Museum Core
พิพิธภัณฑ์ที่จำไม่ลืม The Auschwitz – Birkenau Memorial
Museum Core
27 ม.ค. 65 4K
ประเทศโปแลนด์

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

         เมื่อกล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องฮอโลคอสต์ (Holocaust) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เรื่องราวของความรุนแรงและความโหดร้ายที่เหยื่อจำนวนมากมายต้องเผชิญอย่างทุกข์ทนนั้นเป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกว่าเป็น “ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของมวลมนุษยชาติ” แม้ว่าสงครามนี้จะสิ้นสุดลงไปนานมากกว่า 70 ปีแล้วก็ตาม แต่ในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกก็ยังมีการสร้างพล็อตเรื่องที่อ้างอิงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งพยายามตีความใหม่ แสวงหามุมมองอื่นๆ มา นำเสนออยู่ตลอด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรถ้าคุณพบว่า ธีมสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงขายได้ในยุคปัจจุบัน

 

          โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ใช่แฟนภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามนัก แต่มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ประทับใจและชื่นชอบมากๆ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน “หนังดีที่สุดในดวงใจ” ตั้งแต่ได้ดูในโรงภาพยนตร์แล้วหาซื้อแผ่นดีวีดีเก็บเอาไว้เปิดดูซ้ำเรื่อยๆ นั่นคือเรื่อง Life is Beautiful ภาพยนตร์จากประเทศอิตาลีที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในปี ค.ศ. 1998 แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวและนักโทษสงครามในยุโรปที่ถูกกักขังในค่ายเอาซวิทซ์ (Auschwitz) ประเทศโปแลนด์ การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์นั้นแตกต่างจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ด้วยตัวโครงเรื่องนั้นไม่ได้มุ่งเน้นที่การสู้รบทางการทหาร แต่นำเสนอภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความลำบากต่างๆ นานาที่นักโทษเชื้อสายยิวทุกคนต้องเผชิญผ่านมุมมองของตัวละคร กุยโด ชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิวที่อยากปกป้องครอบครัวของเขา แม้เขารู้ดีว่าสงครามนั้นโหดร้ายเสมอ แต่เขาก็เตือนตัวเองให้มองโลกในแง่ดีอย่างมีความหวัง มีกำลังใจอดทน พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกชายวัยห้าขวบมีชีวิตอยู่รอดและปกป้องความทรงจำที่ใสบริสุทธิ์จากฝันร้ายในช่วงสงคราม

 

          จากที่ผู้เขียนเกริ่นถึงความประทับใจในตัวภาพยนตร์นั้นด้วยเป็นแรงผลักดันให้เลือกเดินทางไปยังประเทศโปแลนด์เพื่อตามรอยภาพยนตร์เรื่องนี้ ตามไปดูร่องรอยของสถานที่ที่เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นจริง ณ ค่ายเอาซวิทซ์ หรือปัจจุบันคือ The Auschwitz – Birkenau Memorial ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า พิพิธภัณฑ์เอาซวิทซ์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองคราคูฟ (Kraków) ออกไปราวครึ่งชั่วโมง  

          ในปีค.ศ. 1947 (แค่ 2 ปีให้หลังจากสงครามจบลง) พิพิธภัณฑ์เอาซวิทซ์เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรก โดยรวมสถานที่ตั้งอดีตค่ายกักกันและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมัน 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือ Auschwitz I และ Auschwitz II Birkenau นับเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์รวมนักโทษสงครามในยุโรป มีชาวยิวจำนวนมากถูกอพยพเคลื่อนย้ายจากทั่วสารทิศของยุโรปมากักขังจองจำในค่ายเอาซวิทซ์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 1.5 ล้านคน กล่าวกันว่าใครที่เดินเข้าไปในค่ายเอาซวิทซ์แล้วแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต ที่นี่เป็นค่ายแห่งความตาย

          ด้วยขนาดพื้นที่ของค่ายที่ค่อนข้างกว้างและซับซ้อนเกินกว่าที่จะเดินชมเอง การเข้าชมพิพิธภัณฑ์เอาซวิทซ์จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้าชมเป็นกลุ่มพร้อมไกด์อธิบายนำชมข้อมูลเชิงลึก และลูกทัวร์ทุกคนได้รับข้อมูลที่ชัดเจนผ่านหูฟังส่วนตัวที่ได้รับแจกให้ โดยเริ่มต้นจากการเดินผ่านประตูที่มีซุ้มเป็นตัวอักษรภาษาเยอรมันเขียนว่า ARBEIT MACHT FREI หรือ “work will set you free” ประโยคที่ไม่เคยเป็นจริง

 

 

ภาพที่ 1 ประตูของค่ายเอาซวิทซ์ที่เป็นภาพจำกับประโยคที่แสนหลอกลวง

 

