Museum Core
การเดินทางของ “ขวัญ”
Museum Core
28 ธ.ค. 61 13K

ผู้เขียน : นลิน สินธุประมา

การเดินทางของ “ขวัญ”

 

 

 

เป็นเรื่องธรรมดาที่พอถึงช่วงปีใหม่ หลายๆ คนก็จะเตรียม “ของขวัญ” เพื่อมอบให้ญาติสนิทมิตรสหาย และไม่กี่วันหลังจากปีใหม่ ก็จะถึงวันเด็ก ที่บุตรหลานของท่านมักจะถูกคาดหวังให้ท่อง “คำขวัญ” วันเด็กกันอย่างแข็งขัน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงต้องเรียกของขวัญว่า “ของขวัญ”? และคำว่าขวัญในของขวัญนี้เกี่ยวข้องกับขวัญใน “คำขวัญ” อย่างไร? ใช่ขวัญเดียวกับ “ความเชื่อขวัญ” ที่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นลายก้นหอยอยู่บนกระหม่อมของเราหรือเปล่า

 

เวลาพูดถึงความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” เราอาจจะนึกว่าความเชื่อเรื่องขวัญยังหลงเหลืออยู่แต่ในชุมชนที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น และคงยากนักที่ความเชื่อเรื่องขวัญจะมาปรากฎอยู่ใน “สังคมเมือง” ที่ถูกมองว่าแสนจะเจริญก้าวหน้า ทว่า หากลองสังเกตดูดีๆ ความเชื่อขวัญในสังคมไทยไม่เคยหายไปไหนไกล แต่ยังฝังรากลึกอยู่ในภาษาที่เราพูดกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน

 

คุณมีเพื่อนหรือคนรู้จักชื่อ “ขวัญ” ไหม? (หรือคุณเองอาจจะชื่อขวัญก็ได้)


คุณชอบดูภาพยนตร์ “สยองขวัญ” หรือเปล่า?

 

ถ้าคุณคุ้นเคยกับคำว่า “ขวัญ” ที่อยู่ในประโยคเหล่านี้อย่างดี ก็แสดงว่าคุณได้ข้องเกี่ยวกับความเชื่อขวัญมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที

 

“ขวัญ” เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่มีอยู่ประจำชีวิตของคนมาตั้งแต่เกิด ขวัญในตัวคน ๆ หนึ่งนั้นมีมากกว่าหนึ่งขวัญ บางกลุ่มชนเชื่อขวัญมีจำนวนมากถึง 80 ขวัญ แต่ขวัญที่สำคัญที่สุดคือขวัญที่อยู่บนกระหม่อมของเรา คนโบราณเชื่อว่าคนตายคือคนที่ขวัญหายและไม่สามารถเรียกขวัญกลับมาได้ ในอดีต เมื่อมีคนตายจึงต้องพิธีเรียกขวัญ เผื่อคนตายจะฟื้นตื่นขึ้นมา แต่หากเรียกแล้วไม่สำเร็จก็ต้องทำพิธีส่งขวัญไปยังเมืองฟ้า ไม่ใช่เพียงการเสียชีวิต แต่อาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ถูกมองว่าเป็นผลจากการขวัญหายเช่นกัน เพราะขวัญสามารถหนีหายไปจากเจ้าของขวัญได้ แต่การหายไปจะทำให้เจ้าของไม่สบายและต้องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียกขวัญกลับมา ความเชื่อนี้เองทำให้ภาษาไทยมีสำนวนเรียกอาการตกใจว่าเป็นอาการ “ขวัญหนีดีฝ่อ” การชมภาพยนตร์ “สยองขวัญ” อาจทำให้ขวัญของคน “ขวัญอ่อน” ตกใจหนีหายไป และหากจะปลอบใจคนที่กำลัง “ขวัญหาย” ก็ต้องปลอบว่า “ขวัญเอ๋ยขวัญมา” เพื่อเรียกขวัญกลับมา นอกจากนี้ ถ้าหากเผอิญอาการตกใจนั้นเกิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย ก็อาจต้องมีการเรียก “ค่าทำขวัญ” จากคู่กรณีด้วย

 

