Museum Core
ฟิลลิส วีทลีย์ กวีหญิงผิวสีคนแรกในอเมริกา
Museum Core
21 ก.พ. 66 83

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 
 
สวรรค์พาข้ามาจากแดนดง         ดวงจิตหายงุนงงครั้นได้ทราบ
ว่าโลกนี้มีพระผู้ไถ่บาป                        และพระเจ้าที่ข้ากราบไหว้บูชา
พวกเขาดูแคลนเราเผ่าคนดำ               ว่าผิวคล้ำช่างบัดสีเป็นนักหนา
แต่จงจำเถิดเหล่าภราดา                     ทุกวิญญาณ์มุ่งสู่ฟ้าแผ่นเดียวกัน
 
จากบทกวี On Being Brought From Africa to America
โดย ฟิลลิส วีทลีย์
 

 

               ในปีค.ศ. 1986 ชาวไทยทั้งประเทศได้เป็นสักขีพยานเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อองค์การ
ยูเนสโกประกาศให้พระศรีสุนทรโวหาร หรือที่ชาวสยามรู้จักกันในนาม “สุนทรภู่” เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ข่าวที่ว่าสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยเป็นอย่างมาก นอกจากทักษะทางภาษาที่โดดเด่นเกินผู้ใด สุนทรภู่ยังเป็นหนึ่งในคนธรรมดาไม่กี่คนที่สร้างชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ไทย กวีชายไม่ได้มาจากตระกูลที่มั่งคั่ง ทว่าชาติกำเนิดไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการประพันธ์ เหล่าผู้มีพรสวรรค์ล้วนเฉิดฉายแม้อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เช่นเดียวกับหนึ่งนารีที่เกิดมาเป็นทาส แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้วางรากฐานวรรณกรรมแอฟริกันอเมริกันยุคใหม่ หญิงผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ฟิลลิส วีทลีย์ (Phillis Wheatley)” กวีหญิงผิวสีคนแรกในอเมริกา เรื่องราวของฟิลลิสจะสุขเศร้าเคล้าน้ำตาเพียงใดนั้น เราไปรู้จักหล่อนพร้อมๆ กัน 

ภาพที่ 1 ฟิลลิส วีทลีย์ กวีหญิงผิวสีคนแรกในอเมริกา

แหล่งที่มาภาพ: Poetry Foundation. Phillis Wheatley. (2022). [Online]. Accessed 2022 Nov 28. Available from: https://www.poetryfoundation.org/poets/phillis-wheatley

 

               ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1761 เรือขนทาสเดอะฟิลลิส (The Phillis) ที่ล่องมาจากแม่น้ำแกมเบียได้เทียบท่าที่อ่าวแมสซาชูเซตส์ ณ เมืองบอสตัน อาณานิคมอังกฤษในขณะนั้น หนึ่งในทาสหลายร้อยคนที่ถูกนำตัวมาจากกาฬทวีป มีเด็กหญิงอายุราว 8 ขวบเศษรวมอยู่ด้วย เด็กน้อยถูกซื้อตัวจากการประมูลโดยจอห์น วีทลีย์ (John Wheatley) พ่อค้าผ้าผู้มั่งคั่ง จอห์นพาหล่อนกลับบ้านและมอบหมายหน้าที่สาวใช้ประจำตัวซูซานนา (Susanna) ผู้เป็นภรรยาให้เด็กใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เด็กหญิงก็ได้นามใหม่ว่า ฟิลลิส วีทลีย์ โดยใช้ชื่อต้นจากเรือโดยสารที่พาตนมายังโลกใหม่ และนามสกุลของคนขาวที่กลายเป็นเจ้านายภายในชั่วข้ามคืน

 

ภาพที่ 2 การประมูลซื้อขายทาสในอเมริกา

แหล่งที่มาภาพ: Encyclopedia Virginia. Slave Trade. (2020). [Online]. Accessed 2022 Nov 28.

Available from: https://encyclopediavirginia.org/entries/slave-trade-eyre-crowes-images-of-the/

 

                สามีภรรยาวีทลีย์มีบุตรชายชื่อว่านาธาเนียล (Nathaniel) ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี พวกเขาได้สูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รัก อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ครอบครัววีทลีย์จึงเอ็นดูฟิลลิสเป็นอย่างมาก ซูซานนาและบุตรชายสอนให้เด็กหญิงเรียนเขียนอ่าน พวกเขาตระหนักในไม่ช้าว่าฟิลลิสเป็นเด็กเฉลียวฉลาด เมื่ออายุ 12 ปี ฟิลลิสสามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษ กรีก และละตินอย่างคล่องแคล่ว สองปีหลังจากนั้นฟิลลิสค้นพบพรสวรรค์ในการประพันธ์ เด็กหญิงวัย 14 ปีเขียนจดหมายถึงบาทหลวงในหมู่บ้าน รวมถึงแต่งบทกวีสั้นเพื่อให้กับมิตรสหายในชุมชน สมาชิกครอบครัววีทลีย์ต่างภูมิใจในเรื่องนี้ พวกเขามักจัดงานสังสรรค์และชักชวนให้ฟิลลิสท่องบทกวีต่อหน้าเพื่อนบ้านและหมู่ญาติอยู่บ่อยครั้ง

               ครั้นเห็นว่าเด็กสาวเพลิดเพลินกับการศึกษา ซูซานนาจึงอนุญาตให้ฟิลลิสใช้เวลาไปกับการอ่านตำราแทนหน้าที่สาวใช้ในแต่ละวัน หล่อนเขียนบทกวีภาษาอังกฤษมากมาย งานเขียนส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากนักประพันธ์ชื่อก้องอย่างอเล็กซานเดอร์ โปป (Alexander Pope) จอห์น มิลตัน (John Milton) โฮเมอร์ (Homer) และเวอร์จิล (Virgil) ทว่าผู้ที่มีอิทธิพลกับบทกวีของฟิลลิสที่สุดกลับเป็นจอร์จ ไวท์ฟิลด์ (George Whitefield) บาทหลวงนิกายแองกลิกันผู้นำการตื่นรู้ครั้งยิ่งใหญ่ทางศาสนา (The Great Awakening) ในอเมริกา ฟิลลิสศรัทธาในคำสอนของไวท์ฟิลด์เป็นอย่างมาก และในปีค.ศ. 1770 หลังจากที่สาธุคุณเสียชีวิต ฟิลลิสก็ได้แต่งบทกวีไว้อาลัยให้กับการจากไปของนักเทศน์ผู้อารี บทร้อยกรองครั้งนี้สร้างชื่อเสียงให้ทาสสาวอย่างล้นหลาม เป็นเหตุให้สามีภรรยาวีทลีย์เริ่มผลักดันผลงานของฟิลลิสให้ได้รับการตีพิมพ์ในเวลาต่อมา

               ทว่า แม้ได้รับแรงสนับสนุนจากเจ้านาย แต่การตีพิมพ์หนังสือรวมบทกวีกลับไม่ง่ายดายเช่นนั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แทบไม่มีสตรีคนใดในอเมริกาได้รับการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีพรสวรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ ทว่าฟิลลิสก็ยังมีสถานะเป็นเพียงทาส ไม่มีโรงพิมพ์ใดในบอสตันยอมเผยแพร่ต้นฉบับของหล่อน ด้วยเหตุนั้นในปีค.ศ. 1773 ครอบครัววีทลีย์จึงมอบหมายให้นาธาเนียลผู้เป็นบุตรชายพาฟิลลิสไปยังเกาะอังกฤษเพื่อหาผู้สนับสนุน การเดินทางไปลอนดอนครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นาธาเนียลได้จัดการนัดหมายให้ฟิลลิสได้พบคนใหญ่คนโตชาวอังกฤษและอเมริกัน หนึ่งในนั้นคือเบนจามิน แฟรงคลิน รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา แฟรงคลินเขียนในบันทึกส่วนตัวว่าประทับใจเพียงใดที่ได้พบกวีหญิงผิวดำในที่สุด

                นอกจากแฟรงคลินแล้ว บทกวีของฟิลลิสยังเป็นที่ชื่นชอบของเซลินา เฮสติงส์ เคาน์เตสแห่งฮันทิงดัน (Selina Hastings, Countess of Huntingdon) เคาน์เตสได้อาสาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการตีพิมพ์ผลงานเล่มแรกของฟิลลิส ภายใต้ชื่อ “รวมบทกวีหลากหลายเรื่องราว ศาสนา และศีลธรรม (Poems on Various Subjects, Religious and Moral)” หนังสือเล่มนี้เรียกเสียงฮือฮาทั้งในอังกฤษและอเมริกา ผู้คนสมัยนั้นมีข้อกังขาว่าคนดำมีทักษะและมันสมองเทียบเท่ากับคนขาวหรือไม่ ทว่าความสามารถของฟิลลิสทำให้คนขาวสิ้นข้อสงสัยและจุดประกายความคิดให้กับคนเหล่านั้นว่า แท้จริงคนผิวสีเองก็เป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับพวกตน

 

ภาพที่ 3 รวมบทกวีหลากหลายเรื่องราว ศาสนา และศีลธรรม ผลงานของฟิลลิส วีทลีย์

แหล่งที่มาภาพ: Rob and Houghton. Wheatley, title page. (2014). [Online].