          เฉพาะภายในค่าย Auschwitz I มีการจัดแบ่งโซนในการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับชะตากรรมของคนนับล้านที่ต้องเผชิญเมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูเข้ามาอยู่ในแคมป์แห่งนี้ สามารถแบ่งออกได้ 14 โซน โดยไกด์เดินนำลูกทัวร์ผ่านไปในทุกจุดสำคัญของค่าย เริ่มจากพื้นที่ที่เคยตั้งวงแสดงดนตรีออร์เคสตรา ซึ่งเป็นลานบริเวณด้านหน้าอาคารโรงครัว การเล่นดนตรีนี้ไว้เพื่อความบันเทิงสำหรับสมาชิกพรรคนาซี (SS หรือ Schutzstaffel) และเพื่อจัดระเบียบการเดินกลุ่มนักโทษที่ออกไปทำงานและกลับเข้าแคมป์ 

 

 

ภาพที่ 2 กลุ่มลูกทัวร์ยืนฟังบรรยายที่ลานแสดงดนตรีออร์เคสตรา (The Camp Orchestra)

 

           จากนั้นก็เดินไปที่อาคารบล็อก 4 ไกด์ชี้ให้กรุ๊ปทัวร์ดูที่ผนังแล้วเล่าประวัติและความเป็นมาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งนอกจากภาพถ่ายและรายละเอียดจากเอกสารจดหมายเหตุที่บันทึกความจริงในช่วงเวลานั้นแล้วยังมีแท่นวางหม้อเอิร์นบรรจุเส้นผมของผู้หญิงที่ถูกโกนออกตั้งแต่เข้ามาในแคมป์ และโกฐเงินใบใหญ่ใส่เถ้ากระดูกจริงของผู้เสียชีวิตที่หลงเหลืออยู่ในเตาเผาศพหลังการสังหารหมู่ด้วยรมแก๊สพิษเป็นหลักฐานของการล้างเผ่าพันธุ์อย่างไร้ความเป็นมนุษย์ของพรรคนาซี และไกด์ได้บอกให้ทุกคนแสดงความเคารพด้วยการไม่ถ่ายภาพ และหยุดยืนนิ่ง 1 นาทีให้แก่การสูญเสียชีวิตของผู้คนนับล้านที่นี่…แค่โซนแรกๆ ของนิทรรศการก็ทำเอาลูกทัวร์นิ่งอึ้งและเดินตามไกด์ไปจุดอื่นอย่างเงียบๆ

          แล้วก็มารู้สึกหดหู่กันต่อที่โซนจัดแสดงวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เป็นวัตถุหลักฐานพยานสำคัญที่ยืนยันว่าเรื่องที่เราฟังไกด์เล่ามานั้นเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน เพราะเมื่อมองดูจากข้าวของเครื่องใช้จำนวนมหาศาลที่ทุกคนนำติดตัวมาด้วยตอนที่เดินทางมายังค่ายแห่งนี้ แล้วสิ่งของเหล่านี้ถูกกองทิ้งรวมกันไว้แบบไม่ต้องรอเจ้าของมารับคืนทำให้เราแทบจะไม่ต้องจินตนาการใดต่อ

 

 

ภาพที่ 3 สิ่งของต่างๆ ที่ถูกพรากจากผู้เป็นเจ้าของตลอดกาล

 

          อาคารบล็อก 7 ที่อยู่ถัดไป ไกด์พาเราเดินไปดูสภาพห้องต่างๆ ที่ให้นักโทษอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งโรงนอนที่มีเพียงแค่ฟางปูพื้นกันความหนาวเย็น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำที่ใช้พร้อมๆ กันแบบจำกัดเวลาและปริมาณน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีน้ำอุ่น ในช่วงฤดูหนาวความเย็นเป็นศัตรูที่แสนโหดร้ายและซ้ำเติมเหล่านักโทษขนาดไหนเป็นสิ่งที่ไกด์บอกให้เราลองจินตนาการดู

 

 

ภาพที่ 4 สภาพความอัตคัดที่นักโทษต้องอยู่อาศัย อดทนและอยู่กับมันให้ได้ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่

 

         ไกด์ยังคงพาเราเดินต่อไปยังจุดที่สำคัญมากอีก 2 จุดของแคมป์ นั่นคือ อาคารบล็อกที่ 10 เพื่อเล่าถึงความเลวร้ายของพรรคนาซีที่กระทำอย่างไร้ความเป็นมนุษย์กับเหล่านักโทษหญิงหลายร้อยคนให้กลายเป็น “หนูทดลอง” เพื่อทดสอบผลของยา หรือการฆ่าเชื้อโรคที่ดร. คาร์ล เคลาเบิร์ก (Dr. Carl Clauberg) ทำการทดลองช่วงเมษายน 1943 ถึงพฤษภาคม 1944 ซึ่งนักโทษที่เป็นเหยื่อส่วนหนึ่งมักตายเพราะการทดลอง บางส่วนก็ถูกฆ่าเพื่อต้องการใช้ศพชันสูตร คนที่รอดชีวิตมาได้ก็มักจะมีรอยแผลเป็นจากการบาดเจ็บ

