Muse Pop Culture
ตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตาหลอกผีตามความเชื่อโบราณ
Muse Pop Culture
08 มี.ค. 67 117

ผู้เขียน : Administrator

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2525 กล่าวถึง นิยามของ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ว่า หมายถึงตุ๊กตาที่ใส่กระทง กาบกล้วยพร้อมทั้งเครื่องเช่นผี อย่างดอกไม้ ธูป เทียน ของคาว หวาน แล้วนำไปวางไว้ที่ทางแยก ทางสามแพร่ง หรือนำไปลอยน้ำแล้วต่อยหัวตุ๊กตาออก

ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาดินปั้นที่ทำขึ้นจากความเชื่อของคนไทย ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สร้างขึ้นจากดินเหนียวปั้น เป็นรูปผู้ชาย ผู้หญิงตัวเล็กๆ ในอิริยาบถต่างๆ ใช้เป็นตัวแทน เพื่อปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และอันตราย ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือญาติพี่น้อง การปั้นตุ๊กตาเสียกบาลนั้นไม่ต้องใช้ความประณีตมาก ถ้าเป็นผู้หญิง มักนิยมเกล้าผมมวย มีจุก เปลือยอก นั่งตัวตรง ในมือถือของใช้ ถือพัด หรืออุ้มเด็ก จูงลูก หรือมือ ทั้งสองข้างพนมเข้าหากัน ถือดอกไม้ ฯลฯ ถ้าเป็นผู้ชายก็มัก จะเปลือยอก นุ่งผ้าท่อนล่าง แก้มตุ่ยคล้ายกับคนเคี้ยวหมาก ทำเป็นรูปคนเล่นดนตรี คนหมอบฟังเทศน์ คนอุ้มไก่ชน ฯลฯ สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนในแต่ละยุค

สมัยกรุงสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20) จะเป็นตุ๊กตาแบบแม่อุ้มลูก พ่ออุ้มลูก แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยคนมีปัญหาเรื่องโรคเด็กและการคลอดบุตร จึงมีพิธีเสียกบาลที่ทำขึ้นเมื่อเด็กแรกเกิดไม่สบาย ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผี

ในประเทศไทยพิธีกรรมและความเชื่อเรื่อง ตุ๊กตาเสียกบาล ยังมีสืบทอดกันมาในหลายพื้นที่ เช่น งานทำบุญซึ่งจัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ หรือในบางพื้นที่ ก็ยังคงมีพิธีกรรมเสียกบาล เป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยจะปั้นตุ๊กตาดินเหนียวเป็นรูปคนเท่ากับจำนวนคนในครอบครัวตามเพศของคนในครอบครัว รวมจนถึงสัตว์เลี้ยงที่มีด้วย ทำพิธีตรงทางสามแพร่ง เมื่อทำพิธีแล้ว ก็จะหักคอ หักแขน หักขาตุ๊กตานั้นเสีย หรือการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาแบบโบราณด้วยตุ๊กตาเสียกบาล ที่สืบทอดความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีการพบ ภาชนะกระทงกาบกล้วย สำหรับ ใส่ตุ๊กตาและเครื่องเซ่นผี ก็มีคำเรียกภาชนะนี้ว่า “กบาล” เช่นกัน ลักษณะดั้งเดิมของคำว่า กบาล นั้น คนในยุคก่อนใช้เรียกกระบะ กาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมสำหรับใส่เครื่องเซ่น มีใบตองปูลาดรองพื้น หรือมีกระทงใบตองเล็ก ๆ ใส่อาหาร และมีกาบกล้วยตัดแต่งเป็นรูปคน หรือดินเหนียวปั้นเป็น ตุ๊กตารูปคน และสัตว์เลี้ยง ใส่ลงไปด้วย

จึงเป็นไปได้ว่า ตุ๊กตาเอาทิ้งไปพร้อมกับกบาล อาจเป็นที่มาของคำว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” ได้อีกทางหนึ่ง ในยุคนั้นชาวบ้านจะนำกระบะกระบานไปวางไว้ทางทิศตะวันตก ตรงทางสามแพร่งบนโคก หรือบริเวณกลางทุ่งนา เสมือนว่ากำลังเชื้อเชิญให้ภูตผีมารับเครื่องเซ่นสังเวยนั้น

นอกจากนี้ยังมีอีกแนวความคิดหนึ่ง ที่นักประวัติศาสตร์ บางสำนักมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยเชื่อกันว่าตุ๊กตาเสียกบาลนั้นไม่ได้ถูกทุบหัว แต่จะใช้วิธีสะเดาะเคราะห์ส่งให้ ไปเป็นบริวารผีแทนตัว จึงตัดเล็บตัดผมของตนใส่ลงไปด้วย หากทุบหัวตุ๊กตา ผีอาจโกรธที่ส่งของชำรุดไปแทนตัว จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องทุบหัวตุ๊กตาเสียก่อน แต่เมื่อวางตรงทางสามแพร่งแล้วอาจถูกสัตว์เช่นวัวควายเหยียบย่ำ จึงทำให้ตุ๊กตาชำรุด

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการปั้นตุ๊กตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ไม่ใช่เพียงประเทศไทยแห่งเดียว ที่มีพิธีกรรมความเชื่อเรื่องการให้ตุ๊กตารับเคราะห์แทนตัว เพราะในพิธีกรรมของวัฒนธรรมเวียดนาม มีการค้นพบตุ๊กตา หัวหลุด ที่พระราชวังทังลอง (Thang Long Citadel) เมืองฮานอย ประเทศเวียดนามทำด้วยดินเผาเคลือบ มีอายุราวปี พ.ศ. 1500 - 1800 ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ ฮานอย ด้วยเช่นกัน

คนไทยอยู่คู่กับความเชื่อเหล่านี้มาตั้งแต่อดีต เมื่อยุคสมัย เปลี่ยนไปมีการรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา อาจทำให้ความเชื่อ ในอดีตนั้นเลือนหายไปบ้าง แม้ว่าตุ๊กตาเสียกบาลจะไม่นิยม นำมาใช้ประกอบพิธีเหมือนในอดีตแล้ว แต่ตุ๊กตาเสียกบาลยังคง ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และทราบถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์สืบต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : www.silpa-mag.com และ www.sacict.or.th

#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้ไม่ห่างอย่างที่คิด

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