ช้างเผือก ต้องมีสีขาวเท่านั้นจริงหรือ
ในสังคมไทยมีคติว่าช้างเผือกเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมือง หากพระมหากษัตริย์องค์ใดมีช้างเผือกมากก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญญาบารมีมาก เนื่องจากช้างเผือกเป็นหนึ่งในเจ็ดรัตนะอันเป็นของคู่บารมี หรือ สัปตรัตนะของพระมหาจักรพรรดิราช ประกอบด้วย จักรรัตนะ (จักรแก้ว) หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว) อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว) มณีรัตนะ (มณีแก้ว) อัตถีรัตนะ (นางแก้ว) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) และ ปรินายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)
ช้างเผือกสำหรับคนทั่วไปแล้วคือ ช้างที่มีสีผิว นัยน์ตา และเล็บขาว แต่ในตำราคชลักษณ์ ช้างเผือกนั้นไม่จำเป็นต้องมีสีขาวแต่เพียงอย่างเดียว อาจมีสีเหลือง เขียว แดง ดำ ม่วง เมฆ ก็อาจเข้าข่ายเป็นช้างเผือกได้ และต้องประกอบด้วยลักษณะอันเป็นมงคล 7 ประการ คือ ตาสีขาว เพดานสีขาว เล็บสีขาว ผิวหนังสีขาว(สีหม้อใหม่) ขนขาว ขนหางขาว อัณฑโกสขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่จึงจะนับว่าสมบูรณ์ด้วยคชลักษณ์
สามารถแบ่งช้างเผือกออกเป็น 3 ประเภทคือ ช้างเผือกเอก เรียกว่า สารเศวตร มีลักษณะถูกต้องสมบูรณ์ตามตำราคชลักษณ์ มีร่างใหญ่ ผิวขาวบริสุทธิ์ดุจสีสังข์ เป็นช้างมงคลคู่บ้านคู่เมือง ช้างเผือกโท เรียกว่า ปทุมหัตถี มีผิวสีชมพู คล้ายสีกลีบบัวโรย หรือบัวแห้ง เป็นช้างมงคลเหมาะแก่การทำสงคราม และ ช้างเผือกตรี เรียกว่า เศวตคชลักษณ์ สีผิวเหมือนใบตองอ่อนตากแห้ง
ตำราพระคชศาสตร์ ได้กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคล และแบ่งช้างมงคลเป็น 4 ตระกูล ตามนามแห่งเทพเจ้าผู้ให้กำเนิด คือ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ พระพรหมเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่างๆ ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจ ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ พระวิษณุเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะแก่ศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหารธัญญาหารจะบริบูรณ์ และช้างตระกูลอัคนีพงศ์ พระอัคนีเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหารและมีผลในทางระงับศึกอันพึงจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวงอันเกิดแก่บ้านเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่าทางราชการ พุทธศักราช 2464 กำหนดให้ช้างป่าที่มีลักษณะพิเศษเป็นของหลวง 3 ชนิด คือ “ช้างสำคัญ” คือ มีลักษณะอันเป็นมงคลครบ 7 ประการ “ช้างสีประหลาด”อันเป็นมงคลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ประการ และ “ช้างเนียม” คือช้างที่มีพื้นหนังดำ งารูปปลีกล้วย และเล็บดำ ผู้ใดมีช้างดังกล่าวไว้ในครอบครอง ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ และถ้าผู้ใดซ่อนเร้นไม่นำทูลเกล้าฯ ถวายมีความผิดทั้งจำและปรับ
เมื่อพบช้างสำคัญหรือช้างสีประหลาด ต้องนำความกราบบังคมทูล และจะมีการตรวจพระคชลักษณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ช้างที่มีลักษณะมงคลนั้นก็จะถูกคัดเลือกออกมาเฉพาะนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างต้น หรือช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณได้แบ่งช้างต้นออกเป็น ช้างศึกที่ทรงออกรบ ช้างสำคัญซึ่งมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน และช้างเผือกซึ่งมีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ช้างต้นจะหมายถึงช้างเผือกเป็นสำคัญ เมื่อถูกนำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีรับและขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ มีเกียรติยศเทียบเท่าเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า
