ภาพปก โรงพยาบาลซานตามาเรียนูวา (Ospedale di Santa Maria Nuova)
ฟลอเรนซ์เป็นเมืองเล็กๆ คนชอบเดินสามารถไปเที่ยวได้แทบทุกแห่งด้วยการเดิน สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่รู้จักกันมีมากมายโดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ รวมถึงโบสถ์ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ผู้เขียนใช้เวลา 9 วันก็ยังไปเที่ยวชมได้ไม่หมด นั่นยังเสียดายไม่พอ ผู้เขียนก็มาค้นพบว่าสถานที่ริมทางที่เดินหรือวิ่งผ่านไปในแต่ละวัน หลายแห่งมีประวัติศาสตร์และงานศิลปะที่น่าทึ่งซ่อนอยู่ แน่นอนว่าเมืองฟลอเรนซ์ทั้งเมืองต่างหากที่เป็นพิพิธภัณฑ์
โรงพยาบาลซานตามาเรียนูวา (Santa Maria Nuova Hospital)
อพาร์ทเมนท์ที่ผู้เขียนพักตั้งอยู่บนถนนโมริซิโอ บูฟาลินี (Maurizio Bufalini) ตั้งอยู่ด้านหลังของมิวเซียมของอาสนวิหารแห่งฟลอเรนซ์ เยื้องๆ กับที่พักเป็นลานกว้างของจัตุรัสซานตา มาเรีย นูวา (Piazza di Santa Maria Nuova) ที่มีอาคารที่ด้านหน้ามีระเบียงยาวล้อม เปิดด้านหน้าออกสู่ถนน ในซุ้มโค้งของระเบียงแลเห็นจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในเงามืด
ผู้เขียนเดินผ่านไปผ่านมาแทบทุกวันก็ได้แต่ชายตามอง จนกระทั่งวันสุดท้ายจึงตัดสินใจก้าวข้ามเส้นเขตแดนเข้าไปในระเบียงเพื่อถ่ายภาพระเบียงและจิตรกรรมฝาผนัง แอบส่องดูผ่านประตูติดฟิล์มกรองแสงแล้วพบว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีหน้าตาเหมือนโถงผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทั่วไป แต่ไม่มีคนมาใช้บริการสักคน นอกจากผู้หญิงที่เพิ่งเข็นยายอายุสัก 90 ปีมาถึง
สาเหตุที่โรงพยาบาลไม่มีคนพลุกพล่านค่อนข้างเงียบด้วยซ้ำ ซึ่งเพื่อนที่อยู่เนเธอร์แลนด์คาดเดาว่าการใช้บริการโรงพยาบาลที่นี่อาจคล้ายกัน คือ การมาโรงพยาบาลได้ต้องมีใบสั่งของหมอประจำบ้าน ซึ่งมักมีขั้นตอนที่ใช้เวลานานนับเดือน หมอประจำบ้านจะสั่งตรวจเลือดและโน่นนี่ หรือทำการรักษา และให้คำแนะนำเบื้องต้นก่อนจนแน่ใจว่าจำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลจริงๆ
เมื่อลองค้นหาข้อมูลก็ปรากฎว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดในฟลอเรนซ์และในโลกที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ ก่อตั้งโดยโฟลโก โปรตินาริ (Folco Portinari) นายธนาคารผู้เป็นพ่อของเบียทริช (Beatrice Portinari คนรักในฝันที่ไม่เป็นจริงของดันเต้) เขาบริจาคทรัพย์สินเป็นทุนก่อตั้งโรงพยาบาล ในปีค.ศ.1288 หนึ่งปีก่อนที่เขาเสียชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน
เริ่มต้นจากการซื้ออาคารพักอาศัยเพื่อดัดแปลงเป็นสถานพยาบาลขนาด 10 เตียง โรงพยาบาลเติบโตมีชื่อเสียงอย่างเร็วในเวลาไม่กี่สิบปี และมีบทบาทเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์การสาธารณสุขมาโดยตลอด เช่น การริเริ่มทำสวนสมุนไพรเพื่อใช้ทำยา การเปิดส่วนให้บริการคนไข้จิตเวช การสอนนักเรียนแพทย์และเภสัชกรโดยการฝึกปฏิบัติจริงที่หน้าเตียงผู้ป่วย รวมถึงการเปิดแผนกโรงเรียนศัลยกรรมที่รับชายหนุ่มมาศึกษาการผ่าศพ ซึ่งมีเล่ากันว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี ก็เป็นหนึ่งในชายหนุ่มเหล่านี้
