Muse Around The World
นิทรรศการภาพค้าง ติดตา: เล่าที่มาของภาพนิ่ง ทำให้เคลื่อนไหว กลายเป็นภาพยนตร์
Muse Around The World
14 พ.ย. 67 129

ผู้เขียน : วรกานต์ วงษ์สุวรรณ

นิทรรศการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่จะชวนไปเที่ยวชมกัน ว่าด้วยเรื่องการสร้างภาพนิ่งให้เป็นภาพยนตร์ การเล่าเรื่องที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ยาก ๆ ให้เด็กเข้าใจ เรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ด้วยตัวเอง เกิดเป็นการเรียนรู้ การลองทำ ลองเล่นนี้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างจินตนาการ และช่วยตอบคำถามว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นได้อย่างไรให้กับเด็ก ๆ ได้หรือไม่ ติดตามกันได้เลย

ภาพยนตร์คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

สำหรับคำถามว่าภาพยนตร์คืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร หากจะตอบตามทฤษฎีอย่างกระชับก็จะได้คำตอบว่า ภาพยนตร์คือ กระบวนการบันทึกภาพด้วยฟิล์ม แล้วนำมาฉายให้เห็นภาพเคลื่อนไหว ภาพที่ปรากฏบนฟิล์มภาพยนตร์หลังจากผ่านกระบวนการถ่ายทำแล้ว เป็นเพียงภาพนิ่งจำนวนมากที่แสดงอิริยาบถต่าง ๆ มาเรียงติดกันอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ชมมองเห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหว โดยใช้หลักการที่เรียกว่า “การเห็นภาพติดตา” (Persistence of vision) ซึ่งคิดค้นโดย ดร.จอห์น เอิรตัน ปารีส (Dr. John Ayrton Paris)

นิทรรศการเรื่อง ภาพค้าง ติดตา พยายามตอบคำถามที่ตอบยากและค่อนข้างท้าทายว่า ภาพยนตร์เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสรรหาวิธีอธิบาย เรื่องราว ความเป็นมาให้กับเด็ก คำตอบต้องเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน  นิทรรศการนี้จึงใช้วิธีการเล่าเรื่องย้อนเวลากลับไปนับหมื่นปีสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ เชื่อมโยงไปจนถึงทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตา หรือ Persistence of vision เรียกได้ว่าเป็นการทำงานอันซับซ้อนและสัมพันธ์กับการทำงานของสมองและดวงตา เมื่อเราเห็นภาพนิ่งทีละภาพด้วยการเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาได้

หากเล่าด้วยทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่แต่เด็กเท่านั้นที่จะผละหนีไปเพราะไม่เข้าใจ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อาจแสดงอาการงุนงงได้ นิทรรศการแต่ละห้องจึงใช้วิธีสร้างประสบการณ์ด้วยการเล่นกับวัตถุจำลอง วัตถุจัดแสดง และลงมือทำจึงจะสร้างการเรียนรู้ที่ไม่รู้เบื่อ  

ภาพ 1 ติ๊ดต้า มาสคอตประจำนิทรรศการจะเล่าเรื่องและนำพาผู้เข้าชมไปเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ในนิทรรศการ

นิทรรศการชุดนี้จึงเน้นการนำคำอธิบายมาถ่ายทอดเป็นสิ่งจัดแสดงที่ผู้ชม ได้เห็น ได้ลอง ได้เล่น และเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ภายในนิทรรศการ มีมาสคอต “ติ๊ดต้า” ที่มีหลายแขนหลายตา เพราะเกิดจากภาพที่ซ้อนกันที่ชวนชมชุดนิทรรศการ พร้อมกับผู้ช่วย “มามอง” แมงมุมเจ็ดตัวเจ็ดสี และเหล่าแมงมุมน้อย “ดูดู” ที่จะคอยตั้งคำถามและพาทุกคนเข้าไปค้นหาในโลกแห่งจินตนาการที่ชื่อว่า ดินแดนภาพค้างติดตา โดยการย้อนยุคกลับไปถึงโลกยุคหมื่นปีที่แล้ว ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน

จากภาพผนังถ้ำ ถึงยุคทำแอนิเมชั่น

ภายในนิทรรศการภาพค้าง ติดตา แบ่งเป็น 4 ห้องหลักที่มีการเล่าเรื่องตั้งแต่ภาพผนังถ้ำในยุคหมื่นปีมาจนถึงยุคที่คนสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นในปัจจุบัน ผู้นำชมนิทรรศการจะเล่าภาพรวมถึงวิธีการชมและเล่นกับนิทรรศการในห้องต่าง ๆ ก่อน จากนั้นจะแนะนำให้รู้จักกับติ๊ดตาและมามองมาสคอตประจำนิทรรศการ

นิทรรศการห้องแรก  “มองถ้ำ” ติ๊ดต้าและมามอง พาชมเรื่องราวย้อนกลับไปหลายหมื่นปี ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสมัยที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผา มนุษย์ถ้ำได้สังเกตและเกิดความความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว  และเริ่มบันทึกเหตุการณ์ลงบนผนังถ้ำ เกิดเป็นภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ ในห้องนิทรรศการนี้ได้จำลองภาพที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เริ่มการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เห็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของหมูป่า การไล่ล่าที่น่าตื่นเต้น จำลองภาพหมูป่ามีกว่า 4 ขา เพราะอะไรถึงมีหลายขา? เพราะต้องการสื่อถึงความไวในการวิ่งหนีที่มนุษย์ไล่ล่า ภาพบางภาพจึงดูประหลาดผิดธรรมชาติ หากเป็นภาพนิ่งของภาพผนังถ้ำอาจจะไม่สื่อให้เด็กเข้าใจ ไฮไลต์ของห้องนี้คือภาพเขียนสีที่เคลื่อนไหวเพื่อเล่าเรื่อวราว จึงทำผู้ชมเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่มนุษย์ถ้ำได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้

ภาพ 2 การสร้างภาพเคลื่อนไหวให้กับภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำทำให้ทราบว่าภาพเขียนสีนั้นกำลังเกิดเหตุการณ์หรือทำกิจกรรมอะไร

ห้องถัดมา “เล่นเงา” เล่าเรื่องเมื่อหลายพันปีก่อน ในยุคที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และย้ายออกจากถ้ำมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเป็นชุมชน จึงเรียนรู้ที่จะสร้างกิจกรรมความบันเทิงโดยอาศัยแสงและเงา ใช้มือสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ ประกอบการเล่าเรื่อง การละเล่นทำท่าทางขยับมือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ให้ปรากฏเป็นเงาบนผนังคือยุคต่อมาของการคิดสร้างสรรค์สิ่งเคลื่อนไหว ซึ่งในปัจจุบันเห็นได้ว่ายังคงมีการพัฒนาการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ออกมาให้เห็น เช่น มหรสพอย่างหนังตะลุงหรือหนังใหญ่ ที่มีการประดิษฐ์วัตถุเป็นรูปร่างต่าง ๆ เพื่อประกอบเรื่องราวให้สวยงามและสนุกสนานขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สวยงามซึ่งต่อยอดมาจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในยุคนั้น

 ภาพ 3 ห้อง “เล่นเงา”  เล่าเรื่องเมื่อหลายพันปีก่อนที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกและรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านแล้วและรู้จักการรวมตัวสร้างกิจกรรมภายในชุมชนร่วมกัน

จากนั้นติ๊ดต้าและมามองจะพาเดินผ่านอุโมงค์ข้ามกาลเวลามาสู่ยุคที่เทคโนโลยีและศิลปะวิทยาการเจริญก้าวหน้าเมื่อหลายร้อยปีก่อนเข้าสู่ห้องสิ่งประดิษฐ์ภาพเคลื่อนไหว

ห้อง “นักประดิษฐ์”  เล่าเรื่องเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ศิลปะวิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ทำให้สามารถอธิบายทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตา ซึ่งเป็นกุญแจที่ช่วยไข ความสงสัยว่าทำไมเราจึงเห็นภาพนิ่งทีละภาพ แล้วกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ ด้วยทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตานี่เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์นำไปคิดประดิษฐ์ของเล่นที่ทำให้เห็นภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ในหลากหลายรูปแบบเรียกว่า ของเล่นลวงตา (Optical Toys) และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ภาพยนตร์

ห้องนี้ได้รวบรวมสิ่งประดิษฐ์มากมายที่อาศัยหลักทฤษฎีภาพติดตา ตัวอย่างเช่นการสร้างแอนิเมชั่นด้วยมืออย่างฟลิปบุ๊ก (Flipbook) ที่เรียกกันว่า สมุดดีด เป็นการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการวาดภาพลงบนกระดาษให้ขยับทีละน้อยในแต่ละหน้า นำมาเย็บติดแล้วเปิดต่อกันอย่างรวดเร็วจะเห็นเป็นภาพขยับได้   แพรกซิโนสโคป (Praxinoscope) สิ่งประดิษฐ์ประเภท Optical Toy มีลักษณะเป็นวงล้อคล้ายโคมไฟกลับด้าน ขอบด้านข้างใส่รูปภาพที่มีอริยาบทที่แตกต่างกันทีละน้อยต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เมื่อหมุนวงล้อก็จะเกิดภาพเคลื่อนไหวที่มองผ่านกระจกเงาบริเวณแกนกลาง นอกจากนี้ภายในห้องนิทรรศการยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากมายให้ผู้ชมได้เล่น สัมผัสสร้างประสบการณ์การเรียนรู้กับนิทรรศการ

ภาพ 4 มาสคอต ติ๊ดต้า  เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ การรับภาพของตาและการสร้างภาพติดตารวมถึงภาพเคลื่อนไหวในระบบสมอง และการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ภาพนิ่งเป็นภาพเคลื่อน

ภาพ 5 สิ่งประดิษฐ์จำลองรูปแบบต่างๆ สำหรับให้ผู้ชมได้ลองเล่น สัมผัส เรียนรู้
เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการสร้างภาพนิ่งให้เคลื่อนไหว

จากห้องนักประดิษฐ์เดินผ่านอุโมงค์รูปดวงตา ประดับด้วยกระจกประกอบแสงไฟสวยงามเปรียบเสมือนทางเดินจากดวงตาไปสู่สมองที่เป็นโลกแห่งจินตนาการ เพื่อไปยังห้องนิทรรศการห้องสุดท้าย

ชื่อห้อง “ลองเล่น”  เมื่อเข้ามาภายในห้องก็จะพบกับเรือเหาะยักษ์ที่ถูกตกแต่งด้วย Optical Toys ขนาดใหญ่หลากหลายชนิดเพื่อให้เด็ก ๆ และผู้ชม ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นสนุก มีเกมสร้างแอนิเมชั่นติ๊ดต้าและมามองให้ได้ทดลองสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง และปิดท้ายด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันที่จะให้ทุกคนได้เห็นถึงวิวัฒนาการของการสร้างภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวได้จนเกิดเป็นภาพยนตร์ในปัจจุบัน

ภาพ 6 ห้องลองเล่น รวบรวมสิ่งประดิษฐ์จำลองให้ผู้ชมได้ร่วมทำ ลองเล่น และเรียนรู้ การทำภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวไปจนถึงการสร้างแอนิเมชั่นด้วยตัวเอง

นิทรรศการที่ตอบคำถามด้วยการเล่าเรื่อง ลองเล่น สัมผัส เรียนรู้

นิทรรศการภาพค้าง ติดตา ทั้ง 4 ห้อง ได้รับการออกแบบให้ผู้เข้าชมสร้างปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ โดยมีมาสคอตและผู้นำชมถ่ายทอดเนื้อหา และชักชวนให้ผู้ชมเรียนรู้ หาประสบการณ์กับสิ่งจัดแสดงหรือวัตถุจำลองที่สอดคล้องกับเนื้อหา ผู้ชมที่เป็นเยาวชนจึงเรียนรู้เนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ยาก ๆ และได้คำตอบเกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างไม่รู้ตัว ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ชมเอง

นิทรรศการนี้เน้นการเรียนรู้แบบ active learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ กิจกรรมในนิทรรศการช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะลองเล่นเกม และทำกิจกรรมภายในห้องนิทรรศการ

นิทรรศการภาพค้างติดตาเป็นนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในวัย 6-12 ปี  นับเป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่นำเสนอช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มนุษย์เริ่มมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคหินจนถึงยุคที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันเป็นจุดกำเนิดของภาพยนตร์ในปัจจุบัน นับเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับภาพยนตร์สำหรับเยาวชนที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศ

ข้อมูลการบริการ

นิทรรศการภาพค้างติดตา: Persistence of vision เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์เวลา 9.30 น. - 17.30 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เลขที่ 94 หมู่ที่ 3 ถ. พุทธมณฑลสาย 5 ตำบล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม 73170

แหล่งข้อมูล

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). https://www.fapot.or.th/main/travel/view/4
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์. https://sciplanet.org/content/12502
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์. https://sciplanet.org/content/8172
จินต์จุฑา เกียรติวุฒินนท์และวิสารัตน์ เกษรแก้ว. https://groundcontrolth.com/blogs/tomtom-persistence-of-vision
สุกฤตา โชติรัตน์ ชัชวาล จักษุวงค์. https://www.sarakadeelite.com/lite/persistence-of-vision/

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