“ฟ้อนผี” เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของคนเมืองลำปาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคติในการนับถือบูชาบรรพบุรุษ คนในตระกูลจะเรียกผีของตนเองว่า ‘ผีปู่ย่า’ แต่คนนอกตระกูลจะเรียกว่า ‘ผีมด’ หรือ ‘ผีเม็ง’ ตามด้วยชื่อสถานที่ที่ต้นตระกูลตั้งถิ่นฐาน เช่น ผีมดบ้านดอกบัว ผีมดบ้านหัวเวียง ผีมดบ้านศรีชุม ผีเม็งบ้านเชียงราย ผีเม็งบ้านดง เป็นต้น กลุ่มตระกูลที่นับถือผีมดและผีเม็งนี้พบมากในเขตอำเภอเมืองลำปาง โดยเฉพาะชุมชนในเขตเทศบาล ตระกูลที่นับถือผีมดหรือผีเม็งเป็นผีปู่ย่านั้น จะมีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 100 หลังคาเรือน สามารถสืบสาวต้นตระกูลย้อนไปได้หลายรุ่น
พิธีกรรมฟ้อนผีมดและผีเม็งที่พบเห็นในเมืองลำปางน่าจะเป็นการลดรูปของพิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ย่าของเจ้าเมืองในฐานะผีเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากปัจจัยทางการเมืองการปกครอง โดยการประกอบพิธีกรรมฟ้อนผีมักทำในช่วงเดือน 4 เหนือ (มกราคม) – เดือน 9 เหนือ (มิถุนายน) บางกลุ่มทำพิธีกรรมทุกปี บางกลุ่มจะทำทุก ๆ 3 ปี มีการสร้างปะรำพิธีขึ้นมา จากนั้นจึงบอกกล่าวเครือญาติเดียวกันมาร่วมงาน มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงและมีการเข้าทรงผีปู่ย่าผ่านลูกหลานในตระกูล เพื่อลงมารับเครื่องเซ่นสังเวย มีการฟ้อนรำร่วมกัน มีการละเล่นในพิธีกรรม มักจัดพิธีกัน 2-3 วัน โดยรายละเอียดและขั้นตอนในพิธีกรรมของตระกูลผีมดแตกต่างจากตระกูลผีเม็ง เนื่องจากผีมดเป็นผีท้องถิ่น ในขณะที่ผีเม็งเป็นผีต่างถิ่น ลักษณะพิธีกรรมของผีเม็งคล้ายคลึงกับการรำผีมอญ
พิธีกรรมการฟ้อนผีมดและผีเม็งแพร่หลายในเมืองลำปางอย่างมาก ในยุคสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (ครองราชย์ พ.ศ. 2441 - 2465) เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ด้วยเจ้าบุญวาทย์ฯ ทรงโปรดให้ฟ้อนผี และเลี้ยงผีเป็นการภายในบริเวณหอผี (ที่สถิตย์ของวิญญาณบรรพบุรุษ) ด้านหลังหอคำ (วัง) กล่าวกันว่า หอผีมีขนาดใหญ่เท่ากับวิหารวัดสุชาดา ต่อมาเมื่อมีการรื้อหอคำก็ได้มีการรื้อหอผีออกไปด้วย ทำให้เกิดการแบ่งผีไปเลี้ยงนอกคุ้ม ตามแต่ว่าเจ้านายคนใดจะนำออกไป คุณูปการของเจ้าบุญวาทย์ฯ ต่อพิธีกรรมฟ้อนผีในเมืองลำปาง นอกจากทรงโปรดการฟ้อนผีแล้ว ยังทรงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรม หากบ้านไหนจัดฟ้อนผีต้องแจ้งให้ทราบ หากว่างจากกิจธุระก็มาชมพิธีกรรมด้วยพระองค์เอง แต่ถ้าหากติดกิจธุระก็ให้เจ้านายบุตรหลานไปแทน นอกจากไปเยี่ยมชมตระกูลต่าง ๆ ฟ้อนผีมดผีเม็งแล้ว เจ้าบุญวาทย์ฯ ยังทรงโปรดให้สร้างศาลาขนาด 9 ห้องให้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งประจำปี ณ ข่วงพญาปงลังกา หน้าวัดสุชาดาด้วย
การใส่ใจในพิธีกรรมฟ้อนผีของเจ้าผู้ครองนคร ทำให้สามารถรักษาประเพณีการนับถือผีและความสัมพันธ์เชิงเครือญาติไว้ได้ ในปัจจุบันนี้หากสืบย้อนกันไปในตระกูลต่าง ๆ ที่นับถือผีมดผีเม็งในเมืองลำปางจะพบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อสายเจ้านายตระกูล ณ ลำปางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การนับถือผีมดและผีเม็งสัมพันธ์กับเรื่องของเครือญาติและการแต่งงาน เมื่อแต่งงานเข้าตระกูลก็จะรับเข้านับถือผีของอีกตระกูลไปโดยปริยาย
ตามคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีปู่ย่า การสืบทอดผีปู่ย่ากระทำโดยฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะแต่งงานเข้าตระกูลฝ่ายหญิง กล่าวคือ ผู้ชายเข้ามาเป็นแรงงานในบ้านของแม่ยายและพ่อตาผ่านการสมรสกับฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะไม่ได้อยู่เรือนเดิมของตนอีกเว้นเสียแต่ได้รับเป็นมรดก พออายุครบ 15 ปี ก็จะแบ่งผีปู่ย่าของมารดากับทรัพย์เพียงเล็กน้อยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกเรือน ดังนั้นเมื่อผู้ชายแต่งงานเชิญผีปู่ย่าส่วนของตนที่ขอแบ่งมาไปรวมกับผีปู่ย่าของตระกูลภรรยา แม้ฝ่ายชายตายไปผีปู่ย่าของตนก็ไม่ได้กลับมาที่เรือนพ่อแม่อีก นอกจากการแต่งงานและความสัมพันธ์ทางเครือญาติแล้ว ในอดีตหากศรัทธาในผีปู่ย่าของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง บุคคลนั้นสามารถขอซื้อผีเพื่อไปบูชาและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลได้
เดิมระบบการนับถือผีปู่ย่าเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรทั้งแรงงาน มรดกที่ดิน และผลผลิต การมีผลผลิตส่วนเกินนำไปเลี้ยงผีปู่ย่าของตนได้แสดงถึงความกตัญญู อีกทั้งยังแสดงสถานภาพทางสังคมด้วย ทว่าในปัจจุบันการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในตระกูลได้เปลี่ยนแปลงไป วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนก็ต่างไปจากแต่ก่อน ไม่ได้เป็นผู้ผลิต ไม่มีที่ดินมรดก ไม่มีแรงงานคน หรือทรัพย์สินมากมายอย่างแต่ก่อน ตระกูลผีมดผีเม็งหลายกลุ่มกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง มีอาชีพและรายได้ที่ผันแปรไปตามระบบโครงสร้างทางสังคมไทย ไม่ใช่ล้านนาอีกต่อไป ผลผลิตส่วนเกินจึงไม่ใช่ผลผลิตทางการเกษตร แต่กลับกลายเป็นรายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพในสังคม การจับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงการจัดจ้างวงดนตรีปี่พาทย์พื้นเมืองเพื่อประกอบพิธีกรรมฟ้อนผี สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตของคนท้องถิ่น ที่ยังคงธำรงรักษาความเชื่อของตนไว้ได้เป็นอย่างดี
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
แก้วมงคล ชัยสุริยันต์ (เรียบเรียง). ผีของชาวลานนาไทยโบราน. ใน หนังสือแจกงานสพนางถมยา อินทรังสี.
ม.ป.ท.: โรงพิมพ์พระจันท์.
ณ ลำปางวรานุสรณ์. (2559). หนังสืออนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ เจ้าแม่ดวงตา ณ ลำปาง.
ศักดิ์ รัตนชัย. (2527). ลำปางกับภูมิหลังทางศิลปวัฒนธรรม. ใน เอกสารอัดสำเนา, เชิดชูเกียรติคุณหญิง
วลัย ลีลานุช. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2555). เจ้าที่และผีปู่ย่า พลวัตความรู้ของชาวบ้าน อำนาจและตัวตนของคนท้องถิ่น.
เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่