การมีขวัญประจำอยู่กับร่างกายไม่หนีหายไปไหนจึงนับเป็นสิริมงคลต่อคน ๆ นั้น สังคมไทยดั้งเดิมจึงมีประเพณีพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเรียกขวัญและบำรุงขวัญจำนวนมาก เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ ที่จะมักจะจัดในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การเปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ การบวช การแต่งงาน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องจัดพิธีทำขวัญขึ้นทั้งสิ้น แม้แต่ในมหาวิทยาลัยไทย เวลาจัดกิจกรรมรับน้องผู้ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากนักเรียนมัธยมมาเป็นนิสิตนักศึกษา ก็มักจะมีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อมือรับน้องใหม่ด้วยเสมอ เราเรียกสิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้วว่า “ของขวัญ” โดยถือว่าเป็นสิ่งของที่ให้เพื่อถนอมขวัญกันหรือให้เพื่ออัธยาศัยไมตรี นอกจากนี้ ขวัญอาจอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่คนได้ด้วย เช่น ขวัญข้าว ขวัญควาย เป็นต้น ดังนั้นนอกจากเราจะทำขวัญคนแล้ว ก็ยังทำขวัญให้ธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราด้วย

 

ในเชิงความหมายของคำ “ขวัญ” ไม่ใช่เพียงความเชื่อเท่านั้น แต่เป็นคำที่หมายถึง มิ่งมงคล, สิริมงคล, ความดี ด้วย นอกจากนี้ขวัญยังมีความสำคัญสำคัญกับเราในฐานะที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณของเรา จึงไม่แปลกที่เราจะเรียกคนที่เรารักหรือชื่นชมว่า “ขวัญตา”, “ขวัญใจ”, “เมียขวัญ” รวมถึงนำคำว่าขวัญไปตั้งชื่อลูกด้วย หรือการมี “คำขวัญ” ซึ่งราชบัณฑิตให้ความหมายไว้ว่าเป็น “ถ้อยคำที่แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจหรือเพื่อให้เป็นสิริมงคล” และคำขวัญก็ทำหน้าที่เหมือนคติประจำใจที่จะต้องท่องจำไว้ให้มั่นเพื่อเป็นแนวทางให้คนปฏิบัติตาม ทุก ๆ วันเด็ก จึงมีธรรมเนียมที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแต่งคำขวัญวันเด็ก เพื่อบอกเด็ก ๆ ถึงลักษณะของ “เด็กในอุดมคติ” และเตือนใจให้เด็ก ๆ ปฏิบัติตามนั่นเอง

 

การที่ “ขวัญ” ยังแฝงเร้นกายอย่างแนบเนียนอยู่ในสังคมร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่าขวัญเป็นความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย แต่ก็ยังมีคำถามที่น่าสนใจว่าเจ้าความเชื่อ “ขวัญ” นี้มีที่มาจากไหนกันแน่ ก่อนที่ขวัญจะเข้ามาอยู่ในดีเอ็นเอได้ขนาดนี้ ขวัญมีความเป็นมาที่สืบย้อนไปได้ไกลถึงหลายพันปีเลยทีเดียว “ขวัญ” เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่พบหลักฐานในพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์กว่า 3000 ปีมาแล้ว โดยหลักฐานเก่าที่สุดคือ ลายสีเขียนเป็นรูปก้นหอยบนหม้อบ้านเชียง ซึ่งมีไว้ใช้สำหรับประกอบพิธีศพ สันนิษฐานกันว่า ลายก้นหอยดังกล่าวนั้นคือลายขวัญ ความเชื่อขวัญเป็นความเชื่อร่วมในอุษาคเนย์ ไม่ได้พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เช่นคนไทดำในเวียดนามก็มีความเชื่อเรื่องขวัญเช่นกัน

 

