Museum Core
“บพิตรพิมุข จักรวรรดิ” ความทรงจำ วิวัฒน์การศึกษาแห่งสยามประเทศ
Museum Core
24 ส.ค. 66 2K

ผู้เขียน : สมบัติ แซ่เบ๊

               หากกล่าวถึงสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านสรรพวิทยาในย่านพาหุรัด สำเพ็ง ผู้คนมักนึกถึง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิทย์-คณิต และวิทยาลัยเพาะช่างที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะ นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหนึ่งสถาบันการศึกษา นั่นคือ “บพิตรพิมุข จักรวรรดิ” ที่มีกิตติศัพท์ในด้านบริหารธุรกิจและภาษาต่างประเทศรวมอยู่ในย่านนี้ด้วย

               โรงเรียนบพิตรพิมุข จักรวรรดิ เป็นสถานศึกษาที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข หรือ โรงเรียนวัดเชิงเลน” มีการจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนในวัด มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระภิกษุเป็นครูผู้สอน อาศัยกุฏิ ศาลาการเปรียญ และศาลาราย ภายในวัดบพิตรพิมุขวรวิหารเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน มีผู้ส่งบุตรหลานมาฝากเรียนเป็นศิษย์ในสำนักเรียนบพิตรพิมุขเป็นจำนวนมาก นักเรียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น อาทิ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด ภิรมย์ภักดี) พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และพระยารณชัยชาญยุทธ (ศุข โชติเสถียร) เป็นต้น จนมีคำกล่าวอย่างแพร่หลายในสมัยนั้นว่า “ต่อตำราให้ ไล่หนังสือไทย”

               ครั้นเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งโรงเรียนบพิตรพิมุขขึ้นเป็นโรงเรียนหลวงรุ่นแรกสำหรับราษฎรได้ศึกษาเล่าเรียน ตามพระราชปณิธานของพระองค์ที่ต้องการเห็นราษฎรทุกคนได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จพระราชทานรางวัลนักเรียน ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีระกา จ.ศ. 1246 ความว่า

              “วิชาหนังสือเป็นวิชาที่นับถือ แลเป็นที่สรรเสริญแต่โบราณว่าเป็นวิชาอย่างประเสริฐ ซึ่งผู้ที่เป็นใหญ่ยิ่งนับแต่พระมหากษัตริย์ เป็นต้น ตลอดจนราษฎรพลเมือง สมควรแลจำเป็นจะต้องรู้ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จไปได้ทุกสิ่งทุกอย่าง… เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้ให้โอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้… ”

                ในขณะนั้นมีขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลวิธูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก มีนักเรียนเพียง 34 คน ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็มีนักเรียนถึง 100 คน แสดงให้เห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีผู้นิยมสนใจเข้าศึกษาเล่าเรียน         

 

ภาพที่ 1 นาฬิกาพระราชทานที่มีสัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อ จปร.

 

               ในปี พ.ศ. 2477 มีการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมปีที่ 7-8 แผนกวิสามัญ สอนวิชาภาษาต่างประเทศ โดยมีวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับเรียน และสามารถเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน หรือภาษาญี่ปุ่น เพิ่มอีกภาษาหนึ่ง หลังจากนั้นก็มีการเปิดสอนแผนกเลขานุการที่เน้นด้านธุรกิจ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการเปิดสอนแผนกเลขานุการ ต่อมาในปีพ.ศ.2516 โรงเรียนได้ขยายการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั้งภาคปกติและภาคค่ำ และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนขึ้นเป็น “วิทยาลัยบพิตรพิมุข” จากนั้นในปีพ.ศ.2520 มีการโอนย้ายสังกัดของโรงเรียนจากกรมอาชีวศึกษาเป็นสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีชื่อต่อท้ายว่า “วิทยาเขตบพิตรพิมุข” โดยการเรียนการสอนในช่วงนั้นเน้นความรู้ทางด้านพาณิชย์ การพิมพ์ดีด เลขานุการ ชวเลข และบัญชี เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

 

ภาพที่ 2 อาคารเรียนในอดีต

 

               การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2531 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” อันหมายถึง สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันสถาบันการศึกษาแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ” สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดสอนระดับปริญญาตรี 2 คณะ คือ 1) คณะบริหารธุรกิจ มี 6 สาขาวิชา ได้แก่  การบัญชี การตลาด การจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ ภาษาอังกฤษธุรกิจ และบริหารธุรกิจ (หลักสูตรภาษาจีน) และ 2) คณะศิลปศาสตร์ มี 3 สาขาวิชา ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล

 

ภาพที่ 3 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนในอดีต

 

 

ภาพที่ 4 เครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ อุปกรณ์การเรียนสำหรับอาชีพสมัยใหม่เมื่อราว 50 ปีก่อน

 

 

ภาพที่ 5 สมุดทะเบียนประวัติคุณครูที่มีความเก่าแก่ย้อนไปไกลสมัยรัชกาลที่ 6

 

               ดังจะเห็นได้ว่า สถานศึกษาแห่งนี้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอยู่ตลอดระยะเวลากว่า 138 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านการศึกษาสายวิชาชีพในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยมีเหตุปัจจัยสำคัญมาจากสภาพสังคมไทยที่มีความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการแขนงต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา ธุรกิจห้างร้าน การค้าขาย ธนาคาร สาธารณูปโภค ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ตลอดจนถนนหนทางและการคมนาคมมีการพัฒนาเติบโตขึ้นตามลำดับ หากแต่บุคลากรในสายวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารธุรกิจและภาษาต่างประเทศยังมีจำนวนน้อย

               วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มีแนวคิดในปรับตัวด้วยการจัดหาครูอาจารย์ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญและเปิดหลักสูตรเรียนรู้ในศาสตร์บริหารธุรกิจและภาษาต่างประเทศ รวมถึงการนำความรู้ที่ทันสมัยจากตะวันตกมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาอาชีพ สร้างบุคลากร หรือผลิตคนเพื่อรองรับกับอาชีพใหม่ ๆ ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้มากขึ้น  ทำให้ “บพิตรพิมุข จักรวรรดิ” แม้เป็นสถาบันการศึกษาขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 2 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา ก็สามารถผลิตและบ่มเพาะให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความเพียบพร้อมด้วยวิชาการ มีคุณธรรม และทำกิจกรรมรับใช้สังคมสมดังพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

               อนึ่ง บริเวณชั้น 2 ของห้องสมุดบพิตรพิมุข จักรวรรดิ เป็นห้องเก็บรักษาและรวบรวมวัตถุสิ่งของ ภาพเก่าหายาก และอุปกรณ์การเรียนการสอนในอดีต โดยมีวัตถุชิ้นสำคัญเป็นนาฬิกาตั้งพื้นมีสลักพระนามาภิไธย จปร. ซึ่งโรงเรียนได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์วิวัฒนาการทางการศึกษาไทย ดังนั้น ผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียนเก่าบพิตรพิมุขในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงผู้เขียนก็เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้จึงมีการปรึกษาหารือและวางแผนการปรับปรุงห้องนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์การศึกษา เพื่อให้ยุวชนรุ่นหลังและประชาชนผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ. (2548). 120 ปี บพิตรพิมุข วิชาการเด่น เน้นคุณธรรม กิจกรรมเยี่ยม (พิมพ์ครั้งที่ 1). ด่านสุทธาการพิมพ์.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