 

         สำหรับผู้เขียนที่เดินตามฟังเรื่องเล่าจากไกด์มาตลอดก็ยิ่งรู้สึกหดหู่และเศร้าขึ้นไปอีก เมื่อมาหยุดที่ลานตรงกลางระหว่างบล็อกที่ 10 กับ 11 แล้วมองตรงไปที่ผนังที่มีชื่อเรียกว่า “Death Wall” บรรดานักโทษในแคมป์ต่างรู้ดีว่าถ้าถูกสั่งในเดินไปที่บล็อก 11 นั่นหมายความว่า "วาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงแล้ว" โมเมนต์ที่ทุกคนในกลุ่มยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยนั้น ภาพจำจากภาพยนตร์ Life is Beautiful ในฉากที่ตัวเอกของเรื่องพาลูกชายไปซ่อนตัวไว้ ก่อนถูกสารวัตรทหาร SS จับได้และเดินถือปืนจ่อข้างหลังแล้วเดินหายไปที่บล็อก 11 พร้อมเสียงปืนดังขึ้นก็แว่บขึ้นในหัวของผู้เขียน อารมณ์และความรู้สึกสะเทือนใจวนกลับมาอีกครั้งทำให้นัยน์ตาเปียกชื้นทันที

 

 

ภาพที่ 5 Death Wall ของบล็อกที่ 11 จุดที่นักโทษมากกว่า 5,000 คนเดินมาเพื่อพบจุดจบของชีวิต

 

          แค่ค่ายเอาซวิทซ์ที่ 1 เพียงแห่งเดียวก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเศร้าและหดหู่เอามากๆ จนคิดว่าค่ายที่ 2 หรือค่ายเบอร์เกเนา (Birkenau) ที่ต้องโดยสารรถบัสรับ-ส่งหมุนเวียนออกไปอีกราว 20 นาที ตามโปรแกรมทัวร์ของพิพิธภัณฑ์จะเจอกับอะไรอีก ซึ่งมีสาระโดยภาพรวมคล้ายกับค่ายแรก จึงขอเล่าต่อเพียงสั้นๆ ว่า ครั้งแรกที่เห็นสภาพของค่ายเบอร์เกเนารู้สึกถึง “ไร่ปศุสัตว์” ด้วยขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ มีอาคารโรงเรือนเตี้ยๆ สร้างแบบหยาบๆ ตั้งเรียงรายเป็นทิวแถว มีผืนหญ้าและล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนาม มีเพียงอาคารสถานีรถไฟและรางรถไฟสั้นๆ ที่ดูแปลกแยกไปจากการเป็นฟาร์ม

 

          ไกด์คนเดิมพาลูกทัวร์เดินไปเฉพาะจุดสำคัญของค่ายอย่างจุดที่ตู้ขบวนรถไฟที่ทำหน้าที่ขนนักโทษมากมายนับล้านคนมาที่แห่งนี้ในสภาพที่เบียดแน่นขนัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง เรือนนอนที่มีสภาพอเนจอนาถยิ่งกว่าที่ได้เห็นจากค่ายแห่งที่ 1 และซากอาคารสำหรับใช้เป็นโรงอบแก๊สพิษเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งก่อนสงครามสิ้นสุดพรรคนาซีได้ระเบิดเพื่อทำลายหลักฐาน และสุดท้ายไกด์ได้สรุปจบการบรรยาย ก่อนจะปล่อยให้ทุกคนได้ได้เดินสำรวจค่ายเองอย่างอิสระและแยกย้ายกันกลับ

 

 

ภาพที่ 6 อาคารสถานีรถไฟกับแนวรั้วลวดหนามล้อมรอบค่ายเบอร์เกเนา

 

           วันนั้นผู้เขียนกลับเข้าเมืองคราคูฟด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้งมาก ทั้งที่เตรียมใจก่อนไปดูพิพิธภัณฑ์แล้ว แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปชมพิพิธภัณฑ์ธีมสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่ครั้งนี้แตกต่างไปมากกว่าครั้งไหนด้วยว่ามีภาพจำจากภาพยนตร์และสภาพของสถานที่จริงที่เห็นตรงหน้ามาทับซ้อนกัน แล้วกระตุ้นให้อารมณ์เศร้าสะเทือนใจกลับมายิ่งทำให้รู้สึกหดหู่มาก จนคิดว่าความรู้สึกนี้คงถูกเก็บบันทึกอยู่ในความทรงจำไปอีกนานเลยทีเดียว

 

ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