เรื่องราวการเดินทางของผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์โลกเป็นหนึ่งในความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย นี่คือสิ่งที่ถูกเล่าออกมาตั้งแต่ผู้เขียนเหยียบห้องโถงประตูทางเข้า “พิพิธภัณฑ์อวกาศ” (Museum of Cosmonautics) หรือ “Музей Космонавтики” ในภาษารัสเซีย ที่นี่คือสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ความทะเยอทะยานของมนุษยชาติซึ่งครั้งหนึ่งอยากทะลายข้อจำกัดเขตแดนโลกของเรากับอวกาศ พร้อมกับแสดงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตนเอง และแข่งขันความเป็นเจ้าโลกอย่างเข้มข้นกับสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น
สำหรับคนที่สนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนสัญชาติใดก็ตาม การได้มาเยือนสถานที่เช่นนี้ (ซึ่งคงมีอยู่ไม่มากนัก) คงเป็นความฝันและความดื่มด่ำนอกตำราอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับผู้เขียน - หญิงจากประเทศในอาเซียนที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศเท่าหางอึ่ง เพียงแต่เฉียดมาครั้งแรกเพราะความอยากรู้ให้มากขึ้น นอกจากตะลึงในเรื่องราวการจัดระบบและกระบวนการตั้งแต่ต้น พัฒนาการขององค์ความรู้ที่ต้องใช้เวลาสั่งสมและทดลองกันอยู่หลายปี การเตรียมความพร้อมและความสามารถของบุคลากรเบื้องหลังและเบื้องหน้าอย่างทำเนียบ “นักบินอวกาศ” ตั้งแต่ยุคสมัยที่เป็นโซเวียตมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสุนัขชื่อ “ไลก้า” ผู้เสียสละแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจกลับมาคือ มนุษย์เราสามารถสรรสร้างอะไรก็ได้ตราบเท่าที่มีความตั้งใจและวินัยอย่างแรงกล้า (หรือความรักชาติด้วยในกรณีนี้) มีการสนับสนุนและการลงทุนอย่างเป็นระบบก็ทำให้สิ่งมุ่งหวังที่ท้าทายนั้นเป็นการเปิดทางสู่การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ได้สำเร็จ
ย้อนไปเมื่อปีค.ศ. 1946 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไปแล้วหนึ่งปี รัฐบาลโซเวียตตั้งเป้าหมายใหม่ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นั่นคือการผลักดันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเพื่อการ “สำรวจอวกาศ” หวังสร้างความเกรียงไกรให้กับสหภาพโซเวียต และสิ่งที่โลกต้องจารึก
เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งให้มีการสร้างเครือข่ายสถาบันด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการออกแบบวิศวกรรม มีการสนับสนุนวิศวกร ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ทำงานหลายแขนง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็จัดสรรพื้นที่ในกรุงมอสโก ซึ่งปัจจุบันมีภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาวโซเวียต ได้แก่ บริเวณศูนย์จัดแสดงนิทรรศการและสวนสาธารณะที่ชื่อ “เวเดอันคา” (VDNKh Park) โดยพื้นที่บริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สูงเสียดฟ้า “มุ่งหน้าสู่การเป็นผู้พิชิตอวกาศ” (To the Conquerors of Space) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ.1964 และพิพิธภัณฑ์อวกาศซึ่งถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ.1967 เพื่อเป็นสถานที่บันทึกความทรงจำและประวัติศาสตร์การออกสำรวจอวกาศของชาวโซเวียต ก่อนเปิดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และระลึกถึงอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1981
ภาพที่ 1 (ซ้าย) บริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนด้านหลังคืออนุสาวรีย์ To the Conquerors of Space) (ขวา) บริเวณภายในห้องจัดแสดงห้องแรก
