ชื่อดาโฮมี (Dahomey) อาจไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน ทว่าหากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องแบล็ค แพนเธอร์ (Black Panther) คงไม่ลืมภาพกองกำลังนักรบหญิงที่แกร่งกล้าของวากานดาเป็นแน่ แท้จริงแล้วนักรบเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวของนักรบดาโฮมีในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถูกบันทึกโดยชาวตะวันตก พวกเขาเรียกกลุ่มองครักษ์หญิงรับใช้พระราชาว่า แอมะซอน (Dahomey Amazons) โดยอ้างถึงนักรบหญิงในตำนานกรีกโบราณ อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของนักรบดาโฮมีถูกแต่งเติมเกินจริงในงานเขียนยุคแรกของชาวยุโรปจนกลายเป็นกลุ่มสตรีป่าเถื่อนจากอาณาจักรล้าหลังที่ไล่ตัดหัวศัตรูถ้วนหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริง วีรกรรมของนักรบดาโฮมียิ่งใหญ่ไม่แพ้ผู้กล้าอื่นใดในโลก แม้ว่าจะต้องพลัดพรากจากแดนเกิดก็ตาม
ภาพที่ 1: ภาพวาดนักรบหญิงดาโฮมีคริสต์ศตวรรษที่ 19
ที่มาภาพ: Frederick Forbes. Seh-Dong-Hong-Beh, a Leader of the Amazons (1851)
อาณาจักรดาโฮมีก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทางตอนใต้ของประเทศเบนินในปัจจุบัน ทว่ากลับใช้เวลากว่าศตวรรษก่อนจะกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากอาณาจักรใหญ่ๆ โดยรอบ แรกเริ่มเดิมที ดาโฮมีเป็นเพียงดินแดนเล็กๆ บนที่ราบสูงอะโบมี (Abomey) ที่ถูกขนาบด้วยจักรวรรดิโอโย (Oyo Empire) ทางตะวันออก และอาณาจักรอัลลาดา (Allada) และไวดาห์ (Whydah) ทางตอนใต้ ผู้คนที่อาศัยในดินแดนนี้ถูกกดขี่จากผู้ปกครองชาวโยรูบา (Yoruba) ในฐานะเมืองขึ้นของโอโย พวกเขาถูกบังคับให้ส่งบรรณาการและทาสให้โอโยทุกปี พร้อมทั้งถูกปิดกั้นการติดต่อทางทะเลจากชายฝั่งแอตแลนติกโดยอีกสองอาณาจักร ทำให้ชนเผ่าบนที่ราบสูงรวมตัวกันก่อตั้งรัฐอิสระของตนเพื่อปลดแอกจากอาณาจักรใหญ่ ก่อนจะกลายเป็นอาณาจักรดาโฮมีที่ปกครองโดยผู้นำเผ่าฟอน (Fon) ในที่สุด
ภาพที่ 2: แผนที่แสดงที่ตั้งอาณาจักรดาโฮมีในคริสต์ศตวรรษที่ 19
ที่มาภาพ: Encyclopaedia Britannica. Historic Kingdom of Dahomey. (2020). [Online]. Accessed 2021 Jan 9. Available from: https://www.britannica.com/place/Dahomey-historical-kingdom-Africa
อีกสาเหตุที่กดดันให้ดาโฮมีก่อตั้งอาณาจักรและยึดเส้นทางออกสู่ทะเลมาจากการเข้ามาของชาวตะวันตก โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ติดต่อกับชนพื้นเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก่อนจะเข้ามาทำการค้าเต็มตัวในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคแห่งการสำรวจและลงทุนในโลกใหม่ (New World) หรือก็คือทวีปอเมริกาในปัจจุบัน ชาวโปรตุเกสและชาวยุโรปชาติอื่นต้องการสินค้าจากแอฟริกาเพื่อนำความมั่งคั่งกลับไปยังประเทศแม่ ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อดูแลพืชผลในไร่ที่ลงทุนปลูกในโลกใหม่ และชาวพื้นเมืองแอฟริกันที่แข็งแรงก็ตอบโจทย์ในเรื่องนั้น ส่งผลให้ชาวยุโรปนำสินค้าและอาวุธยุทโธปกรณ์มาแลกเปลี่ยนกับผู้นำเผ่าในแอฟริกาเพื่อได้มาซึ่งแรงงานทาส สำหรับอาณาจักรใหญ่อย่างโอโย อัลลาดา และไวดาห์ แหล่งที่มาของทาสคือเชลยที่ได้จากดินแดนใต้อาณัติ เหล่าผู้นำอาณาจักรต่างก่อสงครามกับชนเผ่าเล็กๆ เพียงเพื่อให้ได้เชลยศึกส่งขายชาวยุโรป แรงกดดันนี้เองที่ทำให้ชาวฟอนรวมตัวกับชนเผ่าอื่นๆ เพื่อก่อตั้งดาโฮมี ดินแดนอิสระที่พวกเขาจะไม่ต้องกลายเป็นทาสรับใช้ผู้ใดอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ดาโฮมีขึ้นเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรอื่น กลับกลายเป็นว่าราชาผู้ปกครองกลับข้องเกี่ยวกับการค้าทาสเสียเอง และภายในเวลาไม่นาน ชายฝั่งแอตแลนติกในแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าชายฝั่งทาส (Slave Coast) เนื่องจากเป็นศูนย์กลางซื้อขายทาสที่ใหญ่ที่สุดในทวีป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ราชาดาโฮมีกลายเป็นพันธมิตรกับชาวยุโรป โดยเฉพาะโปรตุเกส ตอนนั้นเองที่ชาวตะวันตกได้พบกับนักรบดาโฮมี บรรดาสตรีที่มีอำนาจบังคับบัญชากองกำลังของตน
