แชงกิลโญ (Chanquillo) สถานที่อันน่ามหัศจรรย์ ซึ่งน้อยคนจะรู้จัก แต่ความอลังการของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่า 2,300 ปี ที่ดึงดูดให้กลุ่มนักโบราณคดีต่างเดินทางเข้าไปสำรวจสถานที่ แม้ว่าจะตั้งอยู่กลางทะเลทรายริมชายฝั่งทิศตะวันตกของประเทศเปรูในทวีปอเมริกาใต้ หากมองจากมุมสูงจะเห็นว่าเป็นรูปร่างคล้ายสนามกีฬาโล่งแจ้งขนาดใหญ่ แต่หากมองในแนวราบบนพื้นดินจะพบว่าจุดเด่นคือหอคอยที่สร้างขึ้นตามเนินเขา มีจำนวน 13 หอ มีความยาวทั้งหมดราว 130 เมตร มีความสูงราว 6 เมตร แต่ละหอคอยมีระยะห่างกันราว 5 เมตร หากมองในระยะไกลจะมองเห็นความนูนโค้งของหอคอยทั้งหมดรายเรียงกันคล้ายกับครีบหลังของไดโนเสาร์ที่มีขนาดยักษ์ แม้ในตอนแรกนักโบราณคดีจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร แต่พวกเขาก็ไม่หยุดที่จะแสวงหาคำตอบ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2007 พวกเขาออกมาแถลงว่าแชงกิลโญเป็นหอดูดาวดึกดำบรรพ์ของชนเผ่าอินคา ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำคัญของชนเผ่าวัฒนธรรมแคสม่า-เซชิ่น (Casma-Sechin Culture) ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปอเมริกา
ภาพที่ 1: ภาพถ่ายแชงกิลโญจากมุมสูง
ที่มาภาพ: World Monuments Fund.(2011). Aerial view, NA. [Online]. Accessed 2021 March 14. Available from: https://www.wmf.org/project/chankillo
หอคอยแชงกิลโญถือว่าเป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์แบบโบราณ ซึ่งใช้ในการสังเกตดวงอาทิตย์ หรือการเคลื่อนไหวของกาลเวลา เพื่อช่วยให้พวกเขารู้วันเวลาที่เหมาะสมในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว หรือความเชื่ออื่นๆ ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือการสร้างโดยชนเผ่าอินคาของเปรู ย่อมเกี่ยวข้องกับความเชื่อการบูชาดวงอาทิตย์ในฐานะของเทพเจ้าองค์สำคัญของพวกเขา ดังนั้น หอคอยลึกลับกลางทะเลทรายแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ดูดาวขนาดใหญ่เพื่อใช้สังเกตการณ์ท้องฟ้าในแต่ละวัน เช่น ช่วงเวลาสำคัญในเดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์จะขึ้นด้านหลัง และฝั่งซ้ายสุดของแชงกิลโญ ซึ่งในเวลาต่อมา ดวงอาทิตย์จะขยับไปทางขวาตามเข็มของนาฬิกา ยาวนานจนไปถึงวันครีษมายัน (วันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี) เมื่อเวลาผ่านไปอีกหกเดือน ดวงอาทิตย์ก็จะขยับมาอยู่ด้านหลังหอคอยฝั่งขวาสุด นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ เพียงเพราะสถานที่แห่งหนึ่ง ทำให้สามารถสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ หลักฐานโบราณคดีนี้ ทำให้นักวิชาการต่างเชื่อว่าแชงกิลโญสะท้อนให้เห็นความเชื่อของลัทธิบูชาดวงอาทิตย์ที่รู้จักกันดีของอาณาจักรอินคาในเปรู
ภาพที่ 2: ภาพหอคอย 13 ของแชงกิลโญ
ที่มาภาพ: World Monuments Fund.(2011). The thirteen towers and adjacent buildings from
the fortified temple. [Online]. Accessed 2021 March 14. Available from: https://www.wmf.org/project/chankillo
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่ขัดแย้งเมื่อนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปสำรวจแชงกิลโญเสนอทฤษฎีใหม่ว่าชาวเปรูโบราณสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือดึกดำบรรพ์ในการทำสงคราม เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเป็นกำแพงหินขนาดใหญ่ และมีลักษณะเหมือนป้อมปราการที่มีร่อยรอยของการแกะสลักรูปนักรบติดอาวุธกำลังเดินขบวนท่ามกลางซากศพที่ถูกแยกชิ้นส่วนออก นอกจากนี้ ยังมีนักโบราณคดีขุดค้นพบอาวุธหลายประเภท เช่น หอก, ลูกดอก, สลิง และโล่ นักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงลงความเห็นว่าสิ่งนี้บ่งบอกถึงภาพของการเกิดสงครามมากกว่าแค่การใช้ดูดาว ดังนั้น พวกเขาจึงสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่แห่งนี้ผ่านสมรภูมิอันดุเดือด ปัจจุบันถือว่าเป็นอนุสรณ์สถานการทำสงครามในอดีตที่เกี่ยวกับการชิงอำนาจ จนกระทั่งได้พบจุดจบในประวัติศาสตร์
ในปี ค.ศ.2016 แชงกิลโญ เป็นแหล่งโบราณคดีในความอุปถัมภ์จากกองทุนทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อเมริกาเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงเงินทุนเพิ่มเติมจากมูลนิธิต่างๆ เพื่อการระดมทุนช่วยให้ทีมนักโบราณคดี นักอนุรักษ์และวิศวกรระดับนานาชาติดำเนินการเพื่ออนุรักษ์หอคอยทั้ง 13 แห่งและบริเวณโดยรอบ เป้าหมายที่สำคัญของโครงการคือการเตรียมสถานที่เพื่อการเสนอชื่อให้แชงกิลโญเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งก่อสร้างแชงกิลโญก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานหลักฐานถึงภูมิปัญญาของชาวเปรูในยุคดึกดำบรรพ์อีกแห่งอันน่าทึ่ง
แหล่งอ้างอิง
Ghezzi. I. (2006). Religious Warfare at Chankillo. In: Isbell W.H., Silverman H. (eds) Andean
Archaeology III. Springer, Boston, MA. [Online]. Accessed 2021 March 12. Available
from:https://link.springer.com/chapter/10.1007/0-387-28940-2_4
World Monuments Fund.(2011). Chankillo. [Online]. Accessed 2021 March 12. Available from:
https://www.wmf.org/project/chankillo
ภัทรธรณ์ แสนพินิจ