบ่อแร่เก่าที่เมืองตันหยงถัวหลาง (Tanjung Tualang) ตั้งอยู่ในเขตบาตูกาจาห์ (Batu Gajah) ของรัฐเปรัค (Perak) โดยกล่าวกันว่าชื่อเรือมีที่มาจากต้นถัวหลาง (Tualang ในไทยเรียกว่า ต้นยวน หรือยวนผึ้ง) ซึ่งเคยมีอยู่มากในบริเวณนั้น ต้นยวนเป็นไม้ใหญ่โตเร็ว ผู้เขียนจินตนาการว่าน่าจะเป็นต้นถั่วของแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์เพราะเป็นพืชตระกูลถั่วที่ใหญ่ที่สุด หากเข้าไปในป่าแล้วให้สังเกต ถ้าเห็นต้นไม้ที่สูงโดดขึ้นมาแต่มีกิ่งใบเฉพาะส่วนยอด ผิวลำต้นเรียบสีอ่อนๆ บางทีบนกิ่งก็มีรังผึ้งหลวงห้อยอยู่ก็คือต้นยวนนั่นเอง ต้นยวนชอบขึ้นในที่ลุ่มป่าดิบชื้นซึ่งอาจผูกโยงกับเรื่องแร่ดีบุกและเรือขุดแร่อยู่บ้างดังจะได้กล่าวต่อไป
การเข้ามาของเรือขุดแร่ดีบุกอาจเป็นหมุดหมายแห่งชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อกิจการเหมืองแร่ดีบุกในมาลายา นับตั้งแต่มีการค้นพบแหล่งแร่ดีบุกในลารุต (larut ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเปรัค) ในปี ค.ศ.1848 จนกระทั่งอังกฤษได้เข้ามาปกครองเปรัคในปี ค.ศ.1876 จึงค้นพบแหล่งแร่มหาศาลในหุบเขาคินตา (Kinta Valley ทางใต้ของเปรัค) กิจการเหมืองแร่เกือบทั้งหมดอยู่ในมือนักทำเหมืองชาวจีนที่ใช้วิธีทำเหมืองแบบเปิดหน้าดิน (open-pit mining) และเน้นการใช้แรงงานกุลีจำนวนมาก ซึ่งชาวอังกฤษไม่คุ้นเคยและมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง ทั้งยังไม่เป็นระบบและคนจำนวนมากมักก่อความวุ่นวาย เมื่อข้าหลวงอังกฤษที่ดูแลเปรัคเชื้อเชิญให้ชาวอังกฤษเข้ามาทำเหมืองจึงไม่ค่อยมีใครตอบรับ ยกเว้นบริษัทเหมืองฝรั่งเศสและออสเตรเลียที่เข้ามาลงทุน Société des Etains de Kinta (SEK หรือ Tin Society of Kinta) ของฝรั่งเศสสามารถปรับตัวเข้ากับวิธีขุดแร่และใช้แรงงานแบบจีนจึงสามารถทำเหมืองในเชิงอุตสาหกรรมได้ และเป็นบริษัทยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการอย่างยาวนานเกือบร้อยปี
ภาพที่ 1 : ภาพแสดงการทำงานของเรือขุด ในห้องนิทรรศการ
มีผู้วิเคราะห์ว่าช่วงแรกกลุ่มทุนตะวันตกเข้ามาแข่งขันในการทำเหมืองได้ยาก เพราะชาวจีนได้ยึดครองสัมปทานไปเกือบทั้งหมดและโก่งราคาสูงมากเมื่อซื้อต่อ ทั้งแรงงานเกือบทั้งหมดก็อยู่ในการคุ้มครองควบคุมของสมาคมลับชาวจีน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการผลิตและส่งออกดีบุกมาก อังกฤษก็ได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีอยู่แล้วจึงหันไปให้ความสำคัญกับการค้าขาย ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเช่นการปลูกยางพารา ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ สร้างสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย เช่น ก่อสร้างเส้นทางขนส่ง ผูกสัมพันธ์กับหัวหน้าชาวจีน รักษาความสงบ สร้างมาตรฐานด้านแรงงานและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น
ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1900-1920) แร่หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกขุดไปจนเกือบหมด หลังการทำเหมืองขุดไปลึกสัก 40 ฟุต ชาวจีนก็มักทิ้งไปหาแหล่งใหม่ที่ขุดหาแร่ได้ง่ายกว่า แม้พื้นที่เดิมยังมีแร่อยู่อีกก็ตาม แต่ไม่มีใครสนใจพื้นที่ที่ยากต่อการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินในพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ นักทำเหมืองชาวอังกฤษจึงสบโอกาสเข้ามาทำต่อโดยมีการทดลองนำเรือขุดมาใช้ในพื้นที่เหล่านี้
ในปีค.ศ. 1906 บริษัทเหมืองดีบุกโกเป็งของอังกฤษ (Gopeng Tin Mining Company) นำเรือขุดแร่แบบดูด (Suction-Dredge) มาใช้ที่เมืองตันจุง รัมบูตัน (Tanjung Rambutan อยู่ทางเหนือของเมืองอิโปห์ เมืองหลวงของรัฐเปรัค) แต่ความพยายามนี้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนในปีค.ศ. 1913 บริษัทเหมืองเรือขุดมาลายัน (Malayan Tin Dredging Company) นำเรือขุดแบบใช้กระพ้อ (Bucket-Dredge) มาใช้อย่างได้ผลดี ต่อมาบริษัทจากอังกฤษแห่งนี้เป็นเครือข่ายเหมืองเรือขุดที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นผู้ผลิตแร่ดีบุกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ภาพที่ 2 : กระพ้อเหล็กบนสายพานลำเลียง ภาพเล็กที่มุมบนซ้ายเป็นภาพถ่ายเก่าจากห้องนิทรรศการ
การใช้เรือขุดแร่ทำให้บริษัทจากตะวันตกกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากเดิมร้อยละ 20 กลายเป็นร้อยละ 65 ในเวลา 20 ปี เพราะเรือขุดแร่ลำหนึ่งเป็นเสมือนเหมืองเคลื่อนที่ที่ทำทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตแร่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องหยุดพักและใช้คนงานน้อยกว่ามาก เรือขุดขนาดเล็กมี 12 ถังขุดทำงานได้เท่ากับคนงาน 2,000 คน โดยใช้คนทำงานสามผลัด รวมกันไม่กี่สิบคนเท่านั้น แต่เรือมีราคาแพงมากจนเจ้าของเหมืองชาวจีนไม่อาจลงทุนได้ ขณะที่บริษัทอังกฤษสามารถทำได้เพราะมีระบบตลาดเงินตลาดทุนขนาดใหญ่ที่เอื้อให้สามารถระดมเงินและหาบริษัทร่วมทุน กำลังการผลิตของเรือขุดมีมากจนต้องจำกัดปริมาณการผลิตในปีค.ศ. 1929 เพื่อไม่ให้ดีบุกล้นตลาด
เรือ Tanjung Tualang Tin Dredge No.5 (TT5) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1938 ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนขึ้นในประเทศอังกฤษโดยบริษัทเอฟ ดับเบิลยู เพย์น และบุตร (F.W. Payne & Son) ซึ่งก่อตั้งโดยฟรานซิส วิลเลียม เพย์น (Francis William Payne) วิศวกรชาวอังกฤษที่เคยไปทำงานในเหมืองทองที่นิวซีแลนด์ ที่นั่นเขาได้ออกแบบและพัฒนาเรือขุดขนาดใหญ่ร่วมกับพี่ชายของเขา บริษัทได้ผลิตเรือขุดกว่า 50 ลำให้กับเหมืองในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย เรือถูกส่งมอบให้กับบริษัทเซาเทิร์น มาลายัน ทิน เดรจจิ้ง จำกัด (Southern Malayan Tin Dredging Ltd ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ Malayan Tin Dredging Company ที่กล่าวแล้ว แต่ภายหลังอีกหลายสิบปีจึงมีการรวมกิจการ) เป็นเรือลำดับที่ 5 (Dredge No.5) และบริษัทใช้ดำเนินการในบริเวณตันหยงถัวหลาง เริ่มแรกใช้เครื่องจักรไอน้ำมีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาในปีค.ศ. 1963 ปรับปรุงเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel-electric power)
เรือ TT5 เรือขุดแร่ขนาดกลาง ใช้คนทำงานสามผลัดรวมกันประมาณ 7-80 คน เรือมีความยาว 75 เมตร กว้าง 19.5 เมตร สูง 5 ชั้น มีการแบ่งซอยเป็นพื้นที่สำหรับแผนกต่างๆ ซึ่งแร่จะถูกลำเลียงไปโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การขุดแร่ การทำให้แตกด้วยแรงดันน้ำ ผ่านการคัดแยกแร่ด้วยเครื่องมือหลายชนิด แร่ที่ผ่านกระบวนการแล้วตกลงในถังขนาดใหญ่เพื่อลำเลียงไปยังโรงงานดำเนินการขั้นสุดท้ายเพื่อปรับปรุงคุณภาพแร่ให้สูงขึ้นแล้วนำไปขายต่อ หางแร่หรือเศษดินทรายจะถูกพ่นออกไปทางท้ายเรือ เรือมีน้ำหนักประมาณ 4,500 ตันลอยอยู่ได้โดยมีทุ่นลอยโลหะขนาดใหญ่ต่อกันเป็นแถวช่วยพยุงตัวไว้ การบังคับเรือเดินหน้า /ถอยหลัง หรือเปลี่ยนทิศทางของเรืออาศัยเครือข่ายของสายเคเบิลที่ยึดโยงเรือกับเครื่องกว้านซึ่งติดตั้งอยู่บนที่ดินโดยรอบ ในบางช่วงเรืออาจเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ด้วยการขุดแล้วถมดินไปข้างหลัง
ภาพที่ 3 : เรือขุดกำลังพ่นหางแร่ออกไปด้านหลัง ภาพจากห้องนิทรรศการ
ถังขุด (Bucket) หรือกระพ้อ 115 ลูก เชื่อมเข้ากับสายพาน กระพ้อเหล็กลูกหนึ่งหนักประมาณ 2 ตัน มีความจุลูกละ 0.5 ลูกบาศก์เมตร ความเร็วในการขุดอยู่ระหว่าง 18-24 กระพ้อต่อนาที เรือ TT5 ขุดได้ลึก 30 เมตร หรือประมาณ 100 ฟุต อาจดูว่าเรือขุดแบบนี้ทำให้ทุกอย่างดูง่ายดาย แต่เรือขุดไม่ได้ใช้ได้ในทุกพื้นที่ พื้นที่ที่เรือขุดเข้าไปทำงานนับเป็นพื้นที่สัมปทานแร่เกรดต่ำ (มีเปอร์เซ็นต์ของแร่อยู่น้อย) เรือขุดไม่สามารถทำงานได้ในที่ที่มีสายแร่แทรกอยู่ระหว่างชั้นหินปูน ซึ่งมักเป็นแร่เกรดดีมีเนื้อแร่มากและเข้มข้น แร่ในชั้นหินปูนเหมาะกับการทำเหมืองแบบปั๊มกรวด (gravel pump mining) ที่ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง (monitor) ฉีดชะเอาแร่ออกมาแล้วใช้ปั๊มกรวดสูบขึ้นไปยังลานล้างแร่ ข้อได้เปรียบของเรือขุดคือการทำงานต่อเนื่องไม่หยุด ที่ที่มีแต่แร่เกรดต่ำสามารถทำกำไรได้ก็ด้วยระบบการคัดแยกแร่ที่มีประสิทธิภาพซึ่งติดตั้งอยู่บนเรือ โดยรวมแล้วสกัดผลผลิตแร่ออกมาได้จำนวนมากกว่าหลายเท่า โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหน่วยแล้วจึงต่ำกว่าการทำเหมืองปั๊มกรวด
