Museum Core
เคนเต: ผืนผ้าในตำนาน จิตวิญญาณของชาวกานา
Museum Core
04 พ.ย. 65 397

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               หากกล่าวถึงผ้าทอมือของไทย เชื่อว่าใครหลายคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมมัดหมี่ของภาคอีสาน ผ้าซิ่นตีนจกจากตำบลแม่แจ่ม หรือผ้าทอนาหมื่นศรีของจังหวัดตรัง ผ้าไทยแต่ละแบบล้วนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาและภูมิปัญญาในแต่ละท้องที่ อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ผ้าไทยเท่านั้น ภูมิภาคอื่นในโลกต่างก็มีผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน เนื่องจากผ้าเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ เมื่อผู้คนมีอาหารและที่อยู่อาศัย พวกเขาก็ต้องการผืนผ้าไว้ใช้ให้ความอบอุ่นและปกปิดร่างกาย และในวันนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับผืนผ้าชื่อดังแห่งกาฬทวีป ลึกเข้าไปทางตะวันตกในแผ่นดินแอฟริกา ยังคงมีกลุ่มช่างฝีมือที่ผลิตผ้าทอมืออันเลื่องชื่อ ชื่อของผ้าประเภทนี้คือเคนเต (Kente) หนึ่งในภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในหมู่ชาวอะชันติ (Ashanti) แห่งกานา เพราะอะไรผ้าทอธรรมดาจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของลูกหลานแอฟริกันทั้งผองในปัจจุบันนั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

               เคนเตเป็นชื่อเรียกผ้าทอสลับลายในแคว้นอะชันติ (Ashanti Region) ทางตอนใต้ของประเทศกานา ชื่อเคนเตมีที่มาจากคำในภาษาอะกัน (Akan) ว่า เคนเตน (Kenten) ที่มีความหมายว่า ตะกร้า เหตุที่ผืนผ้ามีชื่อเรียกเช่นนี้เนื่องจากในอดีต ชาวอะชันติริเริ่มทอผ้าจากใยปาล์มด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับการสานตะกร้า ผ้าที่ได้ออกมาจึงถูกเรียกเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เคนเตเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกผ้าทอที่มีลักษณะลวดลายเช่นนี้ ในขณะที่ชาวอะชันติเรียกผืนผ้าของตนว่า อึนเวนโตมา (Nwentoma) ที่มีความหมายตรงตัวว่า ผ้าทอมือ

ภาพที่ 1: แผนที่แสดงที่ตั้งแคว้นอะชันติในประเทศกานา

ที่มา: Manske, Magnus. Ghana Karte Politisch Ashanti. (2012). [Online]. Accessed 2022 Mar 7. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ghana-karte-politisch-ashanti.png

 

               ชาวอะชันติมีตำนานเล่าขานถึงที่มาของผ้าเคนเตว่า ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อครั้งที่จักรวรรดิอะชันติ (Ashanti Empire) เรืองอำนาจจนมีอาณาเขตแผ่กว้างจากตอนใต้ของกานาไปจนถึงประเทศโกตดิวัวร์และโตโกในปัจจุบัน ยังคงมีนักล่าสัตว์ 2 คนที่อาศัยในหมู่บ้านบอนวิเร (Bonwire) ไม่ไกลจากเมืองหลวงคูมาสี (Kumasi) นักล่าทั้งสองมีนามว่า โอตา การาบัน (Ota Karaban) และควากู อะเมเยา (Kwaku Ameyaw) วันหนึ่งพวกเขาเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ แต่ก็ต้องละทิ้งหน้าที่เมื่อได้เห็นใยแมงมุมที่ถูกถักทอขึ้นอย่างงดงาม บางตำนานเล่าว่า ใยแมงมุมถูกถักขึ้นโดยอนันซี (Anansi) เทพเจ้าแมงมุมของชาวอะชันติ เมื่อทั้งสองเห็นดังนั้นก็รีบกลับไปยังหมู่บ้านทันที สองสหายเริ่มทอผ้าตามรูปแบบเส้นใยที่ได้พบ ครั้นทั้งคู่ทอผืนผ้าจนสำเร็จ พวกเขาก็นำผ้าที่ได้ไปมอบให้นานา โบบี (Nana Bobie) ผู้นำชุมชนของตน นานา โบบีประทับใจในความงามของผืนผ้าเป็นอย่างมาก เขาจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าอะซันเตเฮเน (Asantehene) ราชาของชาวอะชันติที่คูมาสี เมื่อโอเซ ตูตูที่ 1 (Osei Tutu I) กษัตริย์อะชันติในขณะนั้นได้ทอดพระเนตรผ้าทอเป็นครั้งแรก พระองค์ก็ประกาศว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป อาภรณ์ทั้งหมดของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ในจักรวรรดิจะต้องตัดเย็บจากผ้าประเภทนี้เท่านั้น เคนเตจึงกลายมาเป็นผ้าทอที่ใช้กันในหมู่ชนชั้นสูงอะชันตินับแต่นั้นเป็นต้นมา

