Museum Core
ถอดรหัสไทยในตาชั่ง จาก “เมล็ดข้าว” สู่ “กิโลกรัม”
Museum Core
03 เม.ย. 61 3K

ผู้เขียน : โดม ไกรปกรณ์

ถอดรหัสไทยในตาชั่ง จาก “เมล็ดข้าว” สู่ “กิโลกรัม”

 

 


ทุกวันนี้ การชั่งน้ำหนักมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างมากเห็นได้จากแบบฟอร์มตรวจสุขภาพ ใบสมัครสมาชิกฟิตเนส ฯลฯ ที่มักจะถามเรื่องน้ำหนักตัว หรือไม่ก็เห็นได้ที่ตลาด เวลาจับจ่ายซื้อขายสินค้าก็ต้องมีตาชั่งให้พ่อค้าแม่ค้าชั่งน้ำหนักสินค้า ส่วนคนซื้อที่ถี่ถ้วนก็จะคอยส่องตาชั่งว่าโดนพ่อค้าแม่ค้าโกงน้ำหนักหรือเปล่า

 


มาตราชั่งน้ำหนักที่เราคุ้นหูคุ้นตากันในปัจจุบันดูจะเป็นมาตราชั่งแบบตะวันตกที่ใช้หน่วยเป็น กรัม, กิโลกรัม บทความชิ้นเล็กนี้จะนำพาให้เรารู้จักความเป็นมาของเครื่องชั่งและมาตราชั่งน้ำหนักของไทยว่าก่อนจะมีเครื่องชั่งและมาตราชั่งแบบฝรั่ง สังคมไทยใช้อะไรในการชั่งน้ำหนัก ใช้หน่วยน้ำหนักแบบไหน แล้วทำไมจึงมีการใช้เครื่องชั่งและมาตราชั่งน้ำหนักแบบตะวันตก

 

 

การชั่งน้ำหนักแบบไทยในสมัยจารีต

 


ในไตรภูมิพระร่วงซึ่งเชื่อกันว่าเขียนขึ้นในสมัยสุโขทัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำยม (บริเวณภาคกลางตอนบน) เจริญรุ่งเรือง มีการกล่าวถึงคำว่า “ตาชั่ง” โดยมีความเป็นไปได้มากว่าคำที่ปรากฏในวรรณกรรมสมัยสุโขทัยนี้จะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้สำหรับชั่งน้ำหนักสิ่งของ ซึ่งแสดงถึงการมีตาชั่งใช้กันแล้ว ตาชั่งนี้อาจจะเป็น “ตาชู” เครื่องชั่งของชาวสุเมเรียน

 


เนื่องจาก “ตาชู” ซึ่งเป็นเครื่องชั่งน้ำหนักที่ชาวสุเมเรียนในเมโสโปเตเมียคิดค้นขึ้นได้แพร่หลายเข้ามาในอินเดียแล้วแพร่หลายเข้ามาในพม่าและล้านนา ทั้งยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า สุโขทัยอาจได้ความรู้เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักหรือตัวตาชูแบบสุเมเรียนที่เผยแพร่ต่อจากอินเดียมายังลังกาซึ่งศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ที่สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีให้จารขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีพระจากสุโขทัยไปศึกษาพระธรรมที่เกาะลังกา ทั้งยังมีพระภิกษุจากลังกามาเผยแผ่พุทธศาสนาในสยาม ด้วยที่ตั้งของเกาะลังกาอยู่ไม่ไกลจากอินเดียจึงมีความเป็นไปได้ที่ความรู้เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักหรือตัวตาชูแบบสุเมเรียนที่อินเดียรับมาจะแพร่เข้าสู่ลังกาและจะผ่านจากลังกามาสู่สุโขทัยอีกทอดหนึ่ง

 


อีกทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ สุโขทัยอาจจะรับวัฒนธรรมการใช้ตาชูชั่งน้ำหนักมาจากล้านนา เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่ระบุว่าสุโขทัยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอาณาจักรล้านนา มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้ง 2 อาณาจักร

