Museum Core
ประเพณีมอญในราชสำนักสยาม
Museum Core
29 ก.ย. 63 525

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ประเพณีมอญในราชสำนักสยาม

 

 

 

ชาวมอญ หรือชาวรามัญอพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายมอญกระจายในหลายพื้นที่ และปรากฏว่ายังคงมีการรักษาและสืบทอดประเพณีมอญจนถึงทุกวันนี้ มีประเพณีมอญที่มีอิทธิพลต่อราชสำนักสยาม ซึ่งจะขอนำมากล่าวในบทความนี้ คือ สวดพระปริตรมอญ ตักบาตรน้ำผึ้ง และประเพณีข้าววันพุธ

 

การสวดพระปริตรมอญ เป็นโบราณราชประเพณีในราชสำนักไทยที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพิธีที่ปฏิบัติเฉพาะส่วนพระองค์ กล่าวคือเป็นพิธีที่พระสงฆ์ฝ่ายรามัญสวดพระปริตรเป็นภาษามอญเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับใช้เป็นน้ำสรงพระพักตร์ (น้ำล้างหน้า) และน้ำโสรจสรง (น้ำอาบ) รวมทั้งใช้ในการประพรมพระที่นั่งองค์สำคัญในเขตพระราชฐานชั้นในเป็นประจำทุกวัน รวมถึงเมื่อเสด็จออกการศึกสงครามก็ต้องมีพระปริตรามัญตามเสด็จด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงความสำคัญของการสวดพระปริตรมอญ ดังนี้

 

“ในพระราชนิเวศน์เวียงวังของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตามแบบแผนบุรพประเพณีสืบมา พระสงฆ์รามัญได้สวดพระปริตรตามแบบอย่างข้างรามัญ ถวายน้ำพระพุทธมนต์และน้ำสรงพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นน้ำสำหรับสรงพระพักตร์ ประพรมเป็นทักษิณาวรรตรอบขอบในจังหวัดพระราชมหามณเฑียรนี้ทุกวัน เป็นการพระราชพิธี มีสำหรับบรมราชตระกูลสืบมาแต่โบราณ ...”  มีการสวดพระปริตรมอญที่หอศาสตราคม พระบรมมหาราชวังเป็นประจำทุกวัน จนถึงปีพ.ศ.2489 จึงทำการสวดเฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น

 

ตักบาตรน้ำผึ้ง ตามคติความเชื่อของคนมอญตั้งแต่อดีตถือว่าการตักบาตรน้ำผึ้งมีอานิสงส์มาก เนื่องจากน้ำผึ้งจัดว่าเป็นยาบำบัดโรคสำหรับพระสงฆ์ ชาวมอญจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเห็นได้จากยังคงรักษาสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้  ส่วนการการตักบาตรน้ำผึ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีของราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่า

 

“การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง...การตักบาตรน้ำผึ้งนี้ ไม่ได้เป็นการพระราชกุศลซึ่งมีมาในเรื่องเก่าๆ ปรากฏในหนังสือแห่งใด เป็นการเพิ่งเกิดใหม่ในรัชกาลที่ 4 เหมือนอย่างวิสาขบูชาและมาฆบูชา”

 

การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นการพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อครั้งผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงจัดขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศจำนวน 10 รูป ภายหลังจึงนิมนต์พระจากวัดราชประดิษฐ์เข้าร่วมตักบาตรน้ำผึ้งด้วย

 

พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์นำบาตรมาตั้งบนม้าที่จัดเตรียมไว้ บรรดาเจ้านายฝ่ายในก็ตักน้ำผึ้งใส่ลงในบาตรรวมทั้งผลสมอด้วย จากนั้นพระองค์จึงเสด็จลงทรงจุดเครื่องนมัสการ เมื่อทรงประเคนแล้วเสด็จทรงบาตรน้ำผึ้ง เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จจึงทรงถวายไทยทาน หมากพลูธูปเทียน และน้ำผึ้งขวดอัดขนาดเล็กขวดหนึ่ง จากนั้นมีการเทศนาเรื่องตักบาตรน้ำผึ้งให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฟัง อย่างไรก็ตามการพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้งในสมัยพระราชสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้มีประจำทุกปี และยกเลิกไปในสมัยนี้เอง

 

ประเพณีข้าววันพุธ สืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องการหุงข้าวทิพย์ของมอญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกไว้บนแผ่นศิลา 7 แผ่น ติดไว้ที่คอสองในศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เชื่อกันว่าประเพณีดังกล่าวจะนำมาซึ่งสวัสดิมงคลแก่ผู้กระทำ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระวิจารณ์ต่อท้ายนิทานเรื่องหุงข้าวทิพย์ของมอญ ในหนังสือ "ลำดับสกุลคชเสนี กับโบราณคดีมอญ" ไว้ดังนี้

 

"นิทานเรื่องนี้จารึกศิลาเป็นตำราอย่างหนึ่ง ติดไว้ในวัดพระเชตุพนแต่รัชกาลที่ 3 คงนับถือกันมาแต่ก่อนว่าเป็นพิธีที่เกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้ทำ และไทยได้รับมาทำ ข้าพเจ้าผู้วิจารณ์ได้เคยเห็นส่งข้าวทำด้วยพิธีนี้ มีกล้วยและอาหารอย่างอื่นใส่กระจาดย่อมๆ ขนาดเท่าชาม ทำรูปและปิดกระดาษเหมือนกระจาดของพระ ส่งข้าวไปแจกพระเจ้าลูกเธอในพระบรมมหาราชวังเมื่อรัชกาลที่ 4 ทุกวันพุธ เรียกกันว่า “ข้าววันพุธ” แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพนักงานทำและทำมาแต่เมื่อใด เลิกเมื่อต้นรัชกาลที่ 5"

 

ประเพณีข้าววันพุธ คือประเพณีการให้ทานอย่างหนึ่ง เลียนแบบการถวายสลากภัตแด่ภิกษุสงฆ์ ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาในราชสำนัก เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คาดว่าเกิดจากสตรีมอญที่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่จัดเตรียมเครื่องถวายในการพระราชกุศล ด้วยกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ รวมทั้งเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ตลอดจนเจ้าจอม ข้าราชบริพาร รวมทั้งนางในจำนวนมากในรัชกาลที่ 4 ที่ล้วนเป็นมอญ และคงได้ปฏิบัติถวายงานตามลัทธิธรรมเนียมในทางพุทธศาสนาในแบบของตน นอกจากการทำบุญกับสงฆ์แล้ว ยังเผื่อแผ่สู่การให้ทานฆราวาสก็ถือเป็นการฝึกตนในการลดละกิเลสส่วนตนซึ่งได้บุญกุศลด้วยเช่นกัน

 

น่าเชื่อได้ว่า ประเพณีมอญที่ปรากฏอยู่ในราชสำนักสยามจำนวนมากนี้ เกิดจากการที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดปรานในวัฒนธรรมประเพณีมอญเป็นการส่วนพระองค์ นับแต่ได้ทรงนำแบบแผนและวัติปฏิบัติของพระมอญรามัญนิกายในการปรับปรุงคณะสงฆ์และสถาปนาขึ้นเป็นธรรมยุติกนิกายแล้ว ยังได้นำประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติในทางพุทธศาสนาทั้งในส่วนของสงฆ์และฆราวาสปรับปรุงขึ้นเป็นแบบแผนพระราชพิธีในราชสำนักจำนวนมาก เช่น ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีหุงข้าวทิพย์ ประเพณีมอญร้องไห้ และประเพณีเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งประเพณีสลากภัตรดังกล่าวข้างต้น

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม

 

ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 2 หมวดราชประเพณีโบราณ. เข้าถึงจาก

ทัศนธรรม. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานประชุมเพลิงศพ คุณพ่อถนอม อาณัติวงศ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2516. เข้าถึงจาก

พระญาณวโรดม (สนธิ์). คู่มือปฏิบัติงานศาสนพิธี. พิมพ์อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเจียร กอวัฒนา ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง 30 มีนาคม 2511. เข้าถึงจาก

พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร. (11 เมษายน 2562). ประเพณีพระสงฆ์รามัญสวดพระปริตทําน้พระพุทธมนตร์ในพระราชวังชั้นใน. เข้าถึงจาก

สุภรณ์ โอเจริญ. (2541). มอญในเมืองไทย. เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