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอวกาศของชาวโซเวียตนับว่าเติบโตขึ้นและมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 จนสามารถพูดได้ว่าตนเป็นชาติแรกที่สามารถเดินทางสำรวจนอกโลกได้สำเร็จและนั่นก็นับเป็นครั้งแรกของชาวโลกด้วยเช่นกัน อาทิเช่น การปล่อยดาวเทียมสปุตนิก-1 (Sputnik-1) ดาวเทียมดวงแรกของโลกในปีค.ศ. 1957 ความพยายามสำรวจดวงจันทร์ด้วยการปล่อยยานสำรวจอวกาศลูนา -1 (Luna-1) ในปีค.ศ. 1959 ความสามารถเก็บภาพถ่ายจากยานลูนา-3 (Luna-3) การลงจอดและถ่ายทอดภาพพาโนรามายังพื้นโลกจากยานลูนา-9 (Luna-9) ได้สำเร็จในปีค.ศ. 1966 การออกสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของโซเวียตกับโครงการมาร์ส-1 (Mars-1) ในปีค.ศ. 1962 จนกระทั่งสามารถถ่ายรูปพื้นผิวของดาวอังคารได้ในปีค.ศ. 1971 ภายใต้โครงการมาร์ส-3 (Mars-3) รวมถึงการส่งนักบินอวกาศคนแรกของโลกไปโคจรรอบโลกที่คุ้นชื่อกันดีอย่าง “ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) ในปีค.ศ. 1961 หรือกระทั่งการเล็งเห็นว่าควรส่งคุณหมอไปพร้อมกับนักบินอวกาศด้วยในปีค.ศ. 1964 เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจสภาพจิตใจและร่างกายของมนุษย์ในสภาวะที่ไร้น้ำหนักได้ดียิ่งขึ้น
จะเห็นว่าความสำคัญของ “การพัฒนา การทดลอง และการเก็บข้อมูล” เพื่อสร้างฐานความรู้ให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปอีกเรื่อย ๆ เป็นวิธีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ต้องทำ ซึ่งเผยออกมาผ่านเรื่องเล่าภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เช่นเดียวกับอารมณ์และความรู้สึก “ภาคภูมิใจ ความอดทน และความอุตสาหะ” ของชุมชนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชาวโซเวียต
ภาพที่ 2 ทำเนียบนักบินอวกาศของสหภาพโซเวียต
ที่นี่ผู้เขียนได้เห็นภาพบันทึกตั้งแต่หนังสือราชการ หนังสือรายงานการวิจัยและการพัฒนาแต่ละเรื่อง ภาพถ่ายทีมผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาอุปกรณ์ จรวด และยานอวกาศ ภาพการฝึกอบรมด้านเนื้อหาสาระเชิงเทคนิคที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ ภาพการฝึกซ้อมทางร่างกายของนักบินอวกาศในหลาย ๆ สภาพแวดล้อมที่สุดแสนยากลำบาก ภาพบุคคลสำคัญและจดหมายของบุคลากร หน้าหนังสือพิมพ์ที่มีการรายงานข่าว ภาพความตื่นเต้นและยินดีของสาธารณชน ผังอธิบายคำศัพท์ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องให้ผู้มาเยือนสามารถทำความเข้าใจตามไปด้วยได้ การจัดแสดงชุดนักบินอวกาศและชุดทำงานอื่น ๆ เศษชิ้นส่วนของวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกเก็บรักษามาเป็นอย่างดี การจำลองสภาพนอกโลกที่มีแต่ดาวเทียมและยานอวกาศลอยล่องอยู่เต็มไปหมดจนถึงการจำลองห้องเครื่องกับการใช้ชีวิตภายในยานอวกาศ โต๊ะกินข้าว เตียงนอน ห้องน้ำ และปุ่มเล็กปุ่มน้อยที่ใช้สั่งการ แม้แต่ความพยายามปลูกต้นไม้ในยานอวกาศก็จัดมาโชว์ด้วย
ภาพที่ 3 ห้องจัดแสดงและห้องจำลองภายในพิพิธภัณฑ์
กล่าวได้ว่า ตลอดเส้นทางที่พิพิธภัณฑ์กำหนดมาให้ผู้เขียนเดินไปตามไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์มนุษย์ “โซเวียต” กับเรื่องอวกาศทั้งภาษารัสเซียและภาษาอังกฤษ เมื่อเดินจบครบห้องสุดท้าย เหมือนว่าเราชาวอาเซียนได้ย้อนเวลาออกไปร่วมสำรวจอดีตของการสำรวจอวกาศกับเขาด้วยโดยไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วเดินทาง (แต่จ่ายค่าตั๋วเข้าพิพิธภัณฑ์แทน) เท้าก็ยังติดพื้น แถมเดินออกมาแล้วยังกดตู้อัตโนมัติซื้ออาหารสำเร็จรูปสำหรับนักบินอวกาศมาลองชิมดูได้อีก!
หมายเหตุ: อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมและเยี่ยมชมเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ (หน้าเว็บภาษาอังกฤษ) ได้ ที่นี่ ค่ะ