โรงพยาบาลได้รับเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากตระกูลโปรตินาริและเงินบริจาคจากพลเมืองฟลอเรนซ์ ในช่วงปลายศตวรรษที่15 มีการต่อเติมอาคารเป็นรูปกากบาท ปีกหนึ่งเป็นวอร์ดคนไข้ชาย และปีกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นวอร์ดคนไข้หญิง โดยพื้นที่ตรงจุดตัดเป็นที่ทำงานของพยาบาลอยู่เวร ทำให้สามารถมองเห็นและดูแลคนไข้ทุกเตียงได้จากจุดศูนย์กลาง การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ลดจำนวนพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนในระบบบริการสาธารณสุขเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลายร้อยปีก่อนการสาธารณสุขสมัยใหม่ และที่นี่กลายเป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลอื่นๆ ในยุคเรเนซองส์
ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีการปรับปรุงใหญ่ขยายพื้นที่ให้บริการโดยการอุดหนุนของตระกูลเมดิซีที่รับไม้ต่อจากตระกูลโปรตินาริ โดยให้สถาปนิกประจำราชสำนักเมดิซี บวนตาเลนติ (Bernardo Buontalenti) ออกแบบระเบียงด้านหน้าอาคารและภาพเขียนในระเบียง
ภาพที่ 1 ภาพการแจ้งข่าวประเสริฐ (Annunciation) ในระเบียงด้านหน้าอาคาร
ตามข้อมูลของมูลนิธิซานตา มาเรีย นูวา (Santa Maria Nuova Foundation)
แจ้งว่าเป็นฝีมือเฟเดริโก ซัคคารี (Federico Zuccari ผู้วาดภาพส่วนใหญ่บนโดมอาสนวิหารแห่งฟลอเรนซ์)
แต่ผู้เขียนไม่ค่อยแน่ใจ เลือกเอามาให้ดูเพราะชอบแมวที่กลางภาพ
ถนนโมริซิโอ บูฟา ตัดผ่านหน้าโรงพยาบาล ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์การแพทย์ของยุโรป ผู้จากบ้านเกิดที่เมืองเชเซนา (Cesena เมืองทางตอนเหนือของอิตาลี) มาใช้ชีวิตช่วงครึ่งหลังในฟลอเรนซ์ และริเริ่มหลายสิ่งที่โรงพยาบาลแห่งนี้โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอน จนกระทั่งอีกหลายร้อยปีต่อมา โรงพยาบาลจึงยุติบทบาทให้คงเหลือแต่บริการโรงพยาบาลอย่างเดียว หลังจากมีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านแพทย์ศาสตร์โดยเฉพาะ และมีการก่อตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชขึ้น
ภายในอาคารโรงพยาบาล (ผู้เขียนไม่ได้เข้าไป) มีชิ้นงานศิลปะกว่า 700 ชิ้นจากศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ จิโอวานนี เดลลา รอบเบีย (Giovanni della Robbia) ผู้มีชื่อเสียงในงานดินเผาเคลือบสี (terracotta) ได้ทำรูปปั้นพระแม่มารีอุ้มพระศพของพระเยซูหลังถูกปลดลงจากไม้กางเขน หรือปิเอตา (Pietà) และมิเกลอซโซ (Michelozzo) ทำดินปั้นรูปพระแม่มารีอุ้มพระบุตร (Madonna and Child and two angles) ด้วยจำนวนงานศิลปะมากมาย ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าคนสมัยก่อนไม่ได้มองเห็นโรงพยาบาลเป็นเพียงสถานที่ทึบทึม สีเทาๆ แต่พยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่ชุบชูจิตใจด้วยความงามและศรัทธาในศาสนา
โรงพยาบาลเปิดส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ.2019 ดำเนินการโดยมูลนิธิซานตา มาเรีย นูวา และมีบริการนำชมด้วยการโทรศัพท์จอง หรือจองผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิ
Caffè del Verone ร้านกาแฟลับ