ข้อเสนอของราชบัณฑิตยสถานจากรายการวิทยุ “รู้ รัก ภาษาไทย” บอกว่า “ขวัญ เป็น คำไทยแท้” เพราะเป็นคำที่ “มีปรากฏอยู่ในภาษาตระกูลไททุกกลุ่ม” แม้คำว่า “ขวัญ” จะไม่ได้มีตัวสะกดตรงมาตรา ผิดจากหลักที่เรา ๆ เคยเรียนมาว่าคำไทยแท้ต้องสะกดตรงมาตรา แต่เมื่อดูคำว่าขวัญ ในภาษาตระกูลไทอื่น ๆ ก็จะพบว่า คำว่าขวัญในภาษาอื่น ๆ นั้นใช้ตัวสะกด น.หนู เช่น ภาษาลาว (ขวัน), ภาษาไทลื้อ (ฃฺวัน), ภาษาไทใหญ่ (ขฺวัน) เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าคำไทยคำนี้เคยสะกดว่า “ขวัน” ก่อนจะเปลี่ยนมาสะกดว่า “ขวัญ” ในภายหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดของคนในยุคหลัง เห็นได้จากวรรณคดีเรื่อง มหาชาติคำหลวง ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในฉบับที่ชำระโดยกรมศิลปากรนั้นปรากฏการใช้รูปสะกด “ขวัญ” ปนกับ “ขวัน” โดยทั้งสองคำมีความหมายและวิธีการใช้เหมือนกัน เช่น “ความบไข้ขวันบ่า ด้าวแดนป่าธยงงมี” (กัณฑ์มหาพน), “ยงงเมียขวันแลลูกพระ” (กัณฑ์ชูชก) ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ “เมียแก้วเมียขวัญ บำเรอรักษา” เป็นต้น และยังพบการสะกดคำว่า “ขวัญ/ขวัน” ทั้งสองรูปจวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ในโคลงนิราศทวาย (สมัยรัชกาลที่ ๑), บทละครนอก สังข์ทอง (สมัยรัชกาลที่ ๒), รวมถึงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ที่พบแต่รูป “ขวัน” เท่านั้น ไม่พบรูป “ขวัญ” เช่น “ไม้ล่ายก่ายกิดขวาง ขวันพี่ หนีเอย”, “โกนจุกลูกเล็กทำ ขวันเล่า เจ้าเอย” เป็นต้น ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าคำว่า “ขวัญ” เป็นคำที่ภาษาตระกูลไทมีใช้ร่วมกันและใช้อยู่ในภาษาตระกูลนี้มานานมากแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม Cheah Yanchong (1996) เคยเสนอไว้ว่า “ขวัญ” เป็นคำยืมจากภาษาจีน และเมื่อได้ศึกษาคำยืนภาษาจีนในภาษาไทย โดยการสืบสร้างคำว่า “ขวัญ” ในภาษาไทเอเชียตะวันตกเฉียงใต้เดิมตามแนวทางของ ผศ.ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์แล้วเทียบกับคำในภาษาจีน พบว่ารูปสืบสร้างของคำว่า “ขวัญ” คือ “*qwanA” ซึ่งมีเสียงที่สอดคล้อง (sound correspondence) กับคำว่า “*[m.]qʷˤə[n]” ซึ่งเป็นรูปจีนโบราณ (old chinese) ของคำภาษาจีนกลาง (mandarin chinese) คำว่า “魂” (hún) ไม่ใช่เพียงเสียงเท่านั้นที่สอดคล้องกับคำภาษาจีนคำนี้ แต่ความหมายและความเชื่อที่ติดมากับคำก็สอดคล้องกันเช่นกัน คำว่า 魂 (hún) เป็นคำภาษาจีนที่พบอยู่ในภาษาตระกูลจีนหลายกลุ่ม แปลความหมายตรงตัวว่า “วิญญาณเมฆ (cloud-soul)” คือวิญญาณที่ออกจากร่างแล้วไปสวรรค์ ตรงกันข้ามกับ 魄 (pò) ที่แปลว่า “วิญญาณขาว (white-soul)” ซึ่งเป็นวิญญาณที่จะยังคงอยู่กับร่างของผู้ตายแม้จะสิ้นลมหายใจไปแล้ว ความเชื่อ hún กับ pò เป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีนว่าด้วยเรื่องทวิลักษณ์ (dualism) ของลัทธิเต๋าว่าคนเราทุกคนมีวิญญาณสองประเภทอยู่ในตัวคือ hún ซึ่งเป็นหยางและ pò ซึ่งเป็นหยิน ความเชื่อเรื่อง 魂 (hún) สอดคล้องกับความเชื่อขวัญของไทยในแง่ที่จีนก็เชื่อว่ามนุษย์มี hún มากกว่าหนึ่ง ในที่นี้คือ มีสามหุนเจ็ดโป้ รวมถึงมอง hún เป็น “วิญญาณ” ที่ต่างไปจากมโนทัศน์เรื่อง “soul” แบบคริตศาสนาที่มองว่าวิญญาณมีหนึ่งเดียวและเมื่อวิญญาณออกจากร่าง มนุษย์คนนั้นก็จะตาย นอกจากนี้ พิธีศพของชาวจีนโบราณยังมีพิธีเรียกวิญญาณ 魂 (hún) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิธีเรียกขวัญในงานศพในแถบลุ่มแม่น้ำโขงด้วย (Cheah 1996) ด้วยเหตุนี้ Cheah Yanchong จึงได้เสนอไว้ว่าร่องรอยคำยืมภาษาจีนในภาษาไทยนั้นแสดงให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรม Hua Xia ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวฮั่นโบราณ ที่มีต่อวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของไทย และใช้คำยืมจีนโบราณในภาษาไทยมาเป็นหลักฐานในการสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าคนไทเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศจีนมาก่อน