               แม้ว่าชาวอะชันติจะยึดถือในตำนานที่เล่าขาน แต่ที่มาของผ้าเคนเตอาจเก่าแก่ยิ่งกว่านั้น นักโบราณคดีค้นพบเศษผ้าในถ้ำที่แหล่งโบราณคดีบันดิอาการา (Bandiagara) ประเทศมาลีร่วมกับของอุทิศในที่ฝังศพชิ้นอื่นๆ เศษผ้าและข้าวของในถ้ำกำหนดอายุได้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อครั้งที่จักรวรรดิวากาดู (Wagadu Empire) กำลังรุ่งเรืองในแอฟริกาตะวันตก วากาดูเป็นจักรวรรดิที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายและเติบโตขึ้นได้ด้วยการค้ากับคาราวานจากแอฟริกาเหนือ ดังนั้นเศษผ้าทอที่มีลักษณะคล้ายกันกับเคนเตอาจได้รับอิทธิพลจากดินแดนอื่นในกาฬทวีปที่ผู้คนรู้จักการทอผ้า ผ้าทอรูปแบบคล้ายคลึงกันมีให้เห็นในวัฒนธรรมของชาวเอเว (Ewe) ที่อาศัยในประเทศโตโกและเบนินในปัจจุบัน ชาวเอเวเรียกผ้าทอของตนว่า เกเต (Kete) มาจากคำว่า เก (Ke) ที่แปลว่าแผ่ออก และ เต (Te) ที่แปลว่ากดให้แน่น บ่งบอกถึงกรรมวิธีการทอผ้าที่ต้องแผ่ด้ายเส้นยืนและกระทบฟืมให้เนื้อผ้าแน่นเป็นระยะ จึงอาจตีความได้ว่า แท้จริงแล้วชาวอะชันติเรียนรู้กรรมวิธีการทอผ้าจากชนเผ่าเพื่อนบ้าน ก่อนนำเอาความรู้ที่ได้มาดัดแปลงเพื่อประดิษฐ์ผ้าทอลวดลายเฉพาะของตน

               กรรมวิธีการทอผ้าเคนเตเป็นการแบ่งงานกันทำของชายหญิงในชุมชนอะชันติ แตกต่างจากหลายวัฒนธรรมในโลกที่การทอผ้าเป็นหน้าที่เฉพาะของสตรี ในสมัยโบราณ ผู้หญิงอะชันติมีหน้าที่ปั่นด้ายจากเส้นใยธรรมชาติ ย้อมเส้นด้ายเป็นสีต่างๆ และเย็บผ้าที่ได้ให้เป็นเครื่องแต่งกาย ในขณะที่ผู้ชายเป็นคนออกแบบลวดลายและทอผ้า ชาวอะชันติใช้กี่กระตุกในการทอ ผ้าที่ได้จึงมีลักษณะเป็นแถบยาวเรียกว่า อึนโตมาบัน (Ntomaban) แถบผ้ามีความกว้างประมาณ 3 ถึง 5 นิ้ว และยาวราว 5 ถึง 6 ฟุต การทำเครื่องแต่งกายแต่ละครั้งจะใช้แถบผ้าอึนโตมาบัน 12 ถึง 24 ผืนเย็บติดกัน ผ้าเคนเตที่ใช้ในพิธีการราชสำนักอาจเย็บจากผ้าอึนโตมาบันกว่า 400 ผืนซึ่งต้องใช้เวลาทำนานหลายเดือน ในอดีตผู้ที่จะสวมใส่อาภรณ์ทำจากผ้าเคนเตมีเพียงชนชั้นสูงที่เป็นบุรุษเท่านั้น ทว่าตั้งแต่กานาประกาศเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1957 ระบอบกษัตริย์ในแคว้นอะชันติก็ถูกลดความสำคัญลง ผ้าเคนเตที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของเชื้อพระวงศ์จึงได้รับความนิยมในหมู่ชนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม เคนเตยังคงความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมไม่เลือนหาย เสื้อผ้าจะถูกสวมใส่ในโอกาสสำคัญเท่านั้น ชาวอะชันติจึงนิยมมอบผืนผ้าเป็นของขวัญพิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ พิธีตั้งชื่อทารก พิธีเปลี่ยนผ่านของเด็กชายสู่ความเป็นผู้ใหญ่ พิธีแต่งงาน หรือแม้แต่งานอวมงคลอย่างพิธีศพ เป็นต้น

ภาพที่ 2: โอเซ ตูตูที่ 2 อะซันเตเฮเนองค์ปัจจุบันในเครื่องทรงผ้าเคนเต

ที่มา: EnzoRivos. King Asantehene Osei Tutu II of Ashanti Asanteman. (2013). [Online]. Accessed 2022 Mar 7. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_rulers_of_Asante#/media/File:King_Asantehene_Osei_Tutu_II_of_Ashanti-Asanteman.jpg

 

