ภาพที่ 1 : พระราชวังโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ.2554
แหล่งที่มาภาพ : www.oknation.net
“น้ำท่วม” เป็นเรื่องปกติของชาวอยุธยานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากเราพิจารณาบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จะพบว่าชาวอยุธยาในอดีตพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูน้ำหลาก ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตเช่นนี้ยังสามารถพบเจอได้ทั่วไปในพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดราบลุ่มในแถบภาคกลาง ทว่า ”ฤดูน้ำหลาก” ในปี พ.ศ.2554 ชาวอยุธยาและผู้คนแถบนี้ต้องเผชิญกับมวลน้ำขนาดใหญ่ที่หลากเข้าท่วมทุกพื้นที่อย่างที่คนรุ่นปู่ย่าตายายไม่เคยพบเจอมาก่อน สิ่งก่อสร้างที่ผุดขึ้นตามความเจริญของชุมชนเมืองไม่อาจขวางกั้นหรือช่วยบังคับทิศทางของกระแสน้ำให้ไหลไปในทิศทางที่ควรจะไปได้เลย กลับแต่จะถูกกลืนหายไปกับกระแสที่เชี่ยวกรากและจมนิ่งอยู่ใต้มวลน้ำนั้นนานกว่าสองเดือน “มหาอุทกภัย” ครานี้ได้สร้างความเสียหายมหาศาลและเป็นความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน
กรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นตรงจุดที่แม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ล้อมรอบเป็น “เกาะเมือง” ซึ่งนับเป็นความกล้าหาญและชาญฉลาดในการควบคุม “น้ำ” โดยการขุดคลองในแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงกันเป็นตาข่าย เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองในฤดูน้ำหลาก ทั้งยังใช้เป็นเส้นทางในการสัญจร และไขน้ำเข้ามาใช้ในเมือง นอกจากนี้ยังใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันพระนครได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึงท้องทุ่งรอบนอกกำแพงพระนครจะเต็มไปด้วยน้ำ นับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันและขับไล่ข้าศึกที่ล้อมพระนครให้ล่าถอยทัพกลับไป
สภาพฤดูน้ำหลากในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของชาวต่างชาติอย่าง ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2230 โดยเขาได้เขียนบอกเล่าไว้ใน “จดหมายเหตุลาลูแบร์ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” ว่า
...”เมื่อพิจารณาถึงภูมิประเทศของประเทศสยามนั้นเป็นที่ราบลุ่ม พ้นน้ำทะเลกลบมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และทุก ๆ ปีพื้นธรณีจะจมอยู่ใต้น้ำฝนอันท่วมอยู่ตั้งหลายเดือน”
ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันได้ว่าอยุธยาและภาคกลางมีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี ๆ หนึ่งก็กินเวลาเป็นเดือน ๆ เหตุการณ์ที่ซ้ำซากเช่นนี้ได้สร้างความคุ้นชินให้กับชาวอยุธยาในอดีต โดยพวกเขาพยายามปรับตัวให้อยู่กับสภาพน้ำท่วมได้อย่างปกติสุข และยังมองด้วยว่า “น้ำท่วม” หาใช่ภัยพิบัติที่จะนำพาความเดือดร้อนมาสู่พวกเขาแต่อย่างใดไม่ หากแต่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึงนั้นกลับส่งผลดีโดยตรงต่อคุณภาพดินที่เอื้อต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาข้าว ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” ของหลายประเทศ ซึ่งลาลูแบร์ได้อธิบายไว้ว่า
