Museum Core
นักษัตรประจำปีย้ายในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ไม่ใช่วันมหาสงกรานต์
Museum Core
21 มี.ค. 66 2K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               โดยทั่วไปแล้วคนมักสับสนกันว่า ‘นักษัตร’ ประจำปีทั้ง 12 ราศี ไม่ว่าจะเป็น ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ, มะโรง เรื่อยไปจนถึงปีสุดท้ายคือปีกุนนั้น จะเปลี่ยนผลัดราศีกันที่วันมหาสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ของแต่ละปี เพราะมักเรียกกันว่า วันสงกรานต์นั้นเป็น ‘วันขึ้นปีใหม่ไทย’ ดังนั้นถ้าไม่เปลี่ยนกันตอนข้ามปีแล้วจะให้ไปเปลี่ยนตอนไหน?

                คนมักเข้าใจกันอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะถึงแม้ว่า ‘สงกรานต์’ จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของแขกอินเดีย (ดูจากชื่อก็น่าจะรู้ได้ไม่ยาก) แต่เรามักเหมาเอาว่า อะไรๆ ที่เป็นชื่อแขกนั้น ย่อมเป็นของไทยแท้อยู่บ่อยๆ ดังนั้นการที่บัญญัติเรียกชื่อกลุ่มสัตว์ 12 ตัวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำปีนั้นว่า ‘นักษัตร’ อันเป็นภาษาแขกเหมือนกันแล้วก็น่าจะเคลื่อนราศีกันตอนวันสงกรานต์ไปด้วย

                แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า ‘นักษัตร’ ที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตคำนี้มีความหมายถึง ‘ดาวฤกษ์’ (ตามคติแขกมี 27 กลุ่มดาว) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกลุ่มของสัตว์ทั้ง 12 ตัว ที่เรามาเรียกกันในโลกภาษาไทยว่า 12 นักษัตรเลย เพราะนักษัตรทั้ง 12 นี้ไม่ได้มีที่มาจากดวงดาวบนท้องฟ้า

                และถ้าว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว คติเรื่องเจ้าสัตว์ประจำปีทั้ง 12 ตัวนี้ ไม่ได้มีในอินเดียเสียด้วยซ้ำไป หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับ 12 นักษัตร ประจำปีนั้น อยู่ในวัฒนธรรมจีนต่างหาก

 

ภาพที่ 1: การนำลวดลายแสดงรูปนักษัตรประจำปี ในการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ในจีน

แสดงให้เห็นถึงภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งของแนวคิด

เรื่องนักษัตรประจำปีได้เป็นอย่างดี

แหล่งที่มาภาพ: https://www.bennionkearny.com/book/chinese-horoscope-thrive-in-the-year-of-the-rabbit-2023/

 

               จีนมีตำนานเรื่องกำเนิดของนักษัตรทั้ง 12 นี้อยู่มากมาย แต่ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายที่สุดตำนานหนึ่งนั้นก็คือว่า ปราชญ์ท่านหนึ่งในราชสำนักของจักรพรรดิเหลือง หรือ ‘หวงตี้’ ผู้เป็นกษัตริย์ในตำนาน ควบตำแหน่งวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของจีนนั้น เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการนับ และลำดับเวลา

               ในตำนานเรื่องนี้ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า การนับปีชวดเป็นปีแรกสุดของลำดับนักษัตรนี้ก็เพราะว่าเป็นปีที่จักรพรรดิเหลืองลืมตาขึ้นมาดูโลก จึงตั้งไว้เป็นลำดับแรก นัยว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ

               ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ชาวจีนเรียก 12 นักษัตร ในสำเนียงแบบจีนแมนดารินว่า ‘หวงต้าวไต้’

               เพราะถึงแม้ว่า คำว่า ‘หวง’ ซึ่งโดยปกติจะแปลว่า ‘สีเหลือง’ แต่ก็เป็นคำย่อที่หมายถึง “จักรพรรดิเหลือง” คือ “หวงตี้” ได้แบบไม่เคอะเขิน

               ในขณะที่คำว่า ‘ต้าว’ ในที่นี้หมายถึง ‘วิถี’ ส่วน ‘ไต้’ นั้นคือ ‘วัฏ’

