วันนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับดินแดนของชนกลุ่มชาติพันธุ์เมลาเนเซียน ในดินแดนห่างไกลที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะนิวกินีกับเกาะฟิจิ รวมทั้งดินแดนในช่องแคบทอร์เรส คาบสมุทรบิสมาร์ค หมู่เกาะโซโลมอนส์ ดินแดนวานัวตู เกาะนิวคาเลโดเนีย และหมู่เกาะเล็กๆ จำนวนมาก ดินแดนเมลาเนเซียครอบคลุมทั้งภาษาและวัฒนธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเอง ไม่เหมือนกับสถานที่ใดในโลก รากฐานของพวกเขาคือศาสนาโบราณที่มีความเชื่อนับได้มากกว่า 100 ศาสนา เพราะดินแดนที่เป็นเกาะ จึงไม่เอื้อต่อการรวมหมู่รวมพวก แต่สิ่งหนึ่งที่ความเชื่อทั้งหลายของพวกเขามีจุดร่วมกันคือความเชื่อเรื่องผีสางนางโกง การนับถือผีหลายชนิด ผีบางชนิดเคยเป็นคน ผีบางชนิดก็ไม่ได้มาจากคน แต่ผีทั้งหลายต่างมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่สามารถให้คุณและก่อโทษมหันต์ได้
ภาพที่ 1: ภาพแผนที่ภูมิศาสตร์ของดินแดนเมลาเนเซียน
ที่มาภาพ: Tanabe J. (2011). Melanesian Cultural Area [Online]. Accessed 2021 March 12. Available from: https://www.newworldencyclopedia.org/entry/
ชาวเมลาเนเซียนมีความเชื่อเรื่องภูตผี เขาเชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้ว ดวงวิญญาณจะกลายเป็นผี ซึ่งมีลักษณะท่าทางเหมือนกับตนเองก่อนตาย แต่บุคลิกภาพจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หากคนตายนั้นเดิมเคยเป็นคนชั่ว พ่อมด หมอผี หรือเป็นหญิงที่คลอดบุตรตาย ชาวเมลาเนเซียนจะเกรงกลัวมาก เพราะเป็นผีร้ายที่จะมาก่อโทษให้กับพวกเขา แต่หากบุคคลนั้นเป็นคนดี หรือเป็นญาติมิตรในตระกูลพวกเขาจะเก็บหัวกะโหลกของญาติที่ตายรวมไว้ที่เกาะมานุส (Manus) เพราะเชื่อว่าผีของญาติจะมาสิงอยู่ในกะโหลก พวกเขาจะเก็บดูแลกะโหลกของผู้ตายไว้อย่างดี โดยเชื่อว่าวิญญาณจะช่วยพิทักษ์รักษาคนในตระกูลของเขาต่อไป แต่หากเกิดสิ่งที่เลวร้ายกับคนในตระกูล พวกเขาก็จะถือว่าวิญญาณที่อยู่กะโหลกไม่ทำหน้าที่แล้ว เรียกว่า “ผีหมดอายุ” เขาจะเอากะโหลกไปทุบทิ้งเสีย และจะไม่มีใครจดจำชื่อบุคคลที่ตายนั้นได้อีกเลย
ในเมลาเนเซียด้านตะวันตกรวมทั้งนิวกินี และเกาะใกล้เคียงมีความนับถือผีชนิดหนึ่งมากพวกเขาเรียกว่า “ภูตผีมาซาลัย” เป็นผีที่อาศัยอยู่ในป่า สามารถแปลงตัวเป็นรูปมนุษย์และสัตว์ โดยมากเป็นสัตว์ที่รูปร่างประหลาด อาจจะใหญ่โตผิดปกติ มีสีสัน และมีอาวุธ ภูตผีเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มเมลาเนเซียนเป็นพิเศษ เพราะพวกเขานับถือผีในฐานะผู้คอยช่วยเหลือสมาชิกของเผ่า เช่น ช่วยเหลือยามหลงป่าหรือจมน้ำ เป็นต้น แต่ชาวเมลาเนเซียนเชื่อว่าภูตผีมาซาลัยจะเลือกช่วยเฉพาะคนที่ทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคมพวกเขาเท่านั้น ส่วนที่คนที่ทำผิดตามทำนองคลองธรรมจะถูกภูตผีมาซาลัยลงโทษ
ภาพที่ 2: ภาพโอโมมาซาลัยในประเพณีการเต้นระบำขับร้องของชนเผ่าในเมลาเนเซีย
ที่มาภาพ: Caitlin. (2012). OMO MASALAI ARE SKELETON DANCING BETTER THAN YOU [Online]. Accessed 2021 March 12. Available from:
http://www.orderofthegooddeath.com/omo-masalai-are-skeletoning-it-better-than-you
ในเมลาเนเซียนด้านตะวันตกรวมทั้งนิวกินี และเกาะใกล้เคียงมีความนับถือผีชนิดนี้มากมีประเพณีการแต่งกายแบบดั้งเดิม เรียกว่า “โอโม มาซาลัย” ที่วาดโครงกระดูกบนร่างกายของผู้ชายในชนเผ่าของตนเอง เพื่อมาร่วมพิธีการเต้นระบำขับร้อง ที่จัดในเทศกาลงานประจำปี ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญในวัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดาหมู่เกาะ พวกเขาจะรวมตัวกันที่เมาท์ฮาเกน (Mount Hagen) แต่ละหมู่บ้านจะแต่งกายตามความเชื่อของชนเผ่า เพื่อมาร่วมเต้นรำคล้ายกับเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งตามประเพณีความเชื่อศาสนาโบราณของพวกเขา บ้างกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องภูตผี บ้างกล่าวว่าเป็นการบูชารูปแบบหนึ่ง บ้างเป็นการข่มขวัญศัตรู ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ เพราะพวกเขาถือปฏิบัติกันมายาวนาน และสืบทอดความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น จุดมุ่งหมายของการชุมนุมนี้ คือการร่วมแบ่งปันประเพณีเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ดังนั้น การรวมตัวของชนเผ่าของแต่ละหมู่บ้านในดินแดนเมลาเนเซียน จึงจัดกิจกรรมตามวิถีความเชื่อพื้นถิ่นของชาวบ้าน โดยมีความเชื่อเรื่องวิญญาณและภูตผีมาซาลัยเป็นจุดรวมความเชื่อของพวกเขานั่นเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นรูปแบบหนึ่งของศาสนาโบราณที่ยังคงมีอยู่ในโลกปัจจุบัน กล่าวได้ว่าสิ่งนี้ช่วยยืนยันชัดเจนว่าผู้คนมีความเชื่อในเรื่องภูตผีและวิญญาณที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในฐานะของสิ่งที่สามารถให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่พึ่งทางใจของพวกเขานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธหรือลบเลือนความเชื่อเหล่านี้ลงไปได้เลย
(ดูคลิปท้ายสุด) คลิปวิดีโอที่ 1: กลุ่มการแสดงวัฒนธรรมอันหลากหลายที่เมาท์ ฮาเกน
BBC Natural History. (n.d.) . [Online]. Accessed 2021 March 14.
Available from: Various Papuan cultural groups.
หนังสือและบทความอ้างอิง
สุริยา รัตนกุล. (2555).พิธีกรรมในศาสนา (ภาค 2). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 38-44.
Barnhart Clarence L. (1988). The World Book Dictionary Volume two L-Z. World Book, Inc:
The United States of America. p. 1293.
Rene’ Zimmer. (2012). Masalai, or Lord of the Land in La Melameste et Etudes Volumn 1. n.p.
p. 195.
ภัทรธรณ์ แสนพินิจ