ไกด์สาวจากฟรีวอร์กกิ้งทัวร์ (Free Walking Tour) บอกว่ามีร้านกาแฟวิวสวยที่คนไม่ค่อยรู้จัก ชื่อ Caffè del Verone ตั้งอยู่ที่จัตุรัสซานติสซิมา อันนูนเซียตา (Piazza della Santissima Annunziata จัตุรัสที่ตั้งชื่อตามโบสถ์) โดยรอบจัตุรัสล้อมรอบด้วยอาคารสำคัญ เช่น มหาวิหารซานติสซิมา อันนูนเซียตา (Basilica of the Most Holy Annunciation) โบสถ์ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 มีพิพิธภัณฑ์เด็ก (Museum of the Innocents) พิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารที่เคยเป็นโรงพยาบาลเด็ก ภายในอาคารทั้งสองมีงานจิตรกรรม ประติมากรรมสวยงามมากมาย (รวมถึงภาพเขียนฝีมือบอตติเชลลิด้วย) และใกล้กันนั้นก็มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านโบราณคดี แต่ด้วยความรู้และเวลาอันจำกัดผู้เขียนจึงอดดูและจดไว้ในใจก่อน
ร้านกาแฟนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ แต่คนทั่วไปก็เข้าไปใช้บริการได้ ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของอาคารที่อาจเรียกว่าชั้นดาดฟ้าก็คงได้ บริเวณนี้เดิมเป็นระเบียงยาวที่โรงพยาบาลเด็กใช้ตากเสื้อผ้า ทำให้ชื่อของร้านกาแฟแปลว่า ระเบียง มีวิวที่ดีมากด้านหนึ่งเป็นโดมของอาสนวิหารฟลอเรนซ์ อีกด้านมองเห็นยอดโดมสีเขียวของโบสถ์ยิวที่อยู่ไกลออกไป ร้านมีลูกค้าบางตาแต่เวียนกันเข้าออกเรื่อย ๆ สามารถนั่งได้นานโดยไม่รู้สึกว่าถูกเร่งรัดให้ต้องรีบลุก กาแฟและช็อกโกแลตร้อนรสชาติมาตรฐาน ราคาไม่แพง ฝาผนังด้านหนึ่งติดตั้งภาพถ่ายเก่าของระเบียงนี้ทำให้ผู้เขียนอยากสืบค้นหาประวัติที่มา
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายเก่าเทียบกับระเบียงที่เป็นร้านกาแฟในปัจจุบัน
สถานที่นี้ก่อตั้งโดยเงินอุดหนุนจากกองทุนของฟรานเชสโก้ ดาตินี (Francesco Datini) พ่อค้าชาวปราโต (Prato) เพื่อสร้างสถานดูแลเด็กกำพร้าแห่งแรกของยุโรป เขาเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งทำธุรกิจในฟลอเรนซ์และไม่มีทายาทตามกฎหมายจึงได้ทำพินัยกรรมมอบมรดกมูลค่าหนึ่งแสนฟลอรินเพื่อทำการกุศลในบ้านเกิดและเมืองที่เขาเคยอาศัยทำธุรกิจ เหรียญทองหนึ่งพันฟลอรินที่นำมาก่อสร้างสถานดูแลเด็กกำพร้าตามเจตจำนงของเขาเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของกองมรดก แต่ก็มากพอให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลแรกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับสถานรับดูแลเด็กกำพร้าขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ฟรานเชสโก้ ดาตินียังเป็นบุคคลสำคัญในอีกหลายเรื่อง เช่น เจ้าของเอกสารทางบัญชีและการค้าชุดใหญ่ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญชุดหนึ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 14-15 โดยถูกค้นพบในบ้านของเขาที่เมืองปราโตในปี ค.ศ.1870
ในปีค.ศ. 1415 สถาปนิกที่รับงานออกแบบ คือ ฟิลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi ผู้ที่อีกหลายสิบปีต่อมาได้เป็นผู้สร้างโดมของอาสนวิหารแห่งฟลอเรนซ์) อาคารชุดแรกของโรงพยาบาลได้รับความเห็นพ้องกันจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเป็นสถาปัตยกรรมเรเนซองส์หลังแรกในผลงานของบรูเนลเลสกี ก่อนที่การสร้างมหาวิหารซาน ลอเรนโซ (Basilica di San Lorenzo) เมื่อดูจากภาพถ่ายหรือยืนดูด้วยสายตาจากมุมมองในจัตุรัส อาคารแถวที่มีซุ้มโค้งด้านหน้าแลดูอ่อนโยนถ่อมตัว และเรียบง่าย โดยบรูเนลเลสกีออกแบบเฉพาะอาคารแถวและระเบียงด้านหน้านี้เท่านั้น อีกหลายร้อยปีต่อมาสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลเด็ก มีการขยายพื้นที่ของอาคารไปด้านหลังอีกหลายหลัง แต่ระเบียงล้อมรอบจัตุรัสอีกสองด้าน เจ้าของอาคารตั้งใจสร้างให้มีรูปแบบเดียวกันกับระเบียงของบรูเนลเลสสกีเพื่อให้มุมมองของจัตุรัสมีความเป็นเอกภาพ
ภาพที่ 3 จัตุรัสซานติสซิมา อันนุนเซียต้า พิพิธภัณฑ์เด็กและร้านกาแฟอยู่ทางขวา
ทางซ้ายที่หันหน้าคือโบสถ์ ตรงกลางคืออนุสาวรีย์แกรนด์ดยุคเฟอร์ดินานโดที่ 1 แห่งโคซิโม
หากกลับไปที่ฟลอเรนซ์อีกครั้ง ผู้เขียนคงใช้เวลาหนึ่งวันเดินชมโบสถ์และพิพิธภัณฑ์ในจัตุรัสแห่งนี้ และขึ้นไปนั่งพักชมทิวทัศน์ยามเย็นชั้นบนของร้านกาแฟที่เปิดทุกวันตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสองทุ่ม และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบาๆ พร้อมของทานเล่นขายด้วย
สะพานซานตาทรินิตา
สะพานซานตาทรินิตา (Ponte Santa Trinita) เป็นสะพานทรงโค้งรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (elliptic arch bridge) รวมถึงเป็นสะพานที่สวยที่สุดในโลกสำหรับชาวฟลอเรนซ์ และใครอีกหลายคน ในขณะที่ผู้คนให้ความสนใจกับสะพานเวคคิโอ (Ponte Vecchio) ก็มักยืนอยู่บนสะพานซานตาทรินิต้าเพื่อถ่ายภาพสะพานแห่งนั้นในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกเช่นเดียวกับผู้เขียน
ภาพที่ 4 สะพานซานตาทรินิต้า (ถ่ายจากสะพานเวคคิโอ)
สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1252 เดิมเป็นสะพานไม้ซึ่งถูกน้ำพัดพังใน 7 ปีต่อมาจึงสร้างสะพานใหม่ด้วยหินและถูกแม่น้ำอาร์โนทำลายอีกครั้งในปี ค.ศ.1333 การสร้างรอบที่สามสะพานใช้เวลานานมากเป็นสะพานที่มี 5 โค้ง เสร็จในปี ค.ศ.1415 ทุกคนหวังว่าสะพานนี้แข็งแรงทนทานมากพอที่ไม่ต้องสร้างใหม่อีก ทว่าอีกร้อยกว่าปีต่อมาสะพานก็พังลงอีกครั้งในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ค.ศ.1557
จนกระทั่งบาร์โทโลมิว อัมมันนาติ (Bartolomeo Ammannati) ประติมากรและสถาปนิกชาวฟลอเรนซ์ ได้รับมอบหมายจากโคซิโมที่ 1 แห่งเมดิซี ให้สร้างสะพานขึ้นใหม่ เขาออกแบบสะพาน 3 โค้ง ซึ่งมีวงโค้งที่ต่ำมาก ซุ้มโค้งทรงรีแบนมีอัตราส่วนการยกต่อช่วงต่ำเพียง 1:7 กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “basket-handle arch” ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าสะพานดูโครงสร้างเบาและสวยงามมากแต่ก็ทนทานเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับสะพานข้ามแม่น้ำแห่งอื่นหลายครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ด้วยการออกแบบตอม่อเป็นรูปหัวเรือช่วยลดแรงเสียดทานของน้ำ โดยสะพานสร้างขึ้นระหว่างปีค.ศ.1566 – 1569 และใช้งานเป็นเวลานานถึง 375 ปี จึงถูกทำลายด้วยระเบิดของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อชะลอการรุกไล่ของฝ่ายของฝ่ายสัมพันธมิตร