               รวมความแล้วจึงควรหมายถึง ‘วัฏวิถีของจักรพรรดิเหลือง’ มากกว่าที่จะเป็น ‘วัฏวิถีสีเหลือง’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวจีนที่ยกคุณงามความดีเกี่ยวกับการประดิษฐ์ระบบ 12 นักษัตรให้กับยุคสมัยและราชสำนักของวีรบุรุษในตำนานอย่างจักรพรรดิเหลืองได้เป็นอย่างดี (ชุดสัตว์ประจำปีทั้ง 12 ตัวของจีนนี้ จึงตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘zodiac’ ที่มีรากมาจากภาษาละตินว่า ‘zodiacus’ โดยมีความหมายว่า ‘วงโคจรของพวกสัตว์เล็กๆ’ มากกว่าคำว่า นักษัตรในภาษาสันสกฤต เพราะนักษัตรทั้ง 12 ของจีนนั้นเป็นเรื่องของสรรพสัตว์ล้วน)

               แต่ถึงเป็นอย่างนั้นก็ตาม ตำนานดังกล่าวก็ยังคงเป็นแค่เรื่องเล่าที่ถูกแต่งขึ้น เพื่อใช้อธิบายเหตุที่คนสมัยหลังไม่เข้าใจเท่านั้นอยู่ดี เพราะถ้าระบบ 12 นักษัตรที่ว่านี้เพิ่งถูกแต่งขึ้นในราชสำนักของจักรพรรดิเหลืองจริงๆ แล้ว พระองค์ทราบได้อย่างไรว่าตนเองเกิดเมื่อปีชวด เพราะพระองค์ย่อมต้องเกิดมาก่อนที่จะมีระบบ 12 นักษัตรไม่ใช่หรือ?

 

ภาพที่ 2: ประติมากรรมรูป ‘หวงตี้’ จักรพรรดิเหลือง สร้างในช่วงศตวรรษที่ 20

จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน 

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Yellow_Emperor

 

               อันที่จริงแล้วไม่มีหลักฐานอะไรระบุได้แน่ชัดว่าระบบ 12 นักษัตรกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่? รู้ก็เพียงว่าเกิดขึ้นที่จีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าที่อื่นๆ เท่านั้นแหละ

               แต่การตอบคำถามดังกล่าวนี้ได้นั้น ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่มืดมนไปจนแปดด้านเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยก็ยังมีร่องรอยพอที่สืบสาวให้ระบุได้อย่างคร่าวว่าแนวคิดเรื่องนักษัตรที่ว่านี้เก่าแก่แค่ไหน?

                ในหนังสือเก่าอีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ลุ่นเหิง’ ได้กล่าวถึงชื่อสัตว์ต่างๆ ที่ตรงกันกับ 12 นักษัตร เช่น บรรพ
อู้ซื่อ ในหนังสือเรื่องนี้มีข้อความระบุว่า

                “...ยามหยินคือไม้ สัตว์ประจำของหยินคือเสือ ยามซวีคือดิน สัตว์ประจำของซวีคือสุนัข...ยามอู่คือม้า จื่อคือหนู ยามโหย่วคือไก่ ยามเหมาคือกระต่าย...ยามไฮ่คือสุกร ยามเว่ยคือแพะ ยามโฉว่คือวัว...ยามซื่อคืองู ยามเซินคือลิง...”

                เช่นเดียวกับในหมวดเหยียนตู๋ ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่ก็มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

                 “...ยามเฉินคือมังกร ยามซื่อคืองู...”

 

               ดังนั้นจำนวนนักษัตรทั้ง 12 อันประกอบไปด้วยสิงสาราสัตว์ทั้งที่มีอยู่จริงและมีอยู่ในปรัมปรานิยายอย่างมังกรจึงเป็นรูปเป็นร่าง คือ มีระเบียบแบบแผนและมีลำดับรวมถึงสมาชิกภาพทั้ง 12 ที่ชัดเจนมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ได้มีการแต่งหนังสือลุ่นเหิงดังกล่าวนี้แล้ว

               ส่วนหนังสือ “ลุ่นเหิง” นี้ เป็นผลงานจากภูมิปัญญาของ “หวางชง” หนึ่งในเมธีสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. 568-763) ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดระบบ 12 นักษัตรก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้วในช่วงยุคสมัยที่ว่า และทำให้นักวิชาการของจีนบางท่านเชื่อว่า เรื่องของ 12 นักษัตรนั้นควรเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปก่อนช่วงราชวงศ์ดังกล่าวนี้แล้ว

 

ภาพที่ 3: 12 นักษัตรประจำปีล้อมรอบลวดลายหยินหยาง ที่วัดชิงหยางกง ในศาสนาเต๋า

เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_zodiac#/media/File:Daoist-symbols_Qingyanggong_Chengdu.jpg

 

