ไทยเกือบเปลี่ยนชื่อพระสยามเทวาธิราชเพราะเหตุใด
เมื่อประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตชาติอันหนักหน่วงครั้งใด เมื่อนั้นคนไทยย่อมนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนามว่า พระสยามเทวาธิราช ให้ช่วยเหลือเสมอ ทั้งนี้พระสยามเทวาธิราช เป็นเทพารักษ์ประจำชาติ ที่มีฐานะและอำนาจสูงสุดเหนือเทวดาทั้งปวง
พระสยามเทวาธิราช หล่อด้วยทองคำ สูง 8 นิ้ว ทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ สวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ถือพระแสงขรรค์ชัยศรี สวมพระบาทเชิงงอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ โดยเฉพาะพระมหาพิชัยมงกฏเป็นเครื่องแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้พระสยามเทวาธิราชไม่ใช่พระพุทธรูปในศาสนาพุทธ และไม่ใช่เทวดาในศาสนาพราหมณ์ หากแต่เป็นเทวดาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นจากความเชื่อของพระองค์ว่า การที่เมืองไทยเกือบจะเสียเอกราชหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังคงสามารถรอดพ้นภยันอันตรายจากภายนอกประเทศ เหมือนว่าจะมีเทวดาคอยคุ้มครองรักษาไว้อยู่ พระองค์จึงสร้างเทวรูปเป็นสัญลักษณ์ของเทวดาองค์นั้นขึ้นเพื่อบูชา
โดยรัชกาลที่ 4 ทรง “ประดิษฐ์” พระสยามเทวาธิราชขึ้นมาให้เป็น “เทพารักษ์ประจำรัฐสยาม” มีสถานะเหนือเทพารักษ์องค์อื่นๆ เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง และยังทำหน้าที่ควบคุมผีและเทวดาองค์อื่นอีกด้วย
“…เทพยอันทรงนามสยามเทวาธิราชซี่งมีอำนาจได้บริรักษ์บำรุงกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยานี้ และเปนอธิบดีในสยามรัฐิกเทพยาทั้งสิ้นทุกสถาน……”
พระองค์ทรงสักการะบูชาและถวายเครื่องสังเวยเป็นประจำทุกวัน และมีการบวงสรวงประจำปีในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 หรือวันปีใหม่ไทยในทางจันทรคติ แต่ทว่าเป็นพระราชพิธีภายในไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว
หลังเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หารือกับทางสำนักพระราชวังเรื่องการเปลี่ยนนาม พระสยามเทวาธิราช เป็น พระไทยเทวาธิราช
“ด้วยเลขาธิการพระราชวัง เรียนปฏิบัติมาในเรื่องนามเทวรูป “พระสยามเทวาธิราช” ว่าจะให้คงนามนี้ไว้หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามประการใด…”
แต่กรมศิลปากรมีความเห็นว่า “กรมศิลปากรกับคณะกรรมการรัฐนิยมมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าเทวรูปก็ดี สิ่งสำคัญอื่นๆ ก็ดี บรรดาที่มีนามเป็นคำว่า “สยาม” นั้น สิ่งใดทางราชการต้องใช้ต่อไป ควรเปลี่ยนนามหรือสร้างขึ้นใหม่ สิ่งใดไม่มีความจำเป็นต้องใช้ควรปล่อยไว้ตามเดิมโดยไม่แตะต้องสำหรับเทวรูป “พระสยามเทวาธิราช” นี้ ตามความรู้เห็นของกรมศิลปากรไม่ปรากฏว่าต้องใช้ในพิธีใด นอกจากต้องมีการสังเวยปีละครั้งในเดือนเมษายน ซึ่งกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดละครไปแสดงในการสังเวย นอกจากนี้กรมศิลปากรไม่ทราบว่ามีพิธีการอื่นอีกเกี่ยวกับเทวรูปองค์นี้” สรุปว่าให้คงชื่อเดิมไว้ แต่ยกเลิกการสังเวยประจำปีหรืองานพิธีอื่นๆ เกี่ยวกับเทวรูปองค์นี้ (ถ้าหากมี)
แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกพิธีการที่เกี่ยวข้อง (หรือหมายความว่าถ้ายังคิดว่าเทวรูปองค์นี้ยังมีประโยชน์อยู่ ยังฟังชั่น) กรมศิลปากรก็มีข้อเสนอให้สองแนวทางคือ ก) ให้เปลี่ยนชื่อเป็น พระไทยเทวาธิราช หรือ ข) สร้าง “พระไทยเทวาธิราช” แล้วปล่อยพระสยามเทวาธิราชไว้ตามเดิม แต่กรมศิลปากรมีใจไปทางในข้อ ข. ท้ายสุดคณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่า
“พระสยามเทวาธิราชมิได้มีการทำพิธีเป็นทางการแต่อย่างใด ฉะนั้นคงปล่อยไว้ตามเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงประการใด”
เมื่อพระสยามเทวาธิราชถูกสร้างขึ้นจึงได้รับการเอ่ยพระนามอยู่เสมอ ด้วยเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ คอยปกป้องคุ้มครองสยามให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนเป็นประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงสักการะปูชนียวัตถุศักดิ์สิทธิ์สำคัญในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด 13 แห่ง โดย พระสยามเทวาธิราช เป็นความสำคัญอันดับแรก
ในสมัยรัชกาลที่ 9 มีการรื้อฟื้นการบวงสรวงเป็นประจำอีกครั้ง โดยทำการสักการะและถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและเสาร์ เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในราชสำนักฝ่ายใน เป็นพิธีภายในโดยเฉพาะเท่านั้น ต่อมาในคราวที่กรุงเทพมหานครได้ผ่านพ้นภัยพิบัติต่างๆ มาจนครบ 200 ปี ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงโปรดกำหนดพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชในท้ายพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชาเป็นครั้งแรก
ในปีพ.ศ.2540 และ 2542 กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช นอกจากนี้ มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชไปเป็นสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชประทับนั่ง คล้ายกับบนหน้าเหรียญกษาปณ์ทองแดงพระบรมรูป – ตราสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช ที่ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ได้เพิ่มให้พระสยามเทวาธิราชถือถุงเงินในพระหัตถ์ขวา โดยเริ่มใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 เป็นต้นมา
ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกือบมีการเปลี่ยนชื่อพระสยามเทวาธิราช ซึ่งหากเปลี่ยนชื่อพระสยามเทวาธิราช เป็น พระไทยเทวาธิราช ประวัติศาสตร์ไทยหลายอย่างคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเลยทีเดียว
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
วีระศักดิ์ จารุโณปถัมภ์. (2544). สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช : การวิเคราะห์และตีความหมายเชิงมานุษยวิทยา. เข้าถึงจาก