 

ข้อสันนิษฐานหลังนี้ก็ควรค่าแก่การพิจารณาอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาประกอบกับผลการศึกษาของพิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (2014) ที่เสนอให้เห็นว่าภาษา Proto-southwestern Tai ที่เป็นภาษาบรรพบุรุษของภาษาตระกูลไทปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอย่างน้อยถึงช่วงราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618–907) และภาษา Southwestern Tai นั้นเริ่มมีการแพร่กระจายในช่วงเวลาระหว่างคริสตศตวรรษที่ 8 – 10 เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อสันนิษฐานว่าคำว่า “ขวัญ” น่าจะยืมเข้ามาในภาษาตระกูลไทตั้งแต่ยุคของภาษาจีนสมัยเก่า (1122–256 BC) รวมถึงความหมายและบริบทการใช้คำก็สอดคล้องกัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานใหม่ได้ว่าภาษาตระกูลไททุกภาษามีคำว่า “ขวัญ” ใช้ร่วมกัน เนื่องจากยืมคำนี้จากภาษาจีนเข้ามาก่อนที่ภาษาตระกูลไทจะเริ่มมีการแพร่กระจายและปรากฏคำยืมที่แตกต่างกันนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นด้วยว่าเครื่องปั้นดินเผาและอารยธรรมบ้านเชียงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาโดด ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีมีลักษณะที่สัมพันธ์กับอารยธรรมดองซอนของเวียดนามและอารยธรรมทางตอนใต้ของจีนด้วย

 

ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าขวัญจะมาจากไหนหรือมีอายุยาวนานเพียงใด ก็คงยากจะปฏิเสธว่าทุกวันนี้ ความเชื่อ “ขวัญ” ยังคงทิ้งร่องรอยอันทรงอิทธิพลไว้ในภาษาไทย ไม่ว่าจะในชื่อ ถ้อยคำ สำนวน ความคิด ในแบบที่ต่อให้เราไม่เคยรู้จักความเชื่อเรื่องขวัญมาก่อนในชีวิต ก็อาจต้องเคยพูดหรือใช้วิธีคิดที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อขวัญมาแล้วสักครั้งโดยไม่รู้ตัว ทุก ๆ ครั้งที่เราให้ของขวัญวันปีใหม่ ต่อให้ “วันปีใหม่” นี้จะเป็นวันที่สุดแสนจะสากลแค่ไหน ความเชื่อขวัญก็ซ่อนอยู่ในถ้อยคำ ส่งความปรารถนาดีผ่านสิ่งของไปบำรุงขวัญของผู้รับให้แข็งแรง

 

 

นลิน สินธุประมา

 

 



บรรณานุกรม

 


ขวัญ (๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๑). อ่านออนไลน์


สาริด คะนิท. การดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อดั้งเดิมและพิธีกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย: กรณีศึกษาที่หมู่บ้านวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.


สุจิตต์ วงษ์เทศ. งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก, 2560.


สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุจิตต์ วงษ์เทศ : งานศพดั้งเดิม เกี่ยวข้องกับขวัญ ไม่วิญญาณ. อ่านออนไลน์


Hun and po. อ่านออนไลน์


Pittayawat Pittayaporn. “Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of Spread of Southwestern Tai.” MANUSYA: Journal of Humanities, Special Issue No 20, 2014.


Cheah Yanchong. “More Thought on the Ancient Culture of the Tai People: The Impact of the Hua Xia Culture.” Journal of The Siam Society Vol.48, Part 1, 1996.

 

 

 

Museum Siam Knowledge Center

 


ประชุมเชิญขวัญ. / เสกวโท พระวันวาดวิจิตร. อ่านออนไลน์

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