Museum Core
หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
Museum Core
04 เม.ย. 65 1K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : ทัศนีย์ ยาวะประภาษ

          ถ้าเรากางแผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครออกมา จะเห็นหมู่อาคารหมายเลข 1 ถึง 13 เรียงตัวเกาะกลุ่มและมีขนาดสะดุดตา มีเพียงหมายเลข 8 และ 9 เท่านั้นที่ติ่งเล็กๆ อยู่ขวาสุด กระทั่งคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครถ้วนทั่วโดยส่วนใหญ่ ก็ยังอาจเดินไปแค่อาคารหมายเลข 5 แล้วหยุดอยู่แค่นั้น

 

          เพราะอาคารหมายเลข 8 ที่ตั้งของ เก๋งนุกิจราชบริหาร และหมายเลข 9 หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช นั้นอยู่ในหลืบลึก แถมต้องตั้งใจไปแวะพักขาฝากท้อง ณ ร้านท้ายวัง จึงจะเหลือบสายตาไปเห็นอาคารสถาปัตยกรรมจีนหลังนี้

 

ภาพที่ 1 ด้านหน้าหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

 

          ดังที่เราทราบกันดีว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเดิมคือพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์สืบต่อกันมา 5 พระองค์ รวมระยะเวลา 103 ปี มีการสร้างสมงานวิจิตรศิลป์ชั้นเลิศมากมายโดยปรากฏศิลปกรรมจีนผสมผสานอยู่ด้วยตั้งแต่แรกสร้างพระราชวัง นับจากการวางผังหมู่พระวิมานที่ประทับซึ่งได้รับแนวคิดมาจากคฤหาสน์แบบจีน งานประณีตศิลป์ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมที่มีลวดลายแบบจีนสอดแทรก งานจิตรกรรมตกแต่งภายในอาคารที่เขียนเป็นภาพแบบจีน ไปจนถึงสถาปัตยกรรมจีนและสวนแบบจีนที่สร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ แสดงถึงพระราชนิยมในศิลปกรรมจีนขององค์พระมหาอุปราช อันเป็นไปตามสมัยนิยมในช่วงเวลานั้น

 

          หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช จึงเป็นพระที่นั่งแบบจีน 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีกำแพงกั้นเป็นบริเวณเฉพาะ สวนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในบริเวณนี้ทำอย่างจีนทั้งสิ้น ตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดให้จัดที่ประทับแบบจีนบริเวณหนึ่ง และแบบฝรั่งบริเวณหนึ่ง

 

          ถอดรองเท้าแล้วก้าวขึ้นบันได เปิดประตูเข้าไปชมชั้นสองของพระที่นั่งกันก่อน ด้านนี้มีบานเฟี้ยมเปิดห้องตรงหน้าออกกว้าง ให้เราเข้าไปสักการะรูปปั้นเจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) ท่านเป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และท่านผู้หญิงเพ็ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2347 ในรัชกาลที่ 1 เริ่มเข้ารับราชการในรัชกาลที่ 3 เป็นนายจิตร มหาดเล็กหุ้มแพร เป็นจมื่น
สมุหพิมาน ปลัดกรมพระตำรวจ ต่อมาเป็นพระพรหมบริรักษ์ จากนั้นเป็นพระมหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ได้เป็นพระยาสีหราชเดโช แล้วเป็นเจ้าพระยากำแหงสงครามรามราชภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา จากนั้นกลับมารับราชการในกรุงเทพฯ เป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2414 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 สิริอายุ 67 ปี

 

 

ภาพที่ 2 รูปปั้นเจ้าพระยายมราช

 

          ตรงนี้จะมีแท่นวางทัชสกรีนให้เราทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราชและบานเฟี้ยมจำนวน 28 บานซึ่งประดับเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ให้เราเดินวนขวาไปชื่นชมทีละบาน  บานเฟี้ยมชุดนี้ทำจากไม้ชิงชันแกะสลักปิดทอง เดิมอยู่ที่หอนั่งของเจ้าพระยายมราช เป็นของที่สั่งซื้อมาจากประเทศจีนในราคาบานละ 80 บาท เป็นบานที่มีลวดลาย 26 บาน และไม่มีลวดลาย 2 บาน โดยบานที่มีลวดลาย ส่วนบนแกะสลักรูปค้างคาวห้าตัว (อู้ฟู่) ล้อมรอบอักษรจีนคำว่า “ซังฮี้” ส่วนล่างแกะสลักภาพเล่าเรื่องสามก๊ก นับเป็นประณีตศิลป์ที่งดงามทรงคุณค่า แสดงถึงความนิยมศิลปกรรมแบบจีนในหมู่คหบดีไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ทายาทตระกูลสิงหเสนีมอบบานเฟี้ยมชุดนี้ให้กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ

 

ภาพที่ 3 บานเฟี้ยมเล่าเรื่องสามก๊ก

 

          ชมด้านบนเสร็จแล้ว สวมรองเท้าลงมาด้านล่าง เปิดประตูเข้าไปในส่วนนั่งพักผ่อนที่ประดับตกแต่งแบบจีน ผนังบอกเล่าเรื่องราวของวังหน้าและแนวคิดแบบจีน ตรงนี้มีเครื่องดื่มและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้เราใช้เวลายามบ่ายสุดระอุอย่างผ่อนคลาย เมื่อมองออกไปด้านหลังจะเห็นสวนแบบจีนขนาดเล็กซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระที่นั่งบวรบริวัติ (รื้อถอนไปแล้ว) ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่เสด็จออกประพาสฝ่ายใน แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินการต่อจนสำเร็จ และทรงใช้พระที่นั่งบวรบริวัติเป็นที่ประทับเวลาเสด็จมาค้างแรมที่พระราชวังบวรสถานมงคล

           สวนจีนเล็กๆ แต่มองแล้วร่มรื่นงดงามด้วยกลีบลีลาวดีกำลังโปรยปรายทอทาบสนามหญ้าเขียวชอุ่มสดใส พาให้หัวใจเบิกบานร่มเย็นอย่างยิ่ง

 

 

ภาพที่ 4 สวนจีนด้านหลังหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

 

          ในบริเวณอาคารเดิมของสวนจีนปัจจุบันเหลือเพียง เก๋งนุกิจราชบริหาร อาคารก่อกิฐถือปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้องหลังคาแบบจีน พร้อมประตูบานเฟี้ยมด้านหน้าแบบจีนเขียนลวดลายเครื่องแจกัน สำหรับประวัติการสร้างนั้นแม้ไม่ปรากฏชัดเจน แต่ด้วยความที่เก๋งจีนหลังนี้อยู่ติดกับกำแพงด้านนอกของพระที่นั่งบวรปริวัติ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงจีนที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ พระวิสูตรวารี (มลิ) สร้างขึ้น จึงมีการสันนิษฐานว่า เก๋งนุกิจราชบริหารก็น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับพระที่นั่งบวรปริวัตินั่นเอง

 

          เก๋งนุกิจราชบริหาร เพิ่งจะกลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งเมื่อปลายปี 2564 นี้เอง ด้านในซุกซ่อนความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง ห้องสิน เล่าเรื่องการสู้รบที่ละเอียดเต็มผนัง 4 ด้าน พร้อมกับมีชื่อภาษาจีนของเทพแต่ละองค์ รวมทั้งชื่อค่ายกล ชื่อภูเขา ชื่อถ้ำกำกับไว้ในทุกรูปตามธรรมเนียมการเขียนภาพของจีนในยุคนั้น และภาพที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเห็นจะเป็นภาพ “นาจา” ซึ่งวาดไว้หลายภาพในหลายท่าทางการต่อสู้ ทั้งนี้แม้จะมีภาพส่วนหนึ่งรางเลือนจนแทบจะเป็นผนังเปล่า แต่ความคมชัดของลายเส้นและสีของภาพที่เหลืออยู่ยังคงชัดเจนและสวยงามมาก

 

           สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านวรรณกรรมจีนก็ไม่ต้องกังวล เพราะเดินเข้ามาด้านในเก๋งจีนเล็กๆ อาคารนี้ ก็มีข้อมูลทัชสกรีนให้อ่านสนุกชนิดภาพต่อภาพ

 

ภาพที่ 5 ด้านในเก๋งจีนนุกิจราชบริหาร

 

           ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระ มีโอกาสมาเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครบ่อยครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ค้นพบพระที่นั่งรูปแบบจีนสององค์นี้ ใช้เวลาอย่างดื่มด่ำหลายชั่วโมง นอกจากได้สัมผัสงานศิลปกรรมงดงามละเมียดแบบจีนแล้ว ยังได้รับความสงบ สงัด ผ่อนคลายจากบรรยากาศรอบตัวอีกด้วย

 

ทัศนีย์ ยาวะประภาษ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