หัวมุมทั้งสี่ของสะพานมีประติมากรรมที่สื่อความหมายถึงสี่ฤดูกาล (ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง หนาว) สร้างขึ้นเพื่อฉลองงานแต่งงานของลูกชายของเฟอร์ดินานโดที่ 1 แห่งเมดิซี (ต่อมาคือ โคซิโมที่ 2) ในปี ค.ศ.1608
ภาพที่ 5 ประติมากรรมรูปฤดูใบไม้ผลิ (ซ้าย) ฤดูร้อน (ขวา)
เมื่อสะพานถูกระเบิดพังลงในปี ค.ศ.1944 คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หัวใจสลายไปพร้อมกับสะพาน ในช่วงสงครามมีการสร้างสะพานสำเร็จรูปคร่อมซากปรักหักพังเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพและซ่อมแซมทุกสะพาน (ยกเว้นสะพานเวคคิโอสะพานเดียวที่ไม่ถูกระเบิด) โดยเริ่มขึ้นทันทีหลังฝ่ายสัมพันธมิตรปลดปล่อยเมืองฟลอเรนซ์ ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.1944 แต่สะพานซานตาทรินิตาเป็นสะพานสุดท้ายที่ซ่อมเสร็จในปี ค.ศ.1958 เพราะเมืองต้องการการสร้างสะพานขึ้นใหม่อีกครั้งให้เหมือนเดิมด้วยการศึกษาแบบสถาปัตยกรรมของสะพานจากเอกสารเก่าและกู้เศษชิ้นส่วนจากก้นแม่น้ำขึ้นมาประกอบใหม่ ส่วนที่ค้นหาไม่พบก็สร้างขึ้นใหม่โดยเลือกใช้หินจากแหล่งหินเดียวกัน คนงานสามารถงมหาชิ้นส่วนรูปปั้นสี่ฤดูกาลขึ้นมาประกอบใหม่ โดยพบส่วนศีรษะของฤดูในใบผลิเป็นชิ้นสุดท้ายในปี ค.ศ.1961
Palazzo di Bianca Cappello
วันที่ผู้เขียนเดินข้ามสะพานซานตาทรินิตาไปยังฝั่งใต้แม่น้ำอาร์โนเป็นวันที่ฝนตกหนักกว่าทุกวันจึงถ่ายภาพด้านหน้าของอาคารเบียงกา แคปเปลโล (Palazzo di Bianca Cappello) มาได้เพียงภาพเดียว ด้วยลักษณะการตกแต่งด้านหน้าอาคาร (façade) สวยงามมากจึงคาดว่าน่าจะเป็นอาคารสำคัญ ซึ่งอาคารหลังนี้เคยเป็นที่พักของเบียงกา แคปเปลโล ชู้รักของแกรนด์ดยุคฟรานเชสโกที่ 1 แห่งเมดิซี ทำให้อาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความสัมพันธ์โด่งดังที่กลายมาเป็นหนังสือและละครจนผู้เขียนอยากเอามาเล่าต่อ
เบียงกา แคปเปลโล เป็นลูกสาวขุนนางชาวเวนิสที่ลือชื่อเรื่องความงาม เมื่ออายุได้ 15 ปีในปี ค.ศ.1563 เธอหนีตามหนุ่มชาวฟลอเรนซ์เพื่อแต่งงานกับเขา และเป็นเหตุให้ฟรานเชสโก (ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นแกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี) ได้พบกับเธอโดยบังเอิญและต่อมาได้กลายเป็นชู้รักของเขา ในปี ค.ศ.1566 เขาซื้อคฤหาสน์ของตระกูลคอรบิเนลิ (Corbinelli) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวังปิตติ (Pitti Palace) เพียง 250 เมตร และปรับปรุงให้เป็นที่อยู่ของเบียงกา โดยทำเป็นอุโมงค์ลับใต้ดินเชื่อมต่อไปที่วังปิตติเพื่อใช้ลักลอบแอบมาพบเธอได้ อุโมงค์แห่งนี้ใช้เป็นที่เก็บซ่อนงานศิลปะของฟลอเรนซ์จากเงื้อมมือของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย (ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว)
ต่อมาไม่นานสามีของเบียงกาถูกฆ่าตายกลางถนนอย่างเป็นปริศนา เบียงกามีลูกชายกับฟรานเชสโกด้วย แต่เธอเป็นภรรยาลับจึงเป็นลูกนอกสมรส แถมเจ้าหญิงโจอันนาแห่งออสเตรีย มเหสีของฟรานเชสโกก็มีลูกชายเช่นเดียวกัน แต่ปีถัดมาขณะที่โจอันนากำลังท้องแก่ก็พลัดตกบันไดในวังจนเสียชีวิตอย่างปริศนา เพียงไม่กี่เดือนถัดมาฟรานเชสโกแต่งงานและอภิเษกให้เบียงกาเป็นแกรนด์ดัสเชส เธอจึงย้ายเข้าไปอยู่ในวังในปีค.ศ.1579 อาคารที่เคยเป็นรังรักแห่งนี้จึงหมดความจำเป็นแล้ว และถูกยกให้เป็นสมบัติของโรงพยาบาลซานตามาเรียนูวา การตกแต่งด้านหน้าอาคารที่สวยงามทำขึ้นในช่วงนี้โดยเบร์นาร์ดิโน โปเชติ (Bernardino Poccetti) จิตรกรชาวฟลอเรนซ์ ผู้สร้างผลงานจิตรกรรมที่สวยงามไว้มากมายในเมืองนี้รวมถึงโรงพยาบาลเด็กด้วย