Accessed 2022 Nov 28. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Houghton_AC85.A%E2%84%93245.Zy773w_-_Wheatley,_title_page.jpg

 

               ฟิลลิสและนาธาเนียลเดินทางกลับบอสตันปลายปีค.ศ. 1773 หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ครอบครัววีทลีย์ก็ปลดปล่อยเด็กสาวจากความเป็นทาส ทว่าแม้จะได้อิสรภาพแต่ฟิลลิสก็ยังคงอาศัยอยู่กับอดีตเจ้านายเรื่อยมา ระหว่างนั้นหล่อนได้เขียนจดหมายติดต่อกับแกนนำกลุ่มเรียกร้องการเลิกทาส (Abolitionist Movement) ทั้งในอังกฤษและอเมริกา แม้ไม่ได้แสดงออกอย่างแข็งกร้าวแต่หญิงสาวก็สนับสนุนการเลิกทาสในอเมริกาอย่างเปิดเผย หล่อนใช้โวหารอุปมาในบทกวี โดยเปรียบนายคนขาวเสมือนฟาโรห์อียิปต์ที่บังคับชาวยิวมาเป็นทาส ฟิลลิสเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาเท่าเทียมกัน และแสดงความเห็นนั้นลงไปในจดหมายถึงนายพลจอร์จ วอชิงตันในปีค.ศ. 1775 เมื่อสงครามปฏิวัติอเมริกาได้ปะทุ ฟิลลิสหวังว่านายพลวอชิงตันจะสร้างชาติแห่งความเสมอภาค น่าเศร้าที่ในจดหมายตอบกลับของวอชิงตันต้นปีค.ศ. 1776 ท่านนายพลไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งที่หล่อนต้องการ แต่วอชิงตันก็ชื่นชมความสามารถในการประพันธ์ของฟิลลิสอย่างเปิดเผย และเชื้อเชิญให้หล่อนเข้าพบเป็นการส่วนตัวเพื่อแสดงบทกวีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1776

 

              ชีวิตของฟิลลิสมีอันต้องพลิกผันในปีค.ศ. 1778 เมื่อจอห์น วีทลีย์เสียชีวิต หญิงสาวที่บัดนี้ได้เป็นอิสระกลับเผชิญอุปสรรคเมื่อไม่มีอดีตเจ้านายสนับสนุน เช่นเดียวกับสตรีในสมัยเดียวกัน ฟิลลิสจำต้องแต่งงานกับจอห์น ปีเตอร์ส (John Peters) อิสรชนคนดำเพื่อหาคนคุ้มครอง นายปีเตอร์มีฐานะยากจน ฟิลลิสจึงจำใจทิ้งความฝันที่จะตีพิมพ์หนังสือรวมบทกวีเล่มที่สอง และในปีค.ศ. 1784 เมื่อสามีต้องโทษคุมขังเพราะหนี้สิน ฟิลลิสที่กำลังตั้งครรภ์ต้องทำงานหนักหลายเท่าตัวเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลูกในท้อง ทว่า เนื่องจากโรคประจำตัวและความเหนื่อยล้าที่สั่งสม ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1784 ฟิลลิสก็เสียชีวิตลงหลังคลอดบุตรได้ไม่นาน การจากไปของหล่อนถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่แห่งวงการการประพันธ์ เรื่องราวของหล่อนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของทาสผิวดำนับล้านในอเมริกาขณะนั้น ผลงานของฟิลลิสทำให้ผู้คนตระหนักว่า แม้ถูกลิดรอนอิสรภาพแต่คนขาวกลับไม่อาจปล้นชิงศักยภาพในตัวทาสเหล่านี้ได้

 

               อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชมบทกวีของทาสสาว ผู้คนร่วมสมัยมากมายต่างวิจารณ์ผลงานของฟิลลิส โดยเฉพาะโธมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในผู้วางรากฐานสหรัฐอเมริกา เจฟเฟอร์สันตำหนิว่าบทร้อยกรองของ
ฟิลลิสขาดความคิดสร้างสรรค์ เขาเชื่อว่าผลงานหล่อนเป็นเพียงการลอกเลียนและทำซ้ำ ขาดเอกลักษณ์ของบทประพันธ์ดังเช่นกวีดังในอดีต คำวิจารณ์ของเจฟเฟอร์สันชี้ให้เห็นว่า รัฐบุรุษอเมริกาไม่เชื่อว่าคนดำมีความสามารถทัดเทียมกันกับตน ทว่าการที่เจฟเฟอร์สันกล่าวถึงฟิลลิสในบันทึกส่วนตัวบ่งบอกว่า แม้จะชอบหรือไม่อย่างไร แต่เขาก็ไม่อาจเพิกเฉยต่องานเขียนของทาสสาวในคราวนั้น ชื่อเสียงของฟิลลิส วีทลีย์ได้เขย่าวงการวรรณกรรมร่วมสมัยและกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเรียกร้องการเลิกทาสทั้งในอังกฤษและอเมริกา เรื่องราวของฟิลลิส วีทลีย์จึงควรค่าแก่การเล่าขานต่อไปเพื่อให้ชาวโลกได้ตระหนักว่าแม้จะเป็นเพียงกวีทาสรากหญ้าแต่หญิงสาวธรรมดาก็สร้างชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ได้ด้วยความสามารถของตัวเอง

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Loscocco, Paula. Phillis Wheatley’s Miltonic Poetics. New York: Palgrave Macmillan, 2014.

Walters, Tracey L.. African American Literature and the Classicist Tradition: Black Women Writers

from Wheatley to Morrison. New York: Palgrave Macmillan, 2007.

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