...”พื้นดินของประเทศสยาม มิใช่ดินปนหิน จะหาหินปนอยู่ในดินสักก้อนก็แสนยาก ... ว่าพื้นดินนั้นเกิดจากดินโคลนที่น้ำฝนชะไหลลงมาจากภูเขาที่ตรงปากน้ำ (เจ้าพระยา) ... ฉะนั้นดินโคลนที่ (น้ำฝนชะ) ไหลลงมาจากภูเขานี้เองเป็นตัวสาเหตุอันแน่นอนที่ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีพื้นดินอันอุดมดีนักในที่ทุกหนทุกแห่งที่มีน้ำท่วมไปถึง”
นอกจากนี้จดหมายเหตุลาลูแบร์ยังทำให้เราเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า เพราะเงื่อนไขทางสภาพภูมิศาสตร์และอากาศ ทำให้รูปแบบของการสร้างบ้าน การวางผังเมือง การขุดคูคลอง เป็นไปตามเงื่อนไขที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ได้ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ แม้ว่าบางช่วงเวลาจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย กระทั่งในปัจจุบันเองก็ยังพอพบเห็นวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกับกับผู้คนในอดีตอยู่บ้างตามพื้นที่ที่ความเจริญของชุมชนเมืองยังไม่อาจกลบกลืนความดั้งเดิมไปได้เสียทั้งหมด
ภาพที่ 2 : แผนที่แม่น้ำลำคลองและทุ่งสำคัญรอบ ๆ กรุงศรีอยุธยา
แหล่งที่มาภาพ : lek-prapai.org
หากย้อนเวลากลับไปสักประมาณร้อยปี ณ บ้านทับแตง ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีคลองทับแตง ซึ่งเป็นลำคลองแขนงของคลองโพทอดผ่านชุมชน ทำหน้าที่ส่งน้ำเข้ามาเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค และยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของช่วงสมัยที่ถนนหนทางยังเข้าไปไม่ถึง ณ ที่แห่งนี้ร่องรอยของฤดูน้ำหลากไม่เคยจาง เรื่องราวในอดีตที่ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากตาและแม่นั้นดูไม่แตกต่างมากนักกับสภาพเมื่อครั้งอยุธยาเป็นราชธานี ที่เมื่อย่างเข้าเดือนเก้า น้ำก็เริ่มเอ่อคลอง หรือนอนคลอง แล้วค่อยๆ หลากเข้าท่วมเต็มทุกพื้นที่ และจะท่วมอยู่อย่างนี้กระทั่งเข้าเดือนยี่ จึงค่อยๆ ลดลงจนแห้ง ซึ่งผู้คนละแวกนี้จะเรียกช่วงเวลา 6 เดือนนี้ว่าหน้าน้ำอันเป็นห้วงเวลาของความอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ซึ่งคนรุ่นทวด-ตาและแม่นั้นยินดีที่จะปรับตัวเหมือนอย่างที่บรรพบุรุษเคยทำมาและยังส่งต่อสู่ลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้านยกพื้นสูงให้พ้นน้ำ และขั้นตอนยาเรือที่ละเอียดลออไปด้วยภูมิปัญญา
ปี พ.ศ.2554 บ้านทับแตงยังคงเป็นชุมชนเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ริมถนนสายเอเชียอย่างรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งโดยรอบ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวนตั้งแต่ต้นปี ฝนตกในฤดูหนาว พายุหลายลูกเข้าถล่มไทย ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดน้ำท่วม การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดทำให้ผู้เขียนคาดการณ์ว่าฤดูน้ำหลากปีนี้คงมีปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน และสะพานไม้ที่ทำทอดลึกเข้ามาสู่ตัวบ้านคงจะสูงไม่พอพ้นน้ำ การยาเรือในรอบหลายปีจึงเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวมวลน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวลงสู่ภาคกลางและเขื่อนใหญ่เร่งระบายน้ำ ในที่สุด 13 กันยายน พ.ศ. 2554 ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีพังลง มวลน้ำมหาศาลทะลักท่วมพื้นที่โดยรอบและไหลลงสู่อยุธยาซ้ำเติมพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอยู่ก่อนหน้านั้น แม่น้ำลำคลองและท้องทุ่งไม่อาจกักเก็บน้ำไว้ได้อีกแล้ว น้ำไหลบ่าไปไม่รู้ทิศทาง แรงน้ำพังแนวคันกั้นน้ำไหลเข้าท่วมโบราณสถานอย่างน่าใจหาย พื้นที่นอกเกาะเมืองเต็มไปด้วยน้ำ บนถนนเรือถูกใช้เป็นพาหนะแทนรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนเมืองถูกน้ำท่วมสูง สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล เป็นความโกลาหลที่คนรุ่นปู่ย่าตายายไม่เคยพบเจอมาก่อน