ภาพที่ 6 ด้านหน้าของ Palazzo di Bianca Cappello เหนือประตูเป็นตราอาร์มตระกูล Cappello (รูปหมวก)
รูปแบบการตกแต่งด้านหน้าอาคารแบบนี้ เรียกว่า Sgraffito เป็นเทคนิคการตกแต่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และกรีก และกลับมาเป็นที่นิยมในฟลอเรนซ์ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ก่อนแพร่หลายไปทั่วยุโรป ด้วยการฉาบตกแต่งผนังด้วยปูนผสมเม็ดสีเป็นชั้น 2-3 ชั้น ฉาบด้วยสีเข้มและสีอ่อนสลับกัน จากนั้นใช้การสกัดหรือขูดสีชั้นนอกออกเพื่อสร้างลวดลายจากสีแต่ละชั้นที่แตกต่างกัน ในศตวรรษที่ 19 เทคนิคนี้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในยุคอาร์ตนูโวโดยเฉพาะฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม มีอาคารหลายแห่งในกรุงบรัสเซลส์ทำเป็นภาพที่วิจิตรงดงามมาก
ปัจฉิมลิขิต
สำหรับเบียงกาและฟรานเชสโกทั้งสองคนครองคู่กันมาได้ 8 ปี ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันเดียวกันในวิลล่าชานเมืองฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ.1587 คาร์ดินัลเฟอร์ดินานโด (Ferdinando) น้องชายของฟรานเชสโก จัดการศพอย่างมีพิรุธ โดยประกาศว่าพวกเขาเสียชีวิตด้วยโรคมาเลเรีย เฟอร์ดินานโดจึงขึ้นครองตำแหน่งเป็นแกรนด์ดยุคสืบแทน ส่วนลูกชายของเบียงกาเมื่อเติบโตขึ้นก็เป็นทหารและใช้ชีวิตอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว
ในปค.ศ. 2006 มีการตรวจสอบชิ้นส่วนอวัยวะภายในของทั้งสองพบว่ามีสารหนู (arsenic) ในปริมาณมากพอทำให้สันนิษฐานได้ว่าทั้งคู่ถูกวางยาพิษ ผลการตรวจสอบนี้มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ขณะที่มีนักชันสูตรศพโบราณคณะอื่นเสนอว่าพบร่องรอยของเชื้อมาเลเรียเช่นกัน
ปัจจุบันอาคารเบียงกา แคปเปลโลกลายเป็นโรงแรมที่ให้บริการห้องชุดสุดหรูในราคาหลายหมื่นบาท
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.fondazionesantamarianuova.it/scopri-il-museo-di-santa-maria-nuova/
Nicoletta Setola, Maria C.Torricelli, Elena Bellini, “Circulation Patterns and the Transformation of a Historic Hospital in the Time Perspective of OB”, Conference Paper, 2015. https://www.research-collection.ethz.ch/handle/20.500.11850/264807
https://www.museodeglinnocenti.it/en/
https://www.britannica.com/technology/arch-bridge
https://it.wikipedia.org/wiki/Ponte_Santa_Trinita
Frederick Hartt. 1949. Florentine Art Under Fire. Princeton University Press. https://archive.org/stream/in.ernet.dli.2015.106429/2015.106429.Florentine-Art-Under-Fire_djvu.txt
https://it.wikipedia.org/wiki/Palazzo_di_Bianca_Cappello
The mysterious death of Francesco I de' Medici and Bianca Cappello: an arsenic murder?
Copyright © BMJ Publishing Group Ltd 2006
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1761188/