เมื่อพบช้างที่มีลักษณะมงคลครบ 7 ประการ ถือเป็นธรรมเนียมว่ายังไม่เรียกว่าช้างเผือก จนกว่าจะได้ขึ้นระวางสมโภชเป็นช้างสำคัญและรับพระราชทานอ้อยแดงจารึกนามแล้ว จึงเรียกว่า “ช้างเผือก” จะต้องเรียกว่า ช้าง ไม่เรียกว่า เชือก เหมือนช้างสามัญทั่วไป และหากช้างใดได้รับพระราชทินนาม หรือได้รับการสถาปนาเป็นพระยาช้างเผือกประจำองค์ พระมหากษัตริย์ หรือประจำรัชกาลก็ต้องเรียกคำนำหน้าว่า "คุณพระ" ทุกคราวไป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ มักมีพระยาช้างเผือกประจำพระองค์ทั้งสิ้น
ดังเช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลด้วยเช่นเดียวกัน โดยพระราชทานนามว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามนาคบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกทลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญาธิการ ปรมินทรบพิตร สารศักดิ์เลิศฟ้าฯ" ซึ่งเป็นช้างเผือกโท ตระกูลพรหมพงศ์
ในอดีตพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ แบ่งเป็นสองภาคคือ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางพระราชทานนามช้าง และ พระราชพิธีสมโภชขึ้นโรงใน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่มีส่วนนี้
มีขั้นตอนสำคัญดังนี้
พิธีจารึกนามช้างสำคัญ ช้างสำคัญได้รับพระราชทานชื่อ ที่บ่งบอกถึงที่มา ถิ่นกำเนิด คชลักษณ์ ความเป็นพระราชพาหนะ สิริมงคลต่างๆ หรือพระบารมี ในสมัยร.5 นิยมใช้คำหน้านามว่า “พระเศวต” นำหน้าช้างพลาย ส่วนช้างพัง นิยมใช้คำหน้านามว่า “พระเทพ” “พระศรี” และลงท้ายด้วยคำว่า “เลิศฟ้า”
พิธีน้อมเกล้าฯถวายช้างสำคัญ ปกติจะจัดก่อนพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ แต่สามารถจัดในวันเดียวกันก็ได้ เช่น ในพระราชพิธีน้อมเกล้าฯถวายและสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญพระศรีเศวตศุภลักษณ์
พิธีอ่านฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างและกาพย์ขับไม้ประกอบซอสามสาย วัตถุประสงค์คือ ปัดรังควาญ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่อาจติดตัวช้างมาจากในป่า และเป็นการปลอบใจให้ช้างคลายความดุร้ายลง เนื้อหาพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญประกอบด้วยพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ ในส่วนพิธีพราหมณ์จะมีการอ่านคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างซึ่งแต่งขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีนี้โดยเฉพาะ เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เรียกว่า “ลา”
ลาที่ 1 เป็น “บทสดุดี” ลาที่ 2 เป็น “บทลาไพร” ลาที่ 3 เป็น “บทชมเมือง” ลาที่ 4 เป็น “บทสอนช้าง” ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อพราหมณ์อ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง เสร็จจึงขับไม้ประกอบซอสามสาย ลักษณะคำประพันธ์เป็นกาพย์ นิยมแต่งเป็น 5 บท (แผด) แผดที่ 1-4 เหมือนดุษฏีสังเวย แต่ในแผดที่ 5 เป็นบทชมเครื่องคชาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน การขับไม้ถือเป็นของสูงศักดิ์ พบในพระราชพิธีสำคัญเพียง 3 งานเท่านั้นคือ พระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ช้างเผือกจึงไม่จำเป็นต้องมีผิวแค่สีขาว แต่เป็นไปตามตำราคชลักษณ์อีกทั้งต้องผ่านพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ จึงจะได้รับการสถาปานาเป็นช้างเผือกประจำรัชกาล
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. (2556). พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น สวนจิตรลดา. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. เข้าถึงจาก
ช้างเผือก พันตรี สุจิตร ตุลยานนท์ เรียบเรียง พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ 2519. เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก
พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ.2464. เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก
พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. (2546). พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก
พฤทธิสาณ ชุมพล, มรว. และ ศิริน โรจนสโรช. (15 ตุลาคม 2558). ช้างสำคัญในรัชกาล.เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก