Museum Core
การไปรษณีย์สยามในยามสงคราม
Museum Core
21 มี.ค. 66 1K

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

               สงครามใหญ่ที่เคยอุบัติขึ้นบนโลก ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 นำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่มวลมนุษยชาติในทุกด้าน หนักหนาถึงขั้นเป็นความตายจากกันไป และไม่น้อยไม่สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนในครอบครัว ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย

               ทว่า ในความจำกัดยามสงคราม ยังพอมีพื้นที่หนึ่งให้ผู้คนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังติดต่อกันได้บ้างผ่านเครือข่ายการไปรษณีย์โทรเลข และบนดวงแสตมป์ของการไปรษณีย์สยามชุดหนึ่ง ยังบันทึกเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ด้วย

               เที่ยงคืนวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ย่างเข้าสู่วันที่ 22 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงลงพระปรมาภิไธยในคำประกาศสงครามกับกลุ่มมหาอำนาจกลาง ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกี โดยร่วมรบกับกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส
รัสเซีย อเมริกา พร้อมกันนี้ได้จัดส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบด้วย

 

ภาพที่ 1 ทหารไทยถ่ายที่สถานีรถไฟก่อนเดินทางไปสู่ยุทธบริเวณ

แหล่งที่มาภาพ: https://www.blockdit.com/posts/5ec12797a1e1040cb367b158

 

               นอกจากนี้ยังออกประกาศ ข้อบังคับพิเศษแสดงหลักการปกครองทหารไปราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขต ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่กองทหารแรกเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศส และเลิกใช้เมื่อสิ้นราชการสงครามกลับมาถึงสยาม มีข้อหนึ่งกล่าวถึง “การติดต่อของทหารอาสากับญาติมิตรนอกประเทศฝรั่งเศส สามารถส่งไปรษณีย์ทหารไม่ต้องเสียค่าตั๋วไปรษณีย์”

                โดยให้เขียนส่งกลับมาสยามได้ หน้าซองต้องเขียนนามและตำบลผู้รับเป็นภาษาไทย และเขียนว่า “ทหารไทยในประเทศฝรั่งเศส” เป็นภาษาไทย และเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Par Singapore (Bangkok) Siam” ให้ผู้บังคับบัญชาประทับตราอนุญาตเสียก่อนจึงส่งได้ แต่หากพบว่าเขียนเรื่องเกี่ยวกับราชการจะได้รับโทษทันที นั่นเท่ากับว่าให้ทหารเขียนเรื่องส่วนตัวถึงครอบครัวและญาติมิตรได้เท่านั้น

 

ภาพที่ 2 กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส

ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

แหล่งที่มาภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_42927

 

               ล่วงมาถึง พ.ศ. 2461 หลังจากรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับรายงานจากโทรเลขที่ส่งมาโดยคณะทูตทหารไทยในประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่าฝ่ายข้าศึกยอมแพ้สงคราม และประเทศสยามซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานวันเฉลิมฉลองชัยชนะพระราชสงครามขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม ณ ท้องสนามหลวง และโปรดให้กรมไปรษณีย์โทรเลขจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกออกจำหน่ายด้วย

                ตราไปรษณีย์ชุดดังกล่าวคือ “ชุดวันชัย” โดยการนำแสตมป์ชุดลอนดอนที่จัดสร้างมาแล้วก่อนหน้า และออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 จำนวน 9 ชนิดราคาได้แก่ 2 สตางค์ (330,000 ดวง), 3 สตางค์ (111,118 ดวง), 5 สตางค์ (111,000 ดวง), 10 สตางค์ (66,000 ดวง), 15 สตางค์ (55,000 ดวง) 1 บาท (5,500 ดวง), 2 บาท (3,300 ดวง), 3 บาท (2,461 ดวง) และ 5 บาท (1,918 ดวง) มาพิมพ์ทับด้วยหมึกแดง ปรากฏข้อความภาษาไทยว่า “วันชัย” และข้อความภาษาอังกฤษว่า “VICTORY” การพิมพ์ทับครั้งนี้โดยบริษัท เค โอยามา จำกัด

                จากจำนวนพิมพ์ทับพบว่ามี 3 ชนิดราคาที่จำนวนเป็นเศษไม่ลงตัวเหมือนชนิดราคาอื่น ๆ นั่นคือ ชนิดราคา 3 สตางค์ และ 5 บาท มีเศษ 18 ดวง ส่วนชนิดราคา 3 บาท มีเศษ 61 ดวง อย่างเป็นปริศนาและยังไม่สามารถอธิบายได้ถึงทุกวันนี้ ทว่า ‘พูนพิน’ (นามแฝง) นักเขียนของสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

