หลักฐานการปรากฏตัวของ ‘แมว’ ในสังคมมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาจน ณ ขณะจิตนี้ มาจากเกาะขนาดใหญ่ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ชื่อว่า ‘ไซปรัส’ หรือ ประเทศไซปรัส นั่นเอง ส่วนเจ้าหลักฐานที่ว่านี้คือ กระดูกนิ้ว (phalanx) จากแหล่งโบราณคดีชื่อเรียกยากๆ ตามภาษาท้องถิ่นปัจจุบันว่า ‘คิลิโมนาส’ (Klimonas) ซึ่งได้มีการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2556 แล้วพบว่าเจ้าเหมียวตัวนี้เก่าแก่ไปถึง 11,000-10,500 ปีมาแล้วเลยทีเดียว
แถมกระดูกนิ้วเจ้าเหมียวชิ้นนี้ก็ไม่ใช่หลักฐานเกี่ยวกับแมวชิ้นเดียวบนเกาะไซปรัสอีกต่างหากนะครับ เพราะยังมีการค้นพบกระดูกของแมวที่มีอายุใกล้เคียงกัน และนับเนื่องอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันอย่างน้อยอีก 3 แห่ง ได้แก่ กระดูกขากรรไกรล่าง (mandible) ของเจ้าเหมียวจากแหล่งโบราณคดีคิโรกิเตีย (Khirokitia), ชิ้นส่วนกระดูกแมวที่แหล่งโบราณคดีกะละวะโซส-เทนทา (Kalavasos-Tenta) และสำคัญที่สุดคือ โครงกระดูกแมวทั้งตัว ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดี‘ซิลโลโรกัมโบส’ (Shillourokambos)
แต่ที่สำคัญไปกว่าการพบกระดูกแมวทั้งโครงก็คือ เจ้าเหมียวจากซิลโลโรกัมโบสนั้นถูกฝังอยู่ร่วมกับศพของมนุษย์ ซึ่งชวนให้คิดว่าเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของ ‘เจ้าของ’ กับ ‘สัตว์เลี้ยง’ นั่นแหละ
ภาพที่ 1: เจ้าเหมียววัย 8 เดือนในหลุมฝังศพของมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีซิลโลโรกัมโบสบนเกาะไซปรัสอายุราว 9.500 ปีมาแล้ว
(ปรับปรุงภาพจาก: J. D. Vigne, J. Guilaine, K. Debue, L. Haye and P. Gérard (2004), Early Taming of the Cat in Cyprus. Science, 304(5668), 259.)
ภาพจำลองระบบการจัดวางในพิธีกรรมของหลุมฝังศพจากซิลโลโรกัมโบส
(ที่มาภาพ: https://allaboutlimassol.com/en/the-oldest-pet-cat-was-found-in-parekklisia)
แม้ว่าพวกเจ้าเหมียวจะเข้ามาปั้นจิ้มปั้นเจ๋อในสังคมมนุษย์ ตั้งแต่สมัยหินใหม่ในไซปรัสแล้ว แต่ผลการศึกษากระดูกนิ้วเจ้าเหมียวจากคิลิโมนาสเมื่อ พ.ศ. 2556 และโครงกระดูกแมวจากซิลโลโรกัมโบส (ซึ่งกำหนดอายุอยู่ที่ 9,500 ปีมาแล้ว) นั้น กลับแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางพันธุกรรมของเจ้าเหมียวตัวนี้ว่า ตรงกับเจ้าแมวป่าแอฟริกาที่มีชื่อเรียกสปีชีส์ว่า F.s. libyca (Felis silvestris libyca) คือยังไม่ใช่ ‘แมวบ้าน’ ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า F. catus (Felis silvestris catus) ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างออกไปจากแมวป่าอย่างชัดเจน
เพราะดินแดนบ้านเกิดของบรรพชนเจ้าเหมียวบ้านคือเจ้าแมวป่าสปีชีส์ F.s. libyca หรือมีชื่อในภาษาไทยว่าแมวป่าแอฟริกา/แมวป่าตะวันออกใกล้นั้น อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ บริเวณแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตประเทศตุรกี ประเทศซีเรีย หรือประเทศเลบานอน หรือพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า เขตลีแวนต์ (Levant) ต่างหาก
อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นักหรอกนะครับ เพราะ ‘ไซปรัส’ นั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งทางด้านทิศใต้ของประเทศตุรกีออกไปเพียงราวๆ 60-70 กิโลเมตรเท่านั้นเอง
