มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
ห้องนี้มีเรื่องเล่า
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
28 มี.ค. 67 170

ผู้เขียน : วรกานต์ วงษ์สุวรรณ

               จั่วหัวเรื่องแบบนี้ชวนให้คิดไปถึงเรื่องลี้ลับกันหรือเปล่านะ

               ยังก่อน เรื่องลี้ลับยังไม่ถึงคิว...

               เรื่องมีอยู่ว่า

               ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขุนวิจิตรมาตรา เล่าว่า ท่านได้รับมอบหมายให้มาจัดเวรยามดูแลห้องสำคัญห้องหนึ่งจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เสี่ยงอาจจะโดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิด  เพราะมีของสำคัญมีค่าอยู่มากในห้องของแผนกหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือของใช้ที่กรมกองอื่นไม่มี นั่นคือ “แบบประถม” หรือ ต้นแบบ (Prototype)  “แบบมาตรา” (Standard)

ถามว่า “แบบประถมหรือต้นแบบ” ของอะไร?

ตอบ ของการชั่งตวงวัดของไทย

อธิบายเพิ่ม...

               “แบบประถม” (Prototype) น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม กับ แบบประถมที่เป็นเมตร ทำจากอิริเดียม (Iridium) และ แพลทินัม (Platinum) ซึ่งสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM International Bureau of Weights and Measures) ทำขึ้นให้ประเทศสมาชิกที่ใช้ระบบเมตริก เรียกว่า น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม และ ความยาวหนึ่งเมตร ที่เที่ยงตรงที่สุดในประเทศอยู่ในห้องนี้  ตราชั่ง หรือ ไม้บรรทัด ที่จะใช้ค้าขายต้องผ่านการสอบเทียบจากที่นี่ ในห้องนี้เสียก่อน

 

เล่าถึงห้องที่เก็บของสำคัญนี้ต่อ...

                ห้องที่กล่าวถึง คือห้องนิทรรศการชั่วคราว 2 ในตึกมิวเซียมสยามชั้นที่ 1 ฝั่งขวาเมื่อหันหน้าเข้าหาตึก ห้องนี้พิเศษตรงที่ปูพื้นห้องด้วยกระเบื้องหินขัดลายสวยงาม ในขณะที่ห้องอื่นๆ ในตึกมิวเซียมสยามปูพื้นไม้เนื้อแข็งทั้ง 3 ชั้น

                 ห้องพื้นกระเบื้องนี้ออกแบบก่อสร้างไว้รองรับการทำงานของสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด เป็น 1 ใน 4 หน่วยงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์เมื่อแรกตั้ง ซึ่งอีก 3 ส่วนประกอบด้วย กองแยกธาตุ กองสถิติพยากรณ์ และกรมการสหกรณ์

                 สำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด ทำหน้าที่สำคัญคือเปลี่ยนหน่วยวัด น้ำหนัก ปริมาตร และความยาว แบบโบราณของไทย ให้เป็น กรัม ลิตร เมตร เป็นระบบสากลของชาวโลก

                 ห้องทำงานนี้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบจากมาตรฐานแบบไทย เป็น มาตรฐานสากล ห้องนี้พิเศษกว่าห้องอื่นๆ ในตึก ก็เพื่อรองรับการใช้งานหนักและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ชั่ง ตวง วัด นั่นเอง

 

ภาพที่ 1 ห้องพื้นกระเบื้อง ภายในตึกมิวเซียมสยาม ออกแบบมาให้เป็นห้องสำหรับรองรับ

การทำงานที่มีอุปกรณ์หนัก

 

 

 

ภาพที่ 2 การทำงานในสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด (Central Bureau of Weights &
Measures) เจ้าหน้าที่กำลังนำอุปกรณ์มาสอบเทียบความเที่ยงตรงกับมาตรมาตรฐานของ
กระทรวงฯ พื้นห้องปูกระเบื้อง (cement tiles) ต่างจากห้องอื่นที่เป็นพื้นไม้ เพื่อรองรับน้ำหนัก
ของอุปกรณ์

ที่มาภาพ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

 

 

ภาพที่ 3 ต้นแบบน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของประเทศไทย (National Prototype Kilogram) ที่ได้รับจาก

สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM International Bureau of Weights and Measures)

เมื่อปีค.ศ. 1996 ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีเพื่อไม่ให้สูญเสียความเที่ยงตรง ที่สถาบันมาตรวิทยา

แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ที่มาภาพ: สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