แม้บ้านของผู้เขียนจะยกพื้นสูงถึง 3 เมตร ก็ไม่อาจรอดพ้นมหาอุทกภัยครั้งนี้ไปได้ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ในวันที่พื้นบ้านปริ่มน้ำ ผู้เขียน แม่และพี่สาวค่อยๆ ลำเลียงของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นลงเรือไม้ที่เตรียมไว้ ล่องฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวเพื่ออพยพไปยังศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในขณะที่เพื่อนบ้านส่วนใหญ่เลือกที่จะหนุนพื้นบ้านให้สูงขึ้นไปอีกครึ่งหนึ่งของตัวบ้าน แล้วอยู่ต่อด้วยความหวังว่าน้ำจะลดลงในเร็ววัน
ภาพที่ 3 : ศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
แหล่งที่มาภาพ : alittlebuddha.com
หอฉันชั้น 3 มจร.วังน้อย คือ สถานที่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยเปิดได้เพียง 2-3 วันน้ำก็ทะลักเข้าท่วมในคืนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กลายเป็นเกาะย่อม ๆ โอบล้อมไปด้วยน้ำที่แผ่ขยายเต็มพื้นที่ ผู้ประสบภัยต่างทยอยเข้ามาพักพิงในศูนย์ฯ กว่า 500 ชีวิต ในขณะที่ไฟฟ้าประปาใช้การไม่ได้ คงมีเพียงแสงเทียนและเครื่องปั่นไฟสำหรับปั๊มน้ำที่ท่วมขึ้นมาใช้ เรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ถูกเล่าสู่กันฟังระหว่างผู้ประสบภัยด้วยกันเอง และยังมีพระจิตอาสาเข้ามาช่วยเยียวยาใจด้วยการพูดคุยให้กำลังใจเป็นอีกหนึ่งบทบาทของพระสงฆ์ที่ผู้เขียนเพิ่งเคยได้สัมผัส บรรยากาศภายในศูนย์ฯ อบอวลไปด้วยความเอื้อเฟื้อไม่แพ้น้ำใจจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย อันเป็นความสมบูรณ์ทางใจในความไม่สมบูรณ์ทางกายภาพ
พ้น 2 เดือนที่เผชิญวิกฤติ หลายคนตั้งคำถามถึงสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งก็มีนักวิชาการออกมาอธิบายว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางธรรมชาติ และปัจจัยจากมนุษย์ ทั้งนี้ยังได้เสนอแนะให้เรารู้จักปรับตัวรู้จักธรรมชาติเพื่อจะได้อยู่อย่างสมดุลและปลอดภัย สำหรับผู้เขียนแล้วฤดูน้ำหลาก ปีพ.ศ. 2554 ได้กลายเป็น “มหาอุทกภัยในความทรงจำ” ที่พัดพาตะกอนแห่งน้ำใจ เมตตากรุณามาหล่อเลี้ยงมิตรภาพของความเป็นกัลยาณมิตรให้งอกงามมาจนถึงทุกวันนี้
แหล่งอ้างอิง
ลา ลูแบร์ กับสภาวะน้ำ (ท่วม) ในสยาม. (2554). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://kokoyadi.wordpress.com/2011/10/22/laluberethaiflood/. (วันที่ค้นข้อมูล : 15 มิถุนายน
2564).
โรม บุนนาค. (2558). กรุงศรีอยุธยาในสายตาฝรั่ง...มั่งคั่งโอ่อ่าสง่างามที่สุดในภาคตะวันออก.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9580000098443.
(วันที่ค้นข้อมูล : 15 มิถุนายน 2564).
มนตรี ชูวงษ์. (2562). รำลึกมหาอุทกภัย 2554 – ถอดบทเรียนเพื่อป้องกันภัยตามแนวคิดทางธรณีสัณฐาน
วิทยา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.mitrearth.org/8-10-thailand-mega-flood-2554/.
(วันที่ค้นข้อมูล : 15 มิถุนายน 2564).
ชดามน เจริญจิตต์