ถ้าหากเรากางแผนที่โลกออกมาดูแล้วจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า เกาะไซปรัสไม่ได้ฝังหนอกอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกของชายฝั่งประเทศซีเรีย และประเทศเลบานอน มากมายอะไรนักเลย
ดังนั้นการที่ ‘แมว’ มาปรากฏตัวบนเกาะไซปรัสตั้งแต่ช่วง 11,000 ปีที่แล้ว ทั้งที่พวกมันไม่ได้เป็นสัตว์พื้นถิ่นของเกาะแห่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก เพราะเป็นช่วงใกล้เคียงกับที่เจ้าแมวป่า F.s. libyca เริ่มปรากฏตัวขึ้นที่แถบดินแดนประเทศตุรกี ซีเรีย หรือเลบานอน ดังนั้นถ้าจะมีมนุษย์สักคนแถวนั้นหอบหิ้วเอาเจ้าเหมียวลงเรือมาด้วยสักตัว สองตัว บรรดาเจ้าเหมียวก็สามารถลงไปเพ่นพ่านบนเกาะที่อยู่กลางทะเลได้โดยไม่ยากอะไรนัก
ภาพที่ 3: แมวป่าแอฟริกา F.s. libyca
(ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/African_wildcat)
นักบรรพชีวินวิทยา (paleozoologist ผู้ที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตโบราณ จากซากฟอสซิล กระดูก และร่องรอยจากอะไรๆ อีกหลายอย่าง) ชาวฮังกาเรียนอย่าง ซานดอร์ โบโคญี (Sándor Bökönyi, พ.ศ. 2469-2537) ที่ใช้อ้างกันมาอย่างยาวนานเฉียดๆ ครึ่งศตวรรษ แต่ยังคงได้รับการเชื่อถือและยังมีผู้ใช้ตามกันมาอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้เสนอเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาว่าพื้นที่บริเวณใดที่่มีการนำสัตว์ป่าท้องถิ่นมาเลี้ยงเอาไว้ 4 ข้อ ได้แก่
แน่นอนว่า ในกรณีของแมวในเกาะไซปรัสนั้นเข้าเกณฑ์ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ดังนั้นกระดูกของเจ้าเหมียวที่พบบนเกาะแห่งนี้จึงต้องถูกนำเข้ามาจากที่ใดที่หนึ่งโดยน้ำมือของมนุษย์ โดยหนทางเดียวที่เจ้าพวกเหมียวทั้งหลายจะมาเดินนวยนาดโชว์ตัวอยู่ในชุมชนยุคหินใหม่ของมนุษย์ บนเกาะไซปรัสได้ก็คือต้องลงเรือลำเดียวกันกับเจ้าพวกทาสมนุษย์ของพวกมันนั่นแหละ
เพราะคงไม่มีแมวที่ไหนว่ายน้ำไม่ว่าจะด้วยท่าฟรีสไตล์, ท่ากบ, ท่าผีเสื้อ หรือว่าจะท่าพลิกแพลงอื่นๆ เป็นระยะทาง 60-70 กิโลเมตร จากผืนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ใกล้เกาะไซปรัสที่สุด อย่างพื้นที่แถบลีแวนต์ในประเทศตุรกี หรือว่าที่อื่นใดโดยไม่มีที่ให้หยั่งขาหยุดพักมายังเกาะไซปรัสได้
คำถามที่น่าสนใจมากกว่าจึงน่าจะเป็น มนุษย์ยุคหินพวกนี้ทำไมต้องหอบหิ้วเอาเจ้าแมวเหมียวลงเรือไปที่เกาะด้วยต่างหาก
สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดอย่างหนึ่งของบริเวณพื้นที่เขตลีแวนต์ที่เจ้าพวกแมวป่า F.s. libyca ถือกำเนิดขึ้นมานั้นเป็นพื้นที่บริเวณที่มีการเพาะปลูกขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ในโลก การปรากฏตัวขึ้นของเจ้าแมวป่าชนิดนี้ ยังอยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มนุษย์ในวัฒนธรรมนาตูเฟียน (Natufian) ซึ่งกระจายตัวอยู่ในดินแดนละแวกประเทศตุรกี ซีเรีย เลบานอน ควบรวมไปถึงอิสราเอลในปัจจุบันนั้นได้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อราว 12,000-11,000 ปีที่แล้วด้วยอีกต่างหากนะครับ
พูดๆ ง่ายว่า กำเนิดของเจ้าเหมียวป่า F.s. libyca นั้น คาบเกี่ยวทั้งในแง่ของ ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ ของกำเนิดการเกษตรกรรมของมนุษย์ยุคหินใหม่ ในวัฒนธรรมแบบนาตูเฟียนอย่างหมดจด และพอดิบพอดี