ภาพที่ 3: ภาพวาดกษัตริย์ดาโฮมีและองครักษ์มิโนในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสปี 1892
ที่มาภาพ: Messynessy. Meet the Most Feared Women in History. (2016). [Online]. Accessed 2021
Jan 9. Available from: https://www.messynessychic.com/2016/03/18/meet-the-amazonian-terminators-of-dahomey-the-most-feared-women-in-history/
ไม่มีผู้ใดทราบที่มาแน่ชัดของนักรบดาโฮมี ตามตำนานเล่าว่า กองกำลังสตรีถูกก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของฮูเอกบัดจา (Houegbadja) ราชาดาโฮมีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักล่าช้างเพื่อได้มาซึ่งงาและเสบียง ต่อมากองกำลังดังกล่าวกลายเป็นหน่วยองครักษ์ สตรีในอาณาจักรจะถูกส่งมาฝึกการต่อสู้ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อได้เป็นนักรบเต็มตัวพวกนางจะถูกเรียกว่า มิโน (Mino) ซึ่งแปลว่ามารดาของพวกเราในภาษาของชาวฟอน ที่ถูกเรียกเช่นนี้เพราะคนในเผ่าเคารพพวกนางเป็นอย่างสูง นักรบมิโนหลายคนกลายเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีกองกำลังของตัวเอง บางคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาในราชสำนัก แม้แต่สตรีชั้นสูงอย่างภริยาขุนนางและชายาของกษัตริย์ก็รับใช้ในกองกำลังนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของมิโนเป็นที่น่าครั่นคร้ามและสูงส่งสำหรับคนในอาณาจักร
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 กองทัพมิโนเพิ่มจำนวนจนกลายเป็นกำลังหลักของทัพดาโฮมี พวกนางถูกฝึกให้ใช้ปืนยาวร่วมกับอาวุธเบาในการต่อสู้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หน้าที่หลักของกองทหารหญิงนอกจากเป็นองครักษ์พิทักษ์ราชาแล้ว พวกนางยังนำทัพออกปล้นสดมภ์และจับผู้คนต่างเผ่ามาเป็นทาส อาจกล่าวได้ว่าดาโฮมีเป็นหนึ่งในไม่กี่อาณาจักรที่รุ่งเรืองในยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในกาฬทวีป ในขณะที่อาณาจักรใหญ่ๆ อย่างโอโยและคองโกล่มสลายเพราะการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ ดาโฮมีกลับฉวยโอกาสเถลิงอำนาจด้วยการเป็นพันธมิตรกับยุโรป การค้าทาสนำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักร ทว่าสิ่งที่ชาวดาโฮมีไม่คาดคิดก็คือ วันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นทาสอีกครั้งด้วยน้ำมือของคนผิวขาวที่พวกเขาเคยต้อนรับ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดาโฮมีปะทะกับกองทหารอังกฤษและฝรั่งเศสหลายครั้ง คนเหล่านั้นต้องการแอฟริกาตะวันตกมาเป็นอาณานิคม กองทหารมิโนร่วมต่อสู้ในสงครามใหญ่อย่างสงครามฝรั่งเศส-ดาโฮมี (Franco-Dahomean Wars) อย่างกล้าหาญจนกระทั่งพ่ายแพ้ด้วยกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่าในปี 1894 ดาโฮมีอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสนับแต่นั้น และกองทหารมิโนถูกกำจัดจนหมดสิ้นเพื่อไม่ให้เป็นภัยแก่เจ้าอาณานิคมเป็นครั้งที่สอง
