วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ว่าที่สหุหนายก ต้นสกุลกัลยาณมิตร พระสหายคนสนิทของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเรือน พ.ศ.2367 แล้วเจ้าพระยานิกรบดินทร์ก็สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นถวายเป็นพระอารามหลวงในปีถัดมาคือเมื่อปี พ.ศ. 2368
ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า ‘วัดกัลยาณมิตร’ ซึ่งหมายถึงพระสหายที่ดีของพระองค์อย่าง 'เจ้าพระยานิกรบดินทร์' นั่นเอง
ตามประวัติว่าพื้นที่บริเวณที่ถูกนำมาสร้างเป็นวัดกัลยาณ์นั้นคือบ้านของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงมาก่อน ซึ่งเดิมมีพระจีนมาพำนักอาศัยอยู่จึงเรียกกันตามภาษาปากชาวบ้านว่า 'กุฎีจีน' หรือกะดีจีน และก็ยังคงเรียกสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ความตรงนี้น่าเชื่อว่าเล่าต่อกันมาไม่ผิดเพี้ยน ในพื้นที่บริเวณชุมชนกุฎีจีนยังมีศาลเจ้าเกียนอันเกง ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัดกัลยาณ์ แต่เดิมเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตัดสินพระทัยสร้างพระตำหนักอยู่ที่กรุงธนบุรี ชาวจีนที่ติดตามพระองค์มาก็ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ด้วย จากนั้นจึงได้สร้างศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลโจวซือกงขึ้นในพื้นที่บริเวณศาลเจ้าเกียนอันเกงปัจจุบันนี้เอง
กาลล่วงเลยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 บรรพบุรุษต้นตระกูลตันติเวชกุล และสิมะเสถียร ซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในสยามได้ทำการสักการะศาลเจ้าทั้งสองแห่งดังกล่าวแล้วเห็นว่าศาลเจ้าทั้งสองแห่งมีสภาพทรุดโทรม จึงรื้อศาลทั้งสองแห่งนี้ออกเสีย จากนั้นก็สร้างศาลใหม่หนึ่งหลังขึ้นมาแทน พร้อมนำเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่องค์หนึ่งในเมืองแชฮุนเต็ง ประเทศจีน มาประดิษฐานเป็นประธานของศาลเจ้าใหม่แห่งนี้แทน จากนั้นมาศาลเจ้าแห่งนี้เลยถูกเรียกว่า "ศาลเกียนอันเกง" หมายถึง ศาลเจ้าแม่กวนอิมนั่นเอง
และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์มีถิ่นฐานอยู่ที่ละแวกกุฎีจีน จึงไม่แปลกใจ ถ้าท่านจะมีแซ่ว่า 'อึ้ง’ และมีเชื้อสายเป็นจีนฮกเกี้ยน
ภาพที่ 1: เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)
เจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือใครต่อใครในสมัยนั้นเรียกท่านว่า เจ้าสัวโต เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 3 ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมสุรัสวดี ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมบัญชีไพร่ของทั้งแผ่นดิน รวมถึงเกณฑ์ไพร่พลเพื่อฝึกทหาร ตำแหน่งของท่านเจ้าสัวจึงใหญ่โตคับสยามประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
ช่วงเวลานี้เองที่เจ้าสัวทำการค้าสำเภาร่วมกันกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ จึงยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า เจ้าสัวโตเป็นรากฐานส่วนสำคัญที่ทำให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้อย่างนุ่มนวลราวกับเสด็จย่างเหยียบอยู่บนฟูกขนเป็ด
อันที่จริงแล้ว เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากทรงเลือกตั้งศูนย์กลางอำนาจของพระองค์ที่กรุงธนบุรีนั้น พื้นที่ที่เรียกกันว่า ‘บางกอก' มาแต่เดิมก็ไม่ใช่สถานที่รกร้าง แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นเมืองท่าแห่งแรกที่เรือซึ่งจอดเทียบท่าในอ่าวไทยต้องผ่านก่อนเข้าไปสู่พระนครศรีอยุธยา จึงไม่แปลกเลยที่ย่านนี้จะมีความเป็นนานาชาติ มีมัสยิดและกุโบร์ของชาวมุสลิมกระจายอยู่ทั่ว มีโบสถ์คริสต์อย่างโบสถ์ซานตาครู้สและชุมชนชาวโปรตุเกส การตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในสยามประเทศของหมอบรัดเลย์ก็สร้างขึ้นไม่ห่างจากย่านนี้มากนัก