ในต้นทศวรรษที่ 1980 ราคาดีบุกผันผวนเนื่องจากการผลิตที่มากเกินไป ในขณะที่ความต้องการลดลงเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำเหล็กวิลาด (เหล็กชุบดีบุกซึ่งนำมาทำกระป๋องและเครื่องใช้ต่างๆ) ทำให้เคลือบดีบุกได้บางลงเพื่อลดต้นทุน มีการใช้วัสดุอื่นทำผลิตภัณฑ์ทดแทนดีบุก เช่น พสาสติกและอลูมิเนียม ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า แต่ดีบุกกลับมีราคาสูงทั้งที่มีความต้องการลดลงด้วยมีการปั่นราคาในตลาด บริษัท Malaysia Mining Corporation (MMC คือกิจการที่สืบทอดมาจาก Malayan Tin Dredging Company และมารวมเข้ากับ Southern Malayan Tin Dredging Ltd) ที่เป็นเจ้าของเรือ TT5 ตัดสินใจเลิกทำเหมืองทั้งหมดในมาเลเซียไม่กี่ปีก่อนที่ตลาดค้าดีบุกจะพังทลายลง เรือ TT5 ยุติการเดินเครื่องในปี ค.ศ.1982 ต่างจากเรือลำอื่นที่ถูกแยกชิ้นส่วนขาย เจ้าของเลือกบริจาคเรือ TT5 ให้รัฐเปรัคในปี ค.ศ.1997 เพื่อใช้ศึกษาในฐานะมรดกของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกในมาเลเซีย
ภาพที่ 4 : ถังรองรับแร่ที่ผ่านกระบวนการคัดแยกแล้ว บนเรือ TT5
หลายสิบปีผ่านไป เรืออยู่ในสภาพทรุดโทรม มีรอยรั่วทำให้เรือเอียงอย่างน่ากลัว จึงปิดห้ามเข้าชมเรือตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 ต่อมาในปี ค.ศ.2015 รัฐเปรัคได้จัดหางบประมาณจำนวน 8.5 ล้านริงกิต (ขณะนั้นริงกิตละประมาณ 8-9 บาท) มาบูรณะซ่อมแซม เรือเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในปี ค.ศ.2017 มีการนำเครื่องมือและเครื่องจักรบางส่วนออกมาจัดแสดงนอกเรือ นิทรรศการเล็กๆ นี้ช่วยให้เห็นภาพและเข้าใจการทำงานของเรือได้เป็นอย่างมาก
พิพิธภัณฑ์เรือขุดแร่นี้เปิดทำการเวลา 9.00-17.15 (จำหน่ายตั๋วถึง 17.15 แต่ชมได้จนถึง 18.00 น) มีผู้นำชมวันละหลายรอบ ทุก 1 ชั่วโมง แม้ว่าเขาจะอนุญาตให้ชมได้เฉพาะชั้นล่างของเรือเพื่อความปลอดภัย แต่ก็คุ้มค่าน่ามหัศจรรย์มากที่จะได้เข้าไปอยู่ในเรือและสัมผัสเครื่องยนต์กลไกต่างๆอย่างใกล้ชิด
สุดท้าย TT5 อาจไม่ใช่เรือขุดแร่ลำเดียวและลำสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในมาเลเซีย แต่เป็นเรือลำเดียวที่บูรณะและเปิดให้เข้าชมได้ ยังมีเรืออีกลำหนึ่งขนาดใหญ่กว่า (5,000 ตัน) ชื่อศรีบันติง (Sri Banting Dredge) จอดอยู่ที่เดิงกิล (Dengkil) ในเมืองเซปัง (Sepang) รัฐเซลังงอร์ (Selangor) แต่เป็นเรือที่มีอายุน้อยกว่า TT5 36 ปี โดยรัฐบาลกำลังบูรณะและคาดวังว่าใน 3 ปีข้างหน้า ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอนาคตเพราะอยู่ใกล้
แหล่งที่มาของข้อมูล