ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ #วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 วันสำคัญที่จัดขึ้นให้น้องๆ หนูๆ ได้รู้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ค้นหาความเป็นไทย ผ่านกิจกรรมสุดสนุกที่สอดแทรกความรู้ และปลูกฝังแนวประพฤติปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น ตั้งใจเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อส่งเสริมให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
.
ซึ่งตามที่ นายกบแดง เคยได้โพสต์บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ปีนี้เราได้จัดกิจกรรม "กาลครั้งหนึ่ง ณ มิวเซียมสยาม" ตอน “ไทยละเล่น ไทยประเพณี” ขึ้น โดยจำลองประเพณีไทยท้องถิ่น มาให้ทำความรู้จักถึง 5 ประเพณี คือ “#ประเพณีแข่งเรือยาว” - “#ประเพณีสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต” - “#ประเพณีวิ่งควาย” - “#ประเพณีสงกรานต์” - “#ประเพณีตำข้าวเม่า”
.
ก่อนที่จะได้เวลามาสนุกสนานกัน... โพสต์นี้จะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปรู้ถึงที่มา ประเพณีไทยท้องถิ่นทั้ง 5 กันเสียก่อน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ให้แก่ น้องๆ หนูๆ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. นี้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ 09.00 - 17.00 น.
.
แต่ละประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นและมีความสำคัญอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย~
.
ประเพณีแข่งเรือยาว
.
ประเพณีแข่งเรือมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามกฏมณเฑียรบาลเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า ในเดือน 11 จะมีพิธี “อาสยุชพิธี” ซึ่งเป็นพิธีกรรมการเสี่ยงทายน้ำ ด้วยการแข่งเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของพระมเหสี ถ้าเรือของพระมเหสีชนะจะทำนายบ้านเมืองจะมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก แต่ถ้าเรือพระมหากษัตริย์ชนะบ้านเมืองก็จะมีทุกข์
.
ส่วนการแข่งเรือของชาวบ้านนั้น มักจัดแข่งขันในช่วงเดือน 10 – 12 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้ว จะมีการแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งเรือก็ยังมีสืบทอดกันมา เป็นประเพณีสำคัญตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย
.
สำหรับเรือที่ใช้ในการแข่ง เรียกว่า “เรือยาว” คือ เรือขุดทำด้วยไม้ตะเคียน ในสมัยโบราณใช้เป็นเรือรบ ปัจจุบันใช้เป็นเรือแข่ง สามารถบรรจุฝีพาย 55 – 60 คน
.
ขอบคุณภาพจาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/33047-จ.น่าน%20จัดแข่งขันเรือยาวปลอดเหล้า-%20เบียร์%20.html
ประเพณีสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต
.
ประเพณีของภาคใต้ที่จัดขึ้นใน วันสารทเดือนสิบ เพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ ญาติจะเตรียมของอุทิศไว้ให้ โดยจัด “หฺมฺรับ” อ่านว่า หมับ คือ สำรับกับข้าว ไปวางไว้เพื่อให้เปรตได้กิน เมื่อวางแล้วก็มีผู้คนทั้งหลายไปแย่งสิ่งของเหล่านั้น จึงเรียกว่า “ชิงเปรต”
.
การจัดหฺมฺรับ เป็นการเตรียมอาหารบรรจุในภาชนะ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในเทศกาลสารทเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
.
สัญลักษณ์ของขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ ได้แก่
- ขนมพอง แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพได้
- ขนมลา แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม
- ขนมบ้า แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์
- ขนมดีซำ แทนเงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย
- ขนมกง(ไข่ปลา) แทนเครื่องประดับ
.
การตั้งเปรต คือ การนำขนมหรืออาหารไปตั้งที่ศาลา ซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัดหรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้
.
การชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน
.
ขอบคุณภาพจาก:
https://nuttamol1307.wordpress.com/ประเพณี/ประเพณีสารทเดือนสิบ/
https://sites.google.com/site/kanomtean1/prapheni-wan-sarth-deuxn-sib
ประเพณีวิ่งควาย
.
ประเพณีเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม จุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมของไปถวายวัด ได้พักผ่อนและได้สังสรรค์กันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งเหนื่อยจากงานและให้ควายได้พัก เนื่องจากต้องตรากตรำในการทำนา หรือถ้าควายของใครเจ็บป่วย เจ้าของควายก็จะนำควายของตนไปบนกับเทพารักษ์ และเมื่อหายเป็นปกติจะต้องนำควายมาวิ่งแก้บน ในปีต่อๆ มาชาวบ้านจึงนำควายมาวิ่ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยเสียแต่เนิ่นๆ จนกลายเป็นประเพณีวิ่งควายในปัจจุบัน
.
เรื่องควาย...ควาย “ควาย” หรือ “กระบือ” บางคนเรียก “เจ้าทุย” หรือ “ไอ้ทุย” ในประเทศแถบประเทศอาเซียนจะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ประเทศกัมพูชา เรียกว่า กระบาย ประเทศมาเลเซีย จะเรียกว่า กระบาว และประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า คาราบาว
.
ควาย มี 2 ชนิด คือ ควายป่าและควายบ้าน โดยควายบ้านนั้นแบ่งออกไปได้อีก 2 ประเภท คือ
- “ควายปลัก” มีความแข็งแรง มีกีบเท้าใหญ่ ไม่ค่อยทนความร้อน ชอบแช่ในโคลนตมเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงรบกวน ควายปลักของไทยมีลักษณะ 2 สี คือ สีเทาเข้มเกือบดำ และสีเผือก(ผิวหนังสีชมพู)
- “ควายน้ำ” หรือ “ควายแม่น้ำ” ส่วนใหญ่เป็นควายนม ชอบน้ำสะอาด ไม่ชอบลงโคลน ควายแม่น้ำเข้ามาสู่ประเทศไทย ประมาณสมัยรัชการที่ 5 และส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ จึงไม่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมากนัก
.
ขอบคุณภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=c0l-H8tu4eE
ประเพณีสงกรานต์
.
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษา “สันสกฤต” แปลว่า “การเคลื่อนย้าย” ซึ่งกำหนดตาม สุริยะคติ หรือการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในรอบปี ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูของอินเดีย เรียกประเพณีนี้ว่า “โฮลิ” หรือ “โฮลิปูรณิมา” และจะใช้ผงสีที่ทำจากพืชสมุนไพรมาสาดใส่กัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะในการปราบอสูรโฮลิกา
.
ต่อมาได้แพร่ความเชื่อนี้มาที่ประเทศไทย รวมทั้งบางประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นับถือพุทธศาสนา อาทิ ลาว กัมพูชา มอญ เมียนมาร์ ลังกา และสิบสองปันนาในประเทศจีน แต่ใช้การสาดน้ำหรือใช้น้ำรดกันเพื่อเป็นตัวแทน ให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นสิริมงคล
.
การรดน้ำถือเป็นการขอขมาและขอพร ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และจึงสรงพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ ราษฎรสามัญก็ปฏิบัติเช่นกัน แต่รวมการอาบน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอขมาขอพรด้วย หลังจากหมดพิธีเหล่านี้ หนุ่มสาวจึงหันมารดน้ำกันเอง
.
ปีใหม่ไทย ในสมัยโบราณไทยเราถือเอา แรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย หรือเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พุทธศักราช 2432 ให้ถือว่าวันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2484 จึงมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามสากลนิยม
.
ชื่อเรียกประเพณีสงกรานต์แต่ละภาคของไทย
- ภาคเหนือ เรียก “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง”
- ภาคอีสาน เรียก “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์”
- ภาคใต้ เรียก “สงกรานต์”
- ภาคกลาง เรียก “สงกรานต์”
.
วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษตั้งต้นปีใหม่
.
คำว่า “ วันเนา” คือ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทางในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อย
.
วันเถลิงศก หรือ วันขึ้นศก คือ วันที่ 15 เมษายน เป็นการเปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่
.
ขอบคุณภาพจาก: http://event.sanook.com/day/songkran/