พระพุทธชินราชอร่ามตา องค์พระปฏิมาคู่แคว้น
ชื่อเสียงเลื่องลือทั่วดินแดน คนนับแสนหลั่งไหลน้อมศรัทธา
พิพิธภัณฑ์แหล่งนี้ล้วนเก็บศาสตร์ ศิลป์ของชาติเคียงคู่ศาสนา
ล้วนวิจิตรน้อมถวายพุทธบูชา ทรงคุณค่าธำรงอยู่คู่ถิ่นไทย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชาวพิษณุโลกกล่าวขานนามว่า “วัดใหญ่” มีบริเวณที่ตั้งติดกับแม่น้ำน่านและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เลื่อมใสศรัทธาของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงประชาชนทั่วไป มีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากทั้งคนที่ตั้งใจมากราบไหว้ หรือบางคนที่เดินทางสัญจรผ่านก็มักแวะเข้ามาสักการะบูชา ขอพรให้สมใจปรารถนา รวมถึงชื่นชมความวิจิตรงดงามขององค์พระพุทธชินราชที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในโลก ดังอ้างอิงได้จากคำกล่าวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งพาฝรั่งไปชมพระพุทธชินราชว่า “…พวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจ Impressive เหมือนพระชินราช…”
ทั้งนี้ อาจมีบางคนที่มาจากต่างถิ่นหรือแม้แต่ชาวพิษณุโลกเองที่ยังไม่ทราบว่าภายในวัดใหญ่แห่งนี้มี “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช” สถานที่จัดแสดงของล้ำค่าและโบราณวัตถุต่าง ๆ อันทรงคุณค่าที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งพิกัดตำแหน่งของพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวิหารของพระพุทธชินสีห์ เยื้องไปทางด้านหน้าวัด เปิดทำการตั้งแต่วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 8.30 – 16.00 น.
ภาพที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือเป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธชินราชและดื่มด่ำกับมนต์เสน่ห์ของงานศิลปะที่ชวนหลงใหล ภายในพิพิธภัณฑ์มีการแบ่งส่วนพื้นที่จัดแสดงได้อย่างเหมาะสมลงตัว ได้แก่ การจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทไม้ การจัดแสดงกลองมโหระทึก การจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์และข้าวของที่ผู้คนนำมาถวายเป็นพุทธบูชา ตลอดจนการจัดแสดงพระพุทธรูปขนาดเล็กและงาช้าง โดยในแต่ละส่วนจัดแสดงมีสิ่งของจัดแสดงที่สำคัญและโดดเด่น ดังนี้
“งานไม้วิจิตรบรรจงทรงคุณค่า ภูมิปัญญาสลักลงเป็นงานศิลป์” หลังจากเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ผู้เขียนก็พบกับโซนนี้ ด้านซ้ายมือมองเห็นส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทไม้ รูปแบบศิลปะอยุธยาและศิลปะรัตนโกสินทร์ที่จัดแสดงไว้อย่างยิ่งใหญ่ งานไม้ชิ้นเเรกที่ตั้งตระหง่านไว้อย่างโดดเด่นอยู่กลางห้อง คือ ยานมาศไม้จำหลักรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา (ยานมาศ หมายถึง พระราชยานชนิดที่ใช้คนแบก เป็นแท่นที่มีลักษณะคล้ายบัลลังก์ ใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมศพ พระโกศพระบรมอัฐิ หรือในโอกาสเสด็จพระราชดําเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางบก) ตัวยานมาศแกะสลักด้วยลวดลายกนก ลายกระจัง และลายประจำยาม ปิดทองประดับกระจก ถัดลงมาเป็นขั้นฐานสิงห์ซ้อนกันสองชั้นวางอยู่บนนาคสะดุ้ง