พื้นที่บริเวณนี้จึงมีผู้คนอาศัยอยู่เต็มไปหมด ป้อมปืนแบบฝรั่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อราว พ.ศ. 2200 หรือป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน ถูกสร้างกระจายอยู่สองฟากข้างแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทางฝั่งบางกอก (บริเวณปากคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรีปัจจุบัน) และฝั่งบางจีน (คือบริเวณที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ท่าเตียน สนามหลวง และปริมณฑลที่เกี่ยวเนื่องทางฟากพระนคร)
พื้นที่ส่วนที่เรียกว่า 'บางจีน' ก็คงไม่ต้องอธิบายว่าคนพวกไหนอยู่แถวนี้เป็นส่วนใหญ่
ภาพที่ 2: วัดกัลยาณมิตร ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2468
แหล่งที่มาภาพจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_50896
ภาพที่ 3: วัดกัลยาณมิตรในปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าตากจึงไม่ได้ทรงเป็นผู้นำชาวจีนเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ เสียทั้งหมด แต่มีชุมชนชาวจีนอยู่ที่ฟากตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของบางกอก หรือกรุงธนบุรี อยู่ก่อนแล้วต่างหาก และท่านเองก็มีเชื้อสายชาวจีนแต้จิ๋วอย่างเข้มข้นอยู่ด้วย
ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริสร้างพระบรมมหาราชวังที่บางจีน ชาวจีนเหล่านี้จึงถูกโยกย้ายทั้งชุมชนไปอยู่ที่สำเพ็งแทน อย่างไรก็ตาม เครือข่ายชาวจีนเหล่านี้ก็ยังคงความสำคัญต่อมาจนถึงสมัยเจ้าสัวโตและกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงค้าสำเภา
เป็นที่ทราบกันดีว่า วัดที่สถาปนาหรือบูรณะในรัชกาลที่ 3 มักมีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมอยู่มาก จนถึงกับมีการตั้งชื่อเรียกรูปแบบวัดเหล่านี้โดยกลุ่มผู้สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และโบราณคดีว่า ‘ศิลปะแบบพระราชนิยม’ แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ความนิยมศิลปะจีนนั้นเกิดจากองค์รัชกาลที่ 3 เองหรือเป็นเครือข่ายชาวจีนของพระองค์กันแน่
18 พฤษภาคม พ.ศ. 2380 รัชกาลที่ 3 ทรงเสด็จพระราชดำเนินก่อพระฤกษ์พระโต เพื่อเป็นพระประธานที่วิหารหลวง วัดกัลยาณ์ โดยเล่าต่อกันมาว่ารัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอย่างธรรมเนียมครั้งกรุงเก่า คือ มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองอย่างวัดพนัญเชิงของกรุงศรีอยุธยา
'พระโต' องค์นี้ ชาวจีนเรียกว่า 'ซำปอกง' เฉกเช่นเดียวกับพระโตที่วัดพนัญเชิงที่ชาวจีนโพ้นทะเลเคารพนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในฐานะซำปอกงเกือบทั้งหมด
‘ซำปอกง’ คือ ชื่อรองของจอมพลมหาขันทีในยุคต้นราชวงศ์หมิงที่ชื่อ ‘เจิ้งเหอ’
เจิ้งเหอเป็นผู้นำทัพกองเรือที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคก่อนออกเดินทางสำรวจไปทั่วโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา และยุโรป บางกระแสเชื่อว่าท่านสำรวจไปถึงทวีปอเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าท่านขึ้นเหยียบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกที่เกาะบาฮามาสเมื่อปี พ.ศ. 2035
ด้วยความยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ชาวจีนโพ้นทะเลจะนับถือ ‘ซำปอกง’ ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มกันพวกเขาที่อยู่อาศัยนอกดินแดนบ้านเกิด ชาวสยามก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ภายหลังรัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามแก่พระโตที่วัดกัลยาณ์ว่า 'พระพุทธไตรรัตนนายก' ซึ่งแปลตรงตัวเป็นภาษาจีนได้ว่า ซำปอกง ('ซำปอ' หรือ 'ซานเป่า' แปลว่า พระรัตนตรัย หรือแก้ววิเศษสามดวง ส่วน 'กง' แปลตรงตัวว่า ปู่ หรือ ผู้เป็นใหญ่ ก็ได้)
ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระโตที่วัดกัลยาณ์นั้น ทรงสร้างขึ้นเพียงเพื่อให้ต้องตรงธรรมเนียมเดิมครั้งกรุงเก่า หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจเครือข่ายของพระองค์ ซึ่งประกอบไปด้วยคนเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมากกันแน่?
ภาพที่ 4: พระพุทธไตรรัตนนายก ‘หลวงพ่อซำปอกง’
ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหาร วัดกัลยาณมิตร
แหล่งที่มาภาพจาก: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/96/Phra_Phuttha_Trairattananayok.jpg/1280px-Phra_Phuttha_Trairattananayok.jpg