ทว่า การกวาดล้างทหารหญิงดาโฮมีไม่ใช่จุดสิ้นสุดตำนานความกล้าหาญของเหล่ามิโน หนึ่งในนักรบที่ถูกขายเป็นทาสในอเมริกา อัดบารายา โตยา (Adbaraya Toya) ไม่เคยละทิ้งจิตวิญญาณนักรบของตน อัดบารายาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวิกตอเรีย มงตู (Victoria Montou) ทันทีที่ถูกส่งไปทำงานในไร่ที่เฮติ นางถูกใช้แรงงานอย่างหนักในไร่อ้อยร่วมกับทาสคนอื่นๆ ทว่าวิกตอเรียไม่เคยหมดหวัง นางใช้เวลาว่างดูแลรักษาทาสที่บาดเจ็บรวมถึงฝึกการต่อสู้ให้คนเหล่านั้น หนึ่งในลูกศิษย์ของนาง ฌอง-ฌากส์ เดสซาลีนส์ (Jean-Jacques Dessalines) ถูกฝึกฝนการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและการใช้อาวุธจากเครื่องมือการเกษตรที่หาได้จากวิกตอเรียตั้งแต่ยังเยาว์ เขานับถือนางเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง และเมื่อเดสซาลีนส์กลายเป็นผู้นำกลุ่มกบฏทาสในปี 1791 วิกตอเรียก็ได้ต่อสู้เคียงข้างเขาในฐานะทหารและนายพล วิกตอเรียในวัยชราแบ่งปันความรู้ในการต่อสู้ การจัดทัพ และการวางแผนการรบให้กับกองกำลังทาสหลบหนี จนในที่สุดกลุ่มกบฏก็ได้ชัยเหนือฝรั่งเศสในปี 1804 เดสซาลีนส์สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกของเฮติในปีเดียวกันนั้น เขามอบบรรดาศักดิ์ให้วิกตอเรียมีฐานะเทียบเท่ากับขุนนางชั้นสูง อย่างไรก็ตาม วิกตอเรียที่เหนื่อยล้าและบาดเจ็บจากการสู้รบเสียชีวิตในปี 1805 ยังความเสียใจแก่เดสซาลีนส์และชาวเฮติทั้งมวล อย่างไรก็ตาม พวกเขาจดจำนางในฐานะมารดาแห่งเอกราชของชาวเฮติ (Mother of Haiti’s Independence) และนับถือความกล้าหาญและจิตวิญญาณนักรบดาโฮมีของวิกตอเรียสืบไปตราบนานเท่านาน
แม้ว่าอาณาจักรดาโฮมีและนักรบมิโนจะถูกทำลายลงนับศตวรรษ ทว่าเรื่องราวของพวกนางยังคงโลดแล่นในจินตนาการและจิตวิญญาณของชาวแอฟริกันทุกคน พวกนางแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและการไม่ย่อท้อต่อชะตากรรมแม้ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจในประวัติศาสตร์เบนินและนักรบดาโฮมีมากขึ้นหลังถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์และภาพยนตร์ ทำให้ชาวแอฟริกันพลัดถิ่นเรียนรู้และเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของดาโฮมีหลังถูกมองด้วยอคติว่าเป็นกลไกสำคัญในการลักพาตัวเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ส่งขายเป็นทาสมายาวนาน ดาโฮมีอาจไม่ใช่เหยื่อผู้บริสุทธิ์ในโศกนาฏกรรมการค้าทาสแอตแลนติก ทว่าสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตไม่อาจแยกจากกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตล้วนมีสาเหตุก่อนหน้าทั้งสิ้น ดาโฮมีเรียนรู้ที่จะปรับตัวจากเหยื่อมาเป็นผู้ล่าหลังเป็นฝ่ายถูกกระทำมานานปี ผลที่เกิดขึ้นคือพวกเขากลายเป็นที่ชิงชังในหมู่ทายาททาสพลัดถิ่นในโลกใหม่ หากปล่อยวางอดีตและก้าวไปข้างหน้า ชาวแอฟริกันทุกคนเรียนรู้ที่จะเข้าใจและให้อภัยในสิ่งที่บรรพบุรุษเคยทำพลาด วันหนึ่งวันใดทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งจะกลายมาเป็นบทเรียนจากความทรงจำเพื่อปัจจุบันและอนาคต
หนังสือและบทความอ้างอิง
Alpern, Stanley B. On the Origin of the Amazons of Dahomey, History in Africa, Vol.25: 9 – 25. Cambridge: Cambridge University Press, 1998.
Fett, Sharla M. Recaptured Africans: Surviving Slave Ships, Detention, and Dislocation in the Final Years of the Slave Trade. Chapel Hill: University of North Carolina Press, 2016.
Law, Robin. Dahomey and the Slave Trade: Reflections of the Historiography on the Rise of Dahomey, The Journal of African History, Vol.27 No.2: 237 – 267. Cambridge: Cambridge University Press, 1986.
Thomas, Hugh. The Slave Trade: The Story of the Atlantic Slave Trade: 1440 -1870. New York: Simon; Schuster Paperbacks, 1997.
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