               ในหนังสือเก่าของจีนอีกฉบับที่มีการแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ไคเภ็ก’ ซึ่งเป็นตำนาน (กึ่งพงศาวดาร) ว่าด้วยการกำเนิดของโลกและการกำหนด ‘วัน-เดือน-ปี’ ตามคติอย่างจีนนั้นมีข้อความระบุว่า

               “...เทียนอ่องสีเมื่อจะมาเกิดนั้นอายฟ้าอายดิน ทั้งสองกระทบสัมผัสกันแล้วเกิดเป็นศิลากลมก้อนหนึ่งใหญ่ แล้วแตกแปรไปเป็นก้อนเล็กๆอีกสิบสองก้อน  เกิดเป็นคนขึ้นสิบสามคน และก้อนใหญ่นั้นคือเทียนอ่องสี

                และเทียนอ่องสีนั้นแปลว่าเจ้าแผ่นดิน มีสีอันขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว ตัวสูงสามตึ่งห้าเชียคือสิบสองศอกคืบหน้านั้นมีสีนวลขาว สีปากนั้นแดงเหมือนชาด แต่คนสิบสองคนก็นับถือว่าเป็นพี่น้องกัน จึงได้คำนับเทียนอ่องสีเป็นเจ้าฮ่องเต้ มนุษย์ก็เกิดขึ้นด้วยธรรมดานิยม อุตุนิยมอุปปาติกกำเนิดเปรียบเหมือนเขาว่าคนเกิดขึ้นในดอกไม้ดอกบัว และเกิดขึ้นด้วยอายฟ้าอายดินอากาศเป็นรูปหญิงรูปชายขึ้น จึงเป็นพืชพันธุ์ต่อๆ กันมาทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน

                ครั้งนั้นยังไม่มีเดือนมีตะวัน มนุษย์ได้พึ่งแสงสว่างด้วยรัศมีพระและเทวดามาช่วยอุปภัมภ์อยู่ ขณะนั้นก็ยังไม่มีแซ่และชื่อ แล้วก็ต่างแยกย้ายกันไปอยู่ทุกทิศ ครั้งกาลนานมาเทียนอ่องสีฮ่องเต้ เรียกน้องชายทั้งสิบสองคนมาชุมนุมแล้วจึงว่า เราจะตั้งให้มีปีสิบสองปีบรรจบเป็นรอบหนึ่ง จะให้ท่านทั้งสิบสองคนเป็นชื่อปีกำกับทั้งสิบสองปี น้องสิบสองคนได้ฟังพี่ชายคิดกระทำขึ้นดังนั้นก็มีความยินดียอมรับว่าควร แล้วต่างคนต่างไปที่อยู่ของตัวดังเก่า...”

              ถึงแม้ว่าข้อความในหนังสือไคเภ็กจะไม่ได้เอ่ยถึง 12 นักษัตรออกมาตรงๆ แต่ก็สังเกตได้ไม่ยากว่า น้องชายทั้ง 12 คนของเทียนอ่องสีฮ่องเต้ คือต้นแบบของ 12 นักษัตรที่มีรูปสัตว์นานาชนิดเป็นสัญลักษณ์ และเมื่อระบบการนับเวลาในรอบวัฏจักรแต่ละปี สัมพันธ์อยู่กับกำเนิดของโลกที่แบ่งเป็น 12 ส่วนตามจำนวนน้องชายเทียนอ่องสีฮ่องเต้อย่างนี้แล้ว การนับเวลาในระดับที่ยิบย่อยลงไปก็ย่อมถูกทำให้สัมพันธ์กันด้วยการแบ่งแต่ละช่วงเวลาเป็น 12 ส่วนเช่นกันดังปรากฏอยู่ในหนังสือลุ่นเหิงที่ผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นนี้ด้วย

              ไทย (รวมถึงวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์) เมื่อรับเอาระบบคิดเรื่อง ‘นักษัตร’ ประจำปีมาจากจีนก็ได้รับเอาวิธีคิดเรื่องการผลัดเปลี่ยนราศีนักษัตรประจำแต่ละปีให้ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ของตนเอง หรือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ (ราว 15 วันหลังวันลอยกระทง) ส่วนจีนก็ยังผลัดเปลี่ยนนักษัตรในช่วงปีใหม่ของตนเองคือช่วงตรุษจีน ส่วนอินเดียนั้นไม่รู้จักนักษัตรประจำปีจึงไม่มีคตินิยมเรื่องการผลัดราศีของ 12 นักษัตรประจำปีในช่วงปีใหม่นั่นเอง

 

ภาพที่ 4: หนังสือไคเภ็ก ฉบับแปลเป็นภาษาไทย

แหล่งที่มาภาพ: https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=moonfleet&month=12-2008&date=07&group=38&gblog=42

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