               ผ้าเคนเตแต่ละผืนมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขนาด สี และลวดลายบนผืนผ้าบ่งบอกถึงเพศ อายุ สถานะทางสังคม สถานภาพสมรส และเหตุการณ์สำคัญที่ผู้สวมใส่ต้องการระลึกถึง สีที่นิยมนำมาทอผ้าเคนเตได้แก่ สีน้ำเงินที่หมายถึงสันติภาพ การอยู่ร่วมกัน และความรัก สีเหลืองที่หมายถึงความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ สีเขียวที่หมายถึงการเกิดใหม่ พืชผล และการเก็บเกี่ยว สีทองที่หมายถึงความร่ำรวย กษัตริย์ และราชวงศ์ สีแดงเลือดหมูที่หมายถึงแผ่นดินและการเยียวยา สีแดงเลือดนกที่หมายถึงความตายและความโศกเศร้า และสีขาวที่หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณ ผ้าเคนเตที่นิยมในปัจจุบันมีลวดลายมากกว่า 300 แบบ แต่ละแบบจะมีชื่อเรียกเฉพาะของตน เช่น โอบิ อึกเย โอบิ ควาน มู ซี (Obi Nkye Obi Kwan Mu Si) ผ้าทอสามสีสลับลายที่แสดงถึงการให้อภัย ความอดทน และความยุติธรรม อะดวินาซา (Adwinasa) ลวดลายเฉพาะที่ออกแบบมาเพื่อกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

               ผ้าเคนเตกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อแนวคิดแพน – แอฟริกัน (Pan – Africanism) หรือแนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวของชาวแอฟริกันทั้งผองแพร่หลายในทวีปแอฟริกาและในหมู่ลูกหลานแอฟริกันพลัดถิ่นในสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ ในโลก สำหรับลูกหลานแอฟริกันเหล่านี้ พวกเขาได้ถูกพรากสายใยที่เชื่อมโยงพวกตนและแผ่นดินแม่ตั้งแต่ครั้งที่การค้าทาสเฟื่องฟูในเส้นทางการค้าแอตแลนติก (Atlantic Trade Routes) กว่า 400 ปีที่แล้ว ด้วยเหตุนั้นชาวแอฟริกันพลัดถิ่นจึงมองหาบางสิ่งเพื่อระลึกถึงบรรพชนของตน ผ้าเคนเตสีสันสดใสที่มีความหมายลึกซึ้งจึงถูกนำมาใช้ทำเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายอย่างแพร่หลายในชุมชนคนผิวดำทั่วโลก ชาวแอฟริกันอเมริกันมากมายนิยมสวมใส่ผ้าเคนเตในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีซึ่งเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์คนผิวสี (Black History Month) ในสหรัฐอเมริกา พวกเขาต้องการทวงคืนตัวตนที่สูญเสียไปตั้งแต่ครั้งที่บรรพบุรุษถูกบังคับลงเรือบรรทุกทาสและถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเวลาหลายศตวรรษ

ภาพที่ 3: ผ้าเคนเตในงานแฟชันโชว์หลุยส์ วิตตอง

ที่มา: BBC News. Letter from Africa: Kente - the Ghanaian Cloth that's on the catwalk. (2021). [Online]. Accessed 2022 Mar 7. Available from: https://www.bbc.com/news/world-africa-56484264

 

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผ้าเคนเตจะมีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะลูกหลานแอฟริกันพลัดถิ่น ทว่ากลับมีหลายครั้งที่เจ้าของภูมิปัญญาอย่างชาวอะชันติไม่พอใจในเรื่องนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว ผ้าทอมือทุกผืนมีคุณค่าและความหมาย เคนเตจึงไม่ควรถูกนำมาสวมใส่เล่นๆ ทุกวันนี้ลวดลายผ้าเคนเตถูกนำไปใช้ผลิตผ้าพิมพ์ลายในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม้แต่ดีไซเนอร์หลุยส์วิตตองยังเคยนำลายผ้าเคนเตมาใช้บนเวทีแฟชันโชว์ระดับโลก ชาวอะชันติมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการด้อยค่าผ้าศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน ในขณะที่ชาวกานาบางกลุ่มมองว่าความโด่งดังของผ้าทอเคนเตช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการค้าในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านบอนวิเรที่เป็นต้นกำเนิดและศูนย์กลางการผลิตผ้าทอในปัจจุบัน ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในประเทศกานาจึงยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่ชาวอะชันติและชาวโลกยังหาจุดประณีประนอมไม่ได้ ระหว่างภูมิปัญญาเก่าแก่ของหมู่ชน และการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอในสากลโลก

 

หนังสืออ้างอิง

Asamoah – Yaw, Ernest. Kente Cloth: Introduction and History. New York: Ghanaian Textiles Inc.,

1992.

Gocking, Roger S.. History of Ghana. Westport: Greenwood Press, 2005.

Ross, Doran H. Wrapped in Pride: Ghanaian Kente and African American Identity. Los Angeles:

Fowler Museum at UCLA, 1998.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