                ชนิดราคา 3 สตางค์ จำนวนพิมพ์ 111,118 ดวง ซึ่งมีความหมายถึง วันสงบศึก หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) และสามารถเขียนเป็นตัวเลขคริสต์ศักราชอย่างย่อได้ว่า “11.11.18” ชนิดราคา 3 บาท จำนวนพิมพ์ 2,461 ดวง ตัวเลข “2461” ตรงกับ พ.ศ. วันสงบศึก ขณะที่ชนิดราคา 5 บาท จำนวนพิมพ์ 1,918 ดวง ตัวเลข “1918” ตรงกับ ค.ศ. วันสงบศึก

 

ภาพที่ 3 ตราไปรษณียากรชุดวันชัย

แหล่งมาภาพ http://www.stampthailand.com/product/13435

 

               ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2489) เมื่อกองทัพนาซีของเยอรมนีบุกเข้าโจมตีโปแลนด์และลุกลามไปทั่วทั้งยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำเข้าขั้นข้าวยากหมากแพง การติดต่อสื่อสารถึงกันลำบาก ต่อเนื่องกันเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยมีเหตุให้ต้องยอมเป็นมิตรกับฝ่ายอักษะ และตัดขาดการติดต่อกับต่างประเทศ ข่าวสารที่ได้รับจะมาจากทางวิทยุโทรเลขที่มาจากเยอรมนีและญี่ปุ่นเท่านั้น

               ในช่วงเวลานั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการรับส่งข่าวสารความเป็นไปของสงครามโลกจากต่างประเทศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งมาจากการรับข่าวทางวิทยุโทรเลขของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยวิทยุโทรเลขนี่เองเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประเทศไทยติดต่อกับประเทศที่เป็นกลางในยุโรป เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสงคราม

 

 

ภาพที่ 4 เสรีไทยสายอเมริกา

แหล่งที่มาภาพ https://pridi.or.th/th/content/2020/08/401

 

               ที่สำคัญ ยังติดต่อกับ “เสรีไทย” ที่อยู่ในต่างประเทศอย่างลับ ๆ เพื่อแสดงถึงการเป็นแนวร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งความพยายามของขบวนการเสรีไทย ได้ส่งผลให้ประเทศไทยรอดพ้นการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

               ครั้งหนึ่ง เมื่อกองทหารญี่ปุ่นยื่นคำขาดขอเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปยังพม่าและมลายู โดยไม่รอคำตอบจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลาประมาณตีห้า กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยึดพื้นที่ของกองบินน้อยที่ 5 การสู้รบดำเนินไปอย่างหนัก

               จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม เวลาเที่ยงโดยประมาณ ร้อยตำรวจโทสงบ พรหมรานนท์ พร้อมด้วยบุรุษไปรษณีย์พยายามนำโทรเลขของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แจ้งกับผู้บังคับการกองบินน้อยที่ 5 ให้ทราบว่า ทางรัฐบาลยินยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่าได้ ทว่าร้อยตำรวจโทสงบถูกกระสุนปืนจากการสู้รบเสียชีวิตทันที

 

ภาพที่ 5 เสรีไทยสายอังกฤษ

แหล่งที่มาภาพ https://pridi.or.th/th/content/2020/08/401

 

               บุรุษไปรษณีย์จึงว่ายน้ำ นำโทรเลขจากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขประจวบคีรีขันธ์ข้ามอ่าวมะนาวไปขึ้นที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวก และสามารถนำส่งโทรเลขได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเวลาบ่ายโมง ต่อมาเหตุการณ์สู้รบชนิดข้ามวันข้ามคืนได้ยุติลงหลังจากนั้นราวหนึ่งชั่วโมง

               หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขประจวบคีรีขันธ์ในช่วงนั้นคือ นายกมล ศรีสวัสดิ์ ส่วนบุรุษไปรษณีย์นำจ่ายไปรษณีย์โทรเลข ผู้ได้รับมอบหมายให้นำจ่ายโทรเลขฉบับประวัตศาสตร์คือ “นายตี๋” (ไม่ทราบนามสกุล)

               แม้สงครามโลกทั้งสองครั้งได้ยุติไปเนิ่นนาน แต่ต้องบันทึกไว้ว่าการไปรษณีย์สยามเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ๆ ให้ครบมุมขึ้น อีกทั้งยังได้รับใช้สังคมไทยอย่างภาคภูมิ ทั้งผ่านแสตมป์ดวงเล็ก ๆ ทั้งเป็นช่องทางให้เสรีไทยทำงานได้สะดวกขึ้น และปรากฏวีรกรรมบุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งผู้กล้าหาญ

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1

วารสารสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ฉบับ 38 ก.ค. – ต.ค. 2560

            - 100 ปี ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1,จิรวิทย์ เทพพรชัย

            - แสตมป์ชุดวันชัย,’พูนพิน’

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