นอกจากนี้ยังมีศิลปะอยุธยาอีกชิ้นหนึ่งเป็นดาวประดับเพดานคูหาพระปรางค์ไม้สลัก ทาชาดปิดทอง บริเวณรอบห้องมีการจัดแสดงงานไม้ศิลปะรัตนโกสินทร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ตู้พระธรรมลายรดน้ำลงรักปิดทอง เรื่องรามเกียรติ์ พระปรางค์จำลอง คันฉ่อง เป็นต้น ซึ่งศิลปะทุกชิ้นที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของช่างไม้ที่ใช้ฝีมือรังสรรค์ออกมาเป็นผลงานชิ้นเอก รวมถึงแฝงเรื่องราวสำคัญในวรรณคดีลงไปในงานแกะสลักไม้ที่หาชมไม่ได้ง่ายนักในปัจจุบันจึงควรค่าแก่การไปชมอย่างยิ่ง
ภาพที่ 2 ยานมาศไม้จำหลัก ศิลปะอยุธยา
"กลองมโหระทึก ดังกึกก้อง ท่วงทำนองแผ่ล่องท่องนภา" จากชั้น 1 ขึ้นชั้น 2 เมื่อเดินขึ้นบันไดมาแล้วจะพบกับกลองมโหระทึกหลายใบวางเรียงกัน ซึ่งกลองมโหระทึกมีลักษณะที่แตกต่างจากกลองทั่วไป ไม่ได้ทำมาจากหนังสัตว์แต่ทำมาจากโลหะสำริด ส่วนหน้ากลองตรงกลางมีลวดลายเป็นรูปดาว 12 แฉก ตกแต่งด้วยลวดลายวงกลมล้อมรอบ บริเวณมุมมีรูปปั้นเล็ก ๆ คล้ายกบนั่งอยู่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ กล่าวกันว่าในอดีตกลองมโหระทึกนี้ใช้ประโคมในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การปรากฏตัวของชนชั้นสูง พิธีกรรมทางความเชื่อ พิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในสมัยก่อน ปัจจุบันกลองมโหระทึกก็ยังคงใช้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ นับเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่ห้ามพลาดเมื่อขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์บริเวณชั้น 2 ผู้เขียนอยากแนะนำให้ลองสังเกตรายละเอียดของลวดลายที่ปรากฎบนหน้าแต่ละใบที่มีความแตกต่างกันที่แสดงให้เห็นถึงความประณีตในการสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่า งดงามจนยากที่จะเปรียบเปรย
“สังวาลนพรัตน์ เจิดจรัสประดับพุทธา” ถัดจากเยี่ยมชมกลองมโหระทึก บริเวณฝั่งขวามือมีห้องจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์และข้าวของที่ผู้คนนำมาถวายเป็นพุทธบูชาให้แด่พระพุทธชินราช ซึ่งมีการจัดแสดงสร้อยสังวาลนพรัตน์ที่นับเป็นวัตถุจัดแสดงที่เป็นดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีใครทราบหรือไม่ว่าสร้อยสังวาลที่ประดับบนองค์พระพุทธชินราชนั้นแท้จริงแล้วมีอยู่ถึง 3 เส้น โดยเส้นแรกถูกทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนเส้นที่ 2 และ 3 ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยมีเส้นหนึ่งทำจากทองคำแท้ และอีกเส้นถูกทำจากทองแดงชุบทองไมครอน
ทั้งนี้ สร้อยสังวาลเส้นที่ประดับอยู่บนองค์พระพุทธชินราชปัจจุบันเป็นเส้นที่ 3 อีกสองเส้นนั้นถูกจัดเก็บและแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นหากใครมีโอกาสได้มากราบสักการะและชมสร้อยสังวาลที่ประดับอยู่บนองค์พระพุทธชินราชแล้วก็อยากแนะนำให้มาชมสังวาลที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยเฉพาะสังวาลทองคำเนื้อดี
สีทองส่องแสงอร่าม ประดับด้วยพลอยหลากสีแวววับสะท้อนแสงไฟดูตรึงตาตรึงใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งความงดงาม ประณีต และอ่อนช้อยทางศิลปะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างฝีมือไทยในการออกแบบสร้าง
แม้รายละเอียดในจุดเล็กน้อยก็ยังรังสรรค์ออกมาได้อย่างละเมียดละไม
นอกจากนี้ในห้องยังมีการจัดแสดงสายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ
พัดรัตนาภรณ์ที่รัชกาลที่ 9 ทรงถวายแด่พระพุทธชินราชเพื่อเป็นพุทธบูชาเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ในวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 ซึ่งมีเพียงพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับเครื่องสักการะนี้
ภาพที่ 3 สังวาลพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
“พุทธบูชา จากกษัตริยาจวบจนราษฎร” เรื่องราวชีวิตของผู้คนที่มีความศรัทธาในพระพุทธชินราชได้ถูกถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงสิ่งของที่เหล่าพุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนมากแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระพุทธชินราชเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมาช้านาน ซึ่งเหล่านี้ถูกนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ห้องโถงชั้นแรกจนถึงโถงจัดแสดงชั้น 2 ได้แก่ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองทั้งที่ไม่ปรากฏชื่อ และระบุชื่อ
ผู้ถวายที่มีตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป จนถึงเจ้านายที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และพระมหากษัตริย์ รวมถึงเครื่องแก้ว (ถ้วย ชาม แจกันแก้วที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ประชาชนนำมาถวาย) งาช้างแกะสลัก เครื่องใช้ประดับมุก และวัตถุแห่งศรัทธาอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความศรัทธาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สะท้อนว่าชาวพิษณุโลกมีความผูกพันกับพุทธศาสนาและพระพุทธชินราชมากเพียงใด
“งาช้างสลัก งามประจักษ์แทนศรัทธา” ห้องจัดแสดงศิลปะงาช้างแกะสลักทำให้เห็นถึงความประณีตของช่างแกะสลักศิลปะไทย ซึ่งตามความเชื่อทางศาสนา งาช้างถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง งาช้างที่นำมาจัดแสดงแต่ละกิ่งจึงแฝงด้วยประวัติความเป็นมา เช่น แกะสลักพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีนิ้วพระหัตถ์เหมือนพระพุทธชินราช เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมากจัดวางเรียงราย ซึ่งเกิดจากแรงศรัทธาของประชาชนที่นำมาถวายเป็นพุทธบูชา ภายในห้องมีพระพุทธรูปที่งดงามโดดเด่นสะดุดตาเป็นพระพุทธรูปที่ชุบด้วยทองคำประดิษฐานบนชุกชีที่ทำจากเงิน รวมถึงมีพระพุทธรูปที่ทำจากแก้ว และวัสดุอื่นๆ ที่สวยงามละลานตา สะท้อนถึงความมีเอกลักษณ์เฉพาะ และความหลากหลายทางศิลปะ ซึ่งเป็นวัตถุเก่าแก่ทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้
นอกเหนือจากความวิจิตรและความงดงามของสิ่งที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ผู้เขียนขอแนะนำรูปปั้นพระพิฆเนศที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ก็มีความงดงามไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครที่ชื่นชอบสายมูเตลูยิ่งต้องมาให้ได้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราชแห่งนี้ แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็เต็มไปด้วยวัตถุบูชาและของสำคัญอันทรงคุณค่าของพิษณุโลกและประเทศไทยที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้มาชมเมื่อมาเยือนพิษณุโลก ชวนให้สัมผัสกับวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวพุทธในลุ่มแม่น้ำน่านที่มีต่อพุทธศาสนาผ่านพระพุทธชินราช ทั้งจากมิติของประชาชนและราชสำนักที่ก่อเกิดความประณีตงดงามทางศิลปะ รอให้ท่านได้มาเยี่ยมชมด้วยตนเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
จันทรรัตน์ คงทัพ. ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด?. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_28003
นิยม กลิ่นบุบผา. ฐานานุศักดิ์ราชรถ. 103 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร : หน้า 27.