 


นอกจากนี้แล้วอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง “ตาชั่ง” ที่กล่าวถึงในไตรภูมิพระร่วง อาจจะหมายถึงตาชั่งแบบจีนที่เรียกว่า “ตาเต็ง” ก็เป็นไปได้ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่ามีชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิ และชนชาติไทในภูมิภาคนี้ได้รับเอาตาชั่งแบบจีนมาใช้โดยเรียกว่า “ตาเต็ง”
สำหรับระบบชั่งน้ำหนักที่ใช้กันในสังคมสุโขทัย แม้จะยังไม่พบข้อมูลที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรงอย่างชัดเจน แต่เราอาจพิจารณาได้จากระบบการชั่งนำหนักของชาวไทซึ่งมีการแบ่งหน่วยน้ำหนักเพื่อใช้ชั่งสิ่งของ สินค้า โลหะมีค่า ออกเป็น 11 หน่วย (เรียงจากน้อยไปหามาก) ได้แก่ เมล็ดข้าว กล่อม กล่ำ ไพ เฟื้อง สลึง บาท ตำลึง ชั่ง ดุล ภารา

 


สำหรับการชั่งตวงวัดของคนในอาณาจักรอยุธยา มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในสมัยอยุธยารู้จักใช้ตาชั่งแบบตาชูของสุเมเรียนในการชั่งน้ำหนักสิ่งของ ดังที่กฎมณเฑียรบาลในกฎหมายตราสามดวง ได้กล่าวถึงพระราชพิธีตุลาภาร ซึ่งเป็นพิธีการสะเดาะเคราะห์หรือไม่ก็พิธีบำเพ็ญทานของพระมหากษัตริย์ ในพระราชพิธีนี้มีการใช้ตาชูสำหรับชั่งทรัพย์สินให้เท่ากับน้ำหนักของพระมหากษัตริย์ แล้วนำของมีค่านั้นไปพระราชทานให้พราหมณ์

 


นอกจากนี้ในการค้าขายของคนสมัยอยุธยาก็มีการชั่งน้ำหนักสิ่งของด้วย โดยบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้กล่าวว่า ในสยามมีการใช้น้ำหนักของเงินตราเป็นมาตราวัดน้ำหนักสิ่งของ ในการซื้อขายสินค้าชาวสยามจะวางสินค้าบนตาชั่งข้างหนึ่งและใช้เงินตรากองลงบนถาดอีกข้างหนึ่งของตาชั่ง สำหรับระบบน้ำหนักที่ใช้กันนี้ ข้อมูลจากบันทึกของลาลูแบร์ กล่าวถึงมาตราชั่งน้ำหนักของชาวสยามไว้ว่ามีหน่วยน้ำหนักเป็น หาบ ชั่ง ตำลึง บาท แต่ทว่ามาตราชั่งน้ำหนักของชาวสยามสมัยอยุธยาไม่ค่อยมีมาตรฐานที่แน่นอนนัก ดังเห็นได้จากที่ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด (เรียบเรียงจากคำให้การของชาวอยุธยาที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปในครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับคำให้การชาวกรุงเก่า) ได้ระบุว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาได้มีการออกกฎหมายการใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงเครื่องวัดต่าง ๆ ให้เที่ยงตรงตามราชประเพณี

 


หลังจากอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปและได้มีการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ จากข้อเท็จจริงที่พบในหนังสือ “ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม” ที่เขียนโดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทำให้ทราบว่าระบบการชั่งน้ำหนักที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีความใกล้เคียงกับระบบชั่งน้ำหนักในสมัยอยุธยา ดังที่หนังสือของเซอร์จอห์น เบาว์ริง กล่าวถึงมาตราชั่งน้ำหนักของชาวสยาม (โดยอ้างต่อจากข้อมูลของทางการฝรั่งเศสอีกต่อหนึ่ง) ว่าไล่เรียงจากน้อยไปหามากคือ หุน เฟื้อง สลึง บาท ชั่ง

 

 

การชั่งน้ำหนักแบบตะวันตกในยุคแรกเริ่มสมัยใหม่

 


มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นยุคสมัยที่พระมหากษัตริย์และชนชั้นนำของสยามได้ปฏิรูปประเทศสยามให้ทันสมัยแบบตะวันตก ในส่วนของการชั่งตวงวัดพบว่า มีประกาศในสมัยรัชกาลที่ 4 บ่งชี้ว่าพระองค์พยายามที่จะนำเอามาตราและวิธีการชั่งตวงวัดแบบสมัยใหม่ (แบบตะวันตก) เข้ามาใช้ในสยาม แต่ด้วยเหตุที่ราษฎรชาวสยามยังไม่เข้าใจมาตราการชั่งตวงวัดอย่างอังกฤษ จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ได้

 


บันทึกความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าหลวงทรงพยายามจะนำเอาวิธีการและมาตราชั่งตวงวัดแบบสมัยใหม่คือมาตราเมตริกมาใช้แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6 จึงมีข้อเท็จจริงที่แสดงว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำเอามาตราชั่งตวงวัดแบบสมัยใหม่มาใช้อย่างเป็นทางการ โดยสยามได้เข้าเป็นสมาชิกในอนุสัญญาสากล ชั่งตวงวัดแบบเมตริก องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยชั่งตวงวัดใน พ.ศ. 2455 และต่อมาใน พ.ศ. 2466 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดฉบับแรก

 


เราอาจวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการชั่งน้ำหนักแบบไทยที่เดิมรับอิทธิพลมาจากแบบสุเมเรียนและแบบจีน มาเป็นระบบการชั่งน้ำหนักแบบตะวันตกในยุคสมัยที่ชนชั้นนำสยามปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของชนชั้นนำสยามในการปฏิรูปประเทศเพื่อรักษาสถานภาพของผู้นำเอาไว้และป้องกันการรุกรานของชาติตะวันตก ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกมาใช้แทนวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของไทย เช่นเดียวกับหลายกรณีที่เกิดขึ้นในยุคนั้น เช่น การปฏิรูประบบการปกครอง ฯลฯ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบการชั่งน้ำหนักนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสยามในการใช้มาตราการชั่งน้ำหนักตามมาตรฐานสากลซึ่งสะดวกต่อการค้าขายกับชาติตะวันตก

 


คงเหมาะอย่างยิ่งที่จะปิดท้ายบทความนี้ด้วยการบอกว่า “ความเป็นไทย” ที่บริสุทธิ์แท้หายากยิ่ง เพราะวัฒนธรรมไทยแต่ตั้งแต่โบราณมา เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ในชีวิต อย่าง “การชั่งน้ำหนักสิ่งของ”

 

 

โดม ไกรปกรณ์

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 


กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. (2537). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.


กระทรวงพาณิชย์. (2552). 89 ปี พาณิชย์ วันพาณิชย์ 20 สิงหาคม 2552. กรุงเทพฯ: บริษัทคาริสม่า มีเดีย จำกัด.


ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์). (2523). 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม. อ่านออนไลน์

 

คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. (2515). พระนคร: คลังวิทยา. อ่านออนไลน์


นวรัตน์ เลขะกุล. (2542). เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์. กรุงเทพฯ: สารคดี.


เบาว์ริง, จอห์น. (2550). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1. อนันต์ ศรีอุดม,กัณฐิกา ศรีอุดม, พีรศรี โพวาทอง (แปล). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.


รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. (2548). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.


ไรท์, ไมเคิล. (2541). ฝรั่งคลั่งสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน.


ลาลูแบร์, มองซิเออร์ เดอ. (2552). จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี:ศรีปัญญา.


ส. พลายน้อย. (2544). รู้ร้อยแปด เล่ม 2. กรุงเทพฯ:สารคดี.


สรัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

 

Museum Siam Knowledge Center


ประวัติศาสตร์ล้านนา. / สรัสวดี อ๋องสกุล


จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม / มร. เดอะ ลา ลูแบร์ ; แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