ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชามีการนำ “กระต่าย” มาใช้เป็นตัวแทนสัตว์สัญลักษณ์ หรือมาสคอตประจำการแข่งขัน หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมกัมพูชาจึงเลือก “กระต่าย” มาเป็นมาสคอต กระต่ายมีความสำคัญอย่างไรในสังคมวัฒนธรรมเขมร
บางคนอาจรู้สึกว่ากระต่ายดูน่ารักเกินไป หรือดูบอบบางเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับสัตว์ใหญ่ที่มีพละกำลังมากอย่างช้าง เสือ สิงห์ หากลองศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเขมรแล้วก็จะทราบได้ทันทีว่า “กระต่าย” เป็นสัตว์เจ้าปัญญาที่ชาวเขมรภูมิใจนำเสนอต่อนานาประเทศ
ภาพที่ 1 มาสคอตกระต่ายประจำการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กัมพูชา 2023
แหล่งที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50853475/cambodia-gears-up-well-to-host-sea-games-asean-para-games-2023/
รูปมาสคอต “กระต่าย” หรือ “ต็วนซาย” (ទន្សាយ) ในภาษาเขมร ถูกออกแบบให้เป็นกระต่ายเพศผู้และเพศเมียสีขาวคู่กัน กระต่ายเพศผู้ชื่อ “โบเร็ย” (បុរី) ส่วนเพศเมียชื่อ “ร็อมฎวล” (រំដួល) สันนิษฐานว่าตรงกับคำไทยว่า “บุรี” และ “ลำดวน” ตามลำดับ กระต่ายโบเร็ยแต่งกายด้วยผ้าสีน้ำเงิน มือขวาชูคบเพลิง กระต่ายร็อมฎวลแต่งกายด้วยผ้าสีแดง ประนมมือสวัสดี กระต่ายทั้งสองนุ่งผ้าเขมรตามอย่างการนุ่งผ้าของ “ลบกกโต” (ល្បុក្កតោ) ออกเสียงว่า “ละบกกะโต” ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของเขมรแขนงหนึ่ง
ในเว็บไซต์อย่างทางการเพื่อประชาสัมพันธ์กีฬาซีเกมส์ www.cambodia2023.com ได้เขียนอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบมาสคอตครั้งนี้ว่า ชื่อ “โบเร็ย” สื่อความหมายถึงความสามัคคีของชนทุกกลุ่ม “ร็อมฎวล” มาจากชื่อดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา กระต่ายเป็นสัตว์ที่น่ารัก ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านเขมรหลายเรื่อง ชาวเขมรมีความเห็นว่ากระต่ายเป็นตัวละครที่รักความยุติธรรม มีความเจ้าปัญญา และชอบช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณธรรมสำคัญที่ได้รับอิทธิพลมาจากคำสอนทางพุทธศาสนา นอกจากนี้การออกแบบกระต่ายให้มีทั้งเพศผู้และเพศเมียคู่กันยังแสดงถึงความเท่าเทียมกันในการแข่งขันกีฬาอีกด้วย
ภาพที่ 2 ภาพสลักรูปนางอัปสราบนกำแพงปราสาทนครวัด สันนิษฐานว่าลักษณะของพวงมาลัย
บนศิราภรณ์คือพวงมาลัยดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Apsara_Detail_at_Angkor_Wat.jpg
ลักษณะความเจ้าปัญญาของกระต่ายถือเป็นลักษณะสำคัญที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง โดยเฉพาะบทบาทการใช้ปัญญาตัดสินคดีความ จนชาวเขมรยกย่องให้เป็น “โซะเพียต็วนซาย” (សុភាទន្សាយ) หรือ “สุภากระต่าย” หมายถึง ผู้พิพากษากระต่าย ดังตัวอย่างนิทานเรื่อง “จระเข้กับคนขับเกวียน” ใน “ประชุมนิทานพื้นบ้านเขมร” (ប្រជុំរឿងព្រេងខ្មែរ) สำนวนของสถาบันพุทธศาสนบัณฑิตย์ (Buddhist Institute) เล่าว่า มีคนขับเกวียนคนหนึ่งได้ช่วยเหลือจระเข้ให้พ้นจากน้ำตื้นตามคำร้องขอ โดยการมัดจระเข้ไว้กับเกวียน เมื่อขับเกวียนผ่านพ้นมาได้คนขับเกวียนก็แก้มัดให้จระเข้ แต่จระเข้คิดเนรคุณคนขับเกวียนด้วยการขอกินวัวของคนขับเกวียน หากไม่ยอมก็จะกินคนขับเกวียนเสียเอง ฝ่ายคนขับเกวียนเดินร้องไห้มาพบกระต่ายและขอความช่วยเหลือ จระเข้ให้การว่าคนขับเกวียนผู้นี้ทรมานตนด้วยการมัดแน่นเกินไป กระต่ายจึงขอให้คนขับเกวียนมัดจระเข้ให้ตนดูว่าแน่นจริงหรือไม่ ฝ่ายจระเข้กลัวว่ากระต่ายจะไม่เชื่อตนจึงสั่งให้คนขับเกวียนมัดแน่นขึ้นอีกจนจระเข้หายใจไม่ออก ในขณะนั้นเองกระต่ายซึ่งมีปัญญามากก็กล่าวตำหนิจระเข้ว่าเนรคุณ คิดทำร้ายผู้ที่ช่วยเหลือตน แล้วสั่งให้คนขับเกวียนฆ่าจระเข้ทิ้งเสีย
ภาพที่ 3 กระต่ายกำลังตัดสินความระหว่างคนขับเกวียนกับจระเข้
จากแอพพลิเคชันเล่านิทานสำหรับเด็กในกัมพูชา
แหล่งที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/75775/ey-sey-storytime-app-designed-pre-schoolers/
นอกจากนี้ยังมีนิทานเรื่องหนึ่งที่เล่าเกี่ยวกับกระต่ายใช้สติปัญญาในการเอาตัวรอดได้ เช่น กระต่ายหิวมาก เมื่อมันเห็นหญิงชราเดินหาบกล้วยเร่ขายผ่านมาก็แกล้งตายนอน หญิงชราเข้าใจผิดคิดว่ากระต่ายตายแล้วจึงหยิบใส่ในตะกร้าที่มีกล้วยเพื่อนำกลับไปทำอาหารที่บ้าน กระต่ายหยิบกล้วยในตะกร้าปอกกินจนหมดแล้วกระโดดหนีไป เมื่อมีคนร้องเรียกซื้อกล้วยหญิงชราจึงพบว่าถูกกระต่ายหลอกกินกล้วยจนหมด
นิทานเรื่อง “เสือ ลิง กระต่าย” เป็นอีกเรื่องหนึ่งกระต่ายใช้สติปัญญาเอาชนะสัตว์ใหญ่อย่างเสือได้ด้วย เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า เสือตัวหนึ่งต้องการกินกระต่ายเป็นอาหาร กระต่ายที่อยู่ในพงหญ้าจึงแกล้งพูดขึ้นว่าวันนี้กินช้างเข้าไปหลายตัวยังไม่อิ่มเลย ฝ่ายเสือได้ยินกระต่ายพูดเกิดความกลัวจึงขอให้ลิงมาช่วยไปเป็นเพื่อนโดยใช้เชือกผูกตัวติดกันไว้ไม่ให้ลิงหนีปีนขึ้นต้นไม้ เมื่อกระต่ายเห็นเสือกับลิงก็พูดว่า “เจ้าลิงติดหนี้ข้าอยู่ 4-5 ปี บัดนี้จับเสือผอมมาเป็นอาหารให้ข้าแล้ว” เสือได้ยินดังนั้นก็เข้าใจผิดว่าลิงเป็นพวกเดียวกับกระต่ายจึงรีบวิ่งหนีไปด้วยความตกใจ
จากตัวอย่างนิทานหลายเรื่องจะเห็นว่าความเจ้าปัญญาของกระต่ายยังแฝงไปด้วยความเจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือฉลาดแกมโกงด้วย อย่างไรก็ตาม กระต่ายปัญญา “โซะเพียต็วนซาย” ก็มักมีคุณธรรมข้อสำคัญที่รักความถูกต้อง ความยุติธรรม และการรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี และการออกแบบมาสคอตเป็น รูปกระต่ายนุ่งผ้าอย่างกีฬา “ลบกกโต” ก็นับว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำเสนออัตลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรมเขมร และเชื่อมโยงกับคำสอนและคุณธรรมที่ชาวเขมรยึดถือผ่านนิทานเกี่ยวกับกระต่าย ตลอดจนความภาคภูมิใจในอารยธรรมเขมรตั้งแต่บรรพกาลที่ชาวเขมรได้ธำรงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน