Museum Core
คุยกับ “รอมแพง” ฤาเป็นบุพเพสันนิวาส เมื่อประวัติศาสตร์หมั้นหมายกับนิยาย
Museum Core
07 มี.ค. 61 17K

ผู้เขียน : Administrator

คุยกับ “รอมแพง” ฤาเป็นบุพเพสันนิวาส เมื่อประวัติศาสตร์หมั้นหมายกับนิยาย

 

 

 

ในโมงยามนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “บุพเพสันนิวาส” ละครย้อนอดีตที่มีฉากหลังเป็นอยุธยาสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ สร้างขึ้นจากนิยายชื่อเดียวกัน ด้วยการเล่าเรื่องที่ราวจะพาผู้ชมและผู้อ่านนิยายโจนทะยานไปกับตัวละครเอก ทำให้ทั้งละครและหนังสือได้รับความนิยมไปจนทั่วพระนคร เกิดเป็นกระแสบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์

 


Musuem’s core ขอชวนผู้อ่านไปรู้จักกับ รอมแพง นามปากกาของ อุ้ย – จันทร์ยวีร์ สมปรีดา แต่ใครจะรู้ว่าในคราบนักเขียนมือทอง เธอคือนักท่องโลกประวัติศาสตร์ตัวยง ด้วยภูมิหลังบัณฑิตคณะโบราณคดี วิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอเล่าประวัติศาสตร์ผ่านนิยายได้อย่างมีอรรถรส จุดกระแสให้สังคมกลับไปสนใจประวัติศาสตร์อีกครั้ง

 

 

Musuem’s core: ทราบมาว่ารอมแพงเรียนจบทางด้านโบราณคดีมา ทำไมจึงเลือกเรียนทางด้านนี้ ?


รอมแพง: เรียนจบประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรค่ะ คือชอบโบราณสถาน ก็เลยอยากรู้ว่าเป็นยังไง มีรายละเอียดอะไร แล้วก็ชอบศิลปะ ปกติชอบภาพวาดด้วย ตอนเรียนก็เรียนทั้งไทยและตะวันตกค่ะ แต่เน้นตะวันตกเสียมากกว่า เช่น ภาพวาดของเรอนัวร์ (ปีแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ -Pierre-Auguste Renoir) และ โมเน่ต์ (โคลด โมเน่ต์-Claude Monet)


ความสนุกของประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่ตรงที่เวลาเราไปที่ไหนก็ตาม แล้วเรารู้สึกได้ว่ามันเคยผ่าน เคยมีอะไรขึ้นมาในสถานที่แห่งนี้บ้าง รู้สึกว่ามันจินตนาการได้ พอเรียนแล้วจะรับรู้เรื่องราวของสถานที่ต่าง ๆ เนื้อหาวิชาส่วนใหญ่จะสอนประมาณว่า ปูนปั้นลักษณะนี้อยู่ในช่วงสมัยไหน ในสมัยนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

 

Musuem’s core: แต่สำหรับคนทั่วไปมักคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ เวลาเรียนก็จะถูกให้ท่องจำปี พ.ศ. ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง รอมแพงมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ?


รอมแพง: ประวัติศาสตร์ศิลปะจะเน้นไปที่ปูนปั้นนูนสูงนูนต่ำ ชนิดนี้มันต่อสืบเนื่องจากยุคสมัยหนึ่ง และสืบเนื่องมาอีกต่อไปถึงอีกยุคสมัยหนึ่ง อาจจะต้องท่องจำบ้างเหมือนกันแต่ว่าไม่ตายตัวมาก

 

 

Musuem’s core: พูดได้ไหมว่าคุณรอมแพงนำความรู้พื้นฐานทางโบราณคดีมาใช้เขียนนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ ?


รอมแพง: มีส่วนค่ะ เพราะว่าเรียนโบราณคดี เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะมา เขาจะหล่อหลอมให้เรายึดหลักฐานในการที่จะตัดสินยุคสมัยของโบราณสถานหรือว่าโบราณวัตถุนั้น ๆ เน้นใช้หลักฐานเป็นสำคัญ มันก็จะมีส่วนตรงที่ว่า เมื่อเราเจอหลักฐานแล้วมันก็กลายเป็นเรื่องราว กลายเป็นว่าอยากลองแต่งนิยายดูจากเรื่องราวที่เราพบจากหลักฐานนั้น คนที่เป็นนักประวัติศาสตร์หรือว่าเรียนประวัติศาสตร์ เหมือนกับมีอาวุธวิเศษอยู่ในมือ คือรู้ข้อเท็จจริง รู้แหล่งที่จะไปศึกษาหาความรู้มาเขียน ถือว่าได้เปรียบในระดับหนึ่งค่ะ

 

 

คนที่เป็นนักประวัติศาสตร์หรือว่าเรียนประวัติศาสตร์ เหมือนกับมีอาวุธวิเศษอยู่ในมือ คือ          รู้ข้อเท็จจริง รู้แหล่งที่จะไปศึกษาหาความรู้มาเขียน

 

Museum's core: รอมแพงเริ่มต้นเขียนบุพเพสันนิวาสอย่างไร ? เหตุใดจึงเลือกใช้สมัยพระนารายณ์เป็นฉากหลังของเรื่อง ?


รอมแพง: ในเรื่องเป็นยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เหตุที่เลือกยุคสมัยนี้เพราะเห็นว่าเป็นยุครุ่งเรืองและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีเรื่องเล่าเยอะ เช่น ในพงศาวดารจะมีการเล่าเรื่องที่คล้ายกับการเล่านิทาน เราเคยอ่านเจอการเดินทางของคณะราชฑูตไปฝรั่งเศส พบว่ามีอาจารย์ชีปะขาวคนหนึ่งเดินทางไปกับคณะนี้ด้วย ชีปะขาวคนนี้ขี้เมาแต่มีกสิณสามารถพาให้เรือข้ามน้ำวนข้ามพ้นความบ้าคลั่งของทะเลไปได้ มันก็น่าสนใจ รู้สึกว่ามันมีสีสันดี ซึ่งเดิมก่อนที่จะได้อ่านพงศาวดาร เราคิดว่ามันเหมือนเป็นของสูง (หัวเราะ) แต่พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าที่บางทีก็น่าเชื่อถือ บางฉบับก็คล้าย ๆ เรื่องแต่ง


อีกสาเหตุหนึ่งที่เลือกใช้ยุคนี้เป็นฉากหลัง เพราะว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นยุครุ่งเรืองทางด้านการค้า มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย เข้ามาค้าขายกันมาก เรียกว่ารุ่งเรืองแทบทุกด้านก็ว่าได้ แล้วยุคนี้ยังมีการเมืองที่น่าสนใจด้วย อย่างกรณีของฟอลคอนกับสมเด็จพระนารายณ์ เป็นจุดที่น่าสนุกของเรื่อง แต่การเมืองในสมัยนั้นก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย แล้วก็หลากหลายหลักฐาน เราก็เลือกมาใช้ก็ผสมกันทั้งเอกสารชั้นต้น ชั้นรอง ทั้งพงศาวดาร ทั้งจดหมายเหตุของฝรั่ง แล้วเล่าเรื่องไล่ตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเรื่อง 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2225 จนถึงสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พ.ศ. 2231 ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็ใช้จินตนาการแทรกเข้าไปในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์

 

 

Musuem’s core: สัดส่วนเรื่องจริงกับเรื่องแต่งในเรื่องบุพเพสันนิวาส มากน้อยขนาดไหน ?


รอมแพง: ประมาณ 70/30 ค่ะ เรื่องแต่ง 70% แล้วนำประวัติศาสตร์มาใส่อีก 30% แต่ว่าดำเนินเรื่องไปตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อยากให้ผู้อ่านคิดว่าเป็นเรื่องแต่งไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่าบางอย่างเราต้องบิดเพื่อให้เข้ากับโครงเรื่อง (plot) แต่รายละเอียดของตัวละครบางตัว เป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

 

 

 

 

 

Musuem’s core: มีผู้กล่าวว่า “ธรรมชาติของนักประวัติศาสตร์มักจะเขียนงานได้น่าเบื่อ อ่านไม่สนุกเป็นงานวิชาการที่แข็งมากๆ ซึ่งนักเขียนนิยายอาจเข้ามาช่วยทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกได้ รอมแพงคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ ?


รอมแพง: ในความรู้สึกส่วนตัว งานเขียนทางประวัติศาสตร์จะ “ดาร์ค” (dark) มาก ยิ่งค้นก็จะยิ่งรู้สึกว่าคนนี้ไม่ดีเลย ซึ่งโดยพื้นฐานของนักเขียนนิยาย ต้องพยายามสร้างคาแรคเตอร์ (character) ของตัวละครให้เป็นมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นเราก็ต้องจินตนาการว่าคนนี้ไม่ดีด้านนี้ แต่ด้านอื่นของเขาเป็นแบบไหน พยายามคิดพลิกไปพลิกมา เพื่อสร้างบุคลิกของตัวละคร ทำให้เป็นการสื่อสารเรื่องราวที่อิงกับประวัติศาสตร์ที่ไม่แข็งทื่อ แต่อย่าลืมว่าเราก็ต้องอ้างอิงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่ละหลักฐานมันก็มีการถกเถียงด้วยว่าหลักฐานนี้บอกเอาไว้แบบหนึ่ง แต่หลักฐานอื่นบอกอีกแบบหนึ่งเลย แล้วเราจะเลือกอย่างไหน เราจะเลือกแบบไหน มันก็จะยากตรงนี้

 



Museum's core: รอมแพงชอบนักประวัติศาสตร์คนไหนเป็นพิเศษ ?


รอมแพง: ชอบอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ชอบงานเขียนของอาจารย์แทบทุกเล่ม อาจารย์เขียนแล้วอ่านเข้าใจง่าย

 

 

Musuem’s core: ทราบมาว่านอกไปจากเรื่องบุพเพสันนิวาส นิยายเรื่องอื่นที่เป็นนิยายรัก รอมแพงก็สอดแทรกประวัติศาสตร์ศิลปะลงไปด้วย อยากให้ช่วยเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของรอมแพง ?


รอมแพง: โดยปกติเป็นคนชอบเข้าพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว ตอนไปเที่ยวยุโรป 25 วัน ไปพิพิธภัณฑ์ราว ๆ 50 - 60 แห่ง มากที่สุดคือวันละ 4 แห่ง น้อยที่สุดคือวันละ 2 แห่ง เวลาไปก็จะชอบไปเดินดูวัตถุโบราณแล้วก็จินตนาการไปเรื่อย ๆ มีความสุขมาก อย่างในเล่ม “ตำรายอดดวงใจ” คือไปพิพิธภัณฑ์ที่เยอรมนีแล้วนำมาใส่ในเรื่อง แต่ก็ใส่ไม่ได้เยอะเท่าที่ไปจริง

 

 

Musuem’s core: คิดว่าพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมพอไหม ?


รอมแพง: ต้องเข้าใจคนไทยด้วยว่าชอบความสนุกสนาน ไม่เหมือนทางยุโรปที่แม้จะเน้นการจัดแสดงวัตถุโบราณเป็นหลัก แต่กลับมีคนเข้าชมเป็นจำนวนมาก แต่คนไทยชอบอะไรที่มันดึงดูดดูมีสีสัน ถ้าเราสามารถสร้างความสนุกสนานในเนื้อหาของวัตถุโบราณได้มันก็น่าจะดึงดูดผู้คนได้มากกว่านี้ อาจสร้างเรื่องราวให้กับหม้อสักใบ เป็นเรื่องราวหลุมศพสักหลุมมีหม้อมีกระดูก เราสามารถที่จะสร้างเรื่องราวได้ เพราะว่าจริง ๆ พวกวัตถุโบราณเขามีเรื่องราวอยู่ในตัวเอง เช่น เรื่องราวที่ชุมชนโปรตุเกสสามารถเชื่อมโยงไปได้ถึงชุมชนบ้านจีนที่มีซ่องโสเภณี เพราะว่าเจอกระดูกที่เป็นโรคซิฟิลิส สามารถที่จะสร้างเรื่องราวได้

 

 

Musuem’s core: ให้รอมแพงฝากข้อคิดกับคนดูละครอิงประวัติศาสตร์แล้วเชื่อหรือยึดถือ ตามที่ตัวละครพูด ตามที่ตัวละครบอกมากเกินไปจนไม่คิดต่อ ไม่ตั้งคำถามต่อ ?


รอมแพง: คิดว่าคนไทยสมัยนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว คนดูละครเขาจะอยากรู้อยากเห็นว่ามันจริงไหมแล้วก็ไปศึกษาค้นคว้าต่อ แล้วก็ถามกลับมา ไม่คิดว่าจะต้องให้ข้อคิดอะไร คิดว่าทุกคนเขารู้อยู่แล้วว่าเป็นแค่ตัวละคร คนอ่านส่วนใหญ่จะฟีดแบค (feedback) กลับมา เขาไปค้นหาว่าจริงไหม ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ฟอลคอนเป็นอย่างไร ก็จะไปหามาแล้วก็แชร์กันในโซเชียล เช่น มีผู้ชมถามมาว่าการะเกดเป็นตัวละครหรือคนจริง ๆ เราตอบกลับไปว่ามาจากจินตนาการ มนต์กฤษณะกาลีก็ไม่มี แต่งขึ้นมาเองค่ะ ถ้าคนอ่านเขาสงสัยเขาจะถามเลยค่ะ คนไทยสมัยนี้ไม่ได้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถามแล้วค่ะ ยิ่งสมัยนี้มี Google ง่ายต่อการหาข้อมูล คิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกังวลว่าคนจะเชื่อว่าเป็นความจริงแท้ เราเชื่อมั่นในความคิดความอ่านของคนไทยสมัยนี้

 

 

สัมภาษณ์ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2561
กองบรรณาธิการ Museum's Core

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Museum Diary

 

 

แกลเลอรี่
แท็ก :


ย้อนกลับ