อันที่จริงแล้ว บรรดาแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ต่างๆ ที่พบชิ้นส่วนกระดูกของน้องแมวบนเกาะไซปรัส ไม่ว่าจะเป็น ซิลโลโรกัมโบส, คิลิโมนาส, คิโรกิเตีย และกะละวะโซส-เทนทานั้น ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนักโบราณคดีส่วนใหญ่มองว่าเกิดขึ้นเพราะการแพร่กระจายของผู้คนในวัฒนธรรมนาตูเฟียนจากแถบลีแวนต์ในภาคผืนแผ่นดินใหญ่เข้าไปในเกาะไซปรัสในช่วงที่เริ่มจะรู้จักการทำเกษตรกรรมแล้วนั่นแหละ
เรือที่ออกเดินเรือจากท่าแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตลีแวนต์ไปยังเกาะใหญ่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ชื่อว่า ไซปรัส เมื่อ 11,000 ปีที่แล้วนั้นนอกจากจะไปพร้อมเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม วัฒนธรรมยุคหินใหม่แบบนาตูเฟียนแล้วยังพกพาเอาเจ้าแมวเหมียว (ซึ่งดูจะมีบทบาทสำคัญอยู่ในวัฒนธรรมการเกษตรของพวกนาตูเฟียน) ไปด้วย
บทบาทของเจ้าเหมียวที่ว่านี้คงจะไม่พ้นการเป็นหน่วยล่าสังหารกำจัดศัตรูต่างๆ ที่จ้องจะเข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตรของพวกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น นก หนู หรือแมลง รวมถึงอะไรอื่นอีกเพียบ
มีความเป็นไปได้ด้วยว่า ผู้คนในยุคหินใหม่บนเกาะไซปรัสยังไม่ได้ทำการเลี้ยงพวกเจ้าเหมียวอย่างเป็นจริงเป็นจังอะไรนัก เผลอๆ มนุษย์พวกนี้อาจจะไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังเลี้ยงพวกมันอยู่เสียด้วยซ้ำไป แต่เป็นความสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับที่คนให้อาหารแก่เจ้าแมวจรในทุกวันนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงอาจจะเพียงแค่ยอมที่จะปล่อยให้บรรดาพวกเจ้าแมวเข้ามาเพ่นพ่านภายในชุมชน เพื่ออาศัยให้เจ้าพวกเหมียวไล่ตะปบพวกนก หนู แมลง หรืออีกสารพัดศัตรูพืชที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของพวกเขาก็เท่านั้นเอง
เช่นเดียวกับเมื่อแรกที่พวกแมวปรากฏกายเข้ามาในสังคมเกษตรกรรมนาตูเฟียนบนผืนแผ่นดินใหญ่มาก่อน เพราะชุมชนเกษตรกรรมของมนุษย์มีความมั่นคงในแง่การกินอยู่ให้กับพวกมัน และสิ่งตอบแทนที่พวกมันมอบให้แก่มนุษย์ ผู้เป็นเจ้าของสังคมเหล่านั้นก็คือการทำหน้าที่เป็นผู้ขจัดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่เข้ามาทำลายผลิตผลทางเกษตรของเจ้าพวกทาสมนุษย์ได้ (เอิ่ม... ถึงแม้ว่า แท้จริงแล้วจะเป็นการสร้างเสริมความเอ็นจอยให้ชีวิตชิลๆ ของพวกมันมากกว่าจะเป็นการสำนึกในบุญคุณก็เถอะ) แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเอามากๆ สำหรับมนุษย์ในยุคที่ยังไม่มีทั้งยาเบื่อหนู และยากำจัดแมลงทั้งหลาย
และด้วยความสัมพันธ์ทำนองนี้เองแหละครับที่ทำให้เจ้าพวกเหมียวแพร่กระจายออกไปในสังคมเกษตรกรรมทั่วทั้งโลก แล้วค่อยพัฒนาจาก ‘แมวป่า’ จนมาเป็น ‘เจ้าเหมียวบ้าน’ เหมือนอย่างทุกวันนี้ในที่สุด
ภาพที่ 4: แผนที่แสดงการกระจายตัวของวัฒนธรรมนาตูเฟียน บริเวณที่ถูกแรเงาสีเข้มในแผนที่คือ บริเวณที่พบวัฒนธรรม
นาตูเฟียนตั้งแต่ยุคริ่มแรก ส่วนที่แรเงาสีอ่อนคือ บริเวณที่พบนอยู่ในภาพก็คือ เกาะไซปรัส
(ที่มาภาพ: เอกสารออนไลน์เรื่อง “วัฒนธรรมนาทูเฟียน” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร
http://www.sac.or.th/databases/archaeology/sites/default/files/article/files/General%20Information.pdf)
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