Museum Core
ชื่อประเทศบนแสตมป์ไทย
Museum Core
22 พ.ค. 66 536

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

               นับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการไปรษณีย์สยามขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 และได้จัดสร้างแสตมป์ชุดแรกขึ้น พร้อมออกจำหน่ายในวันเดียวกันจวบจนปัจจุบันมีอายุครบ 140 ปีในปีนี้ (พ.ศ. 2566) ภายใต้ชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีการจัดสร้างแสตมป์มามากกว่า 1,200 ชุด โดยแสตมป์ยุคปัจจุบันปรากฏชัดข้อความชื่อประเทศทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “ประเทศไทย THAILAND” อย่างคุ้นตา

 

ภาพที่ 1 แสตมป์ชุดโสฬศ
แหล่งที่มาภาพ: ไปรษณีย์ไทย

 

               ทว่า ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์นี้มีที่มาที่ไป หากย้อนไปถึงแสตมป์ดวงแรก “ชุดโสฬศ” ที่ผลิตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แสตมป์ชุดนี้ออกแบบมาทั้งสิ้น 6 ชนิดราคา ไม่ปรากฏชื่อประเทศอยู่บนดวงแสตมป์แต่อย่างใด ไม่ว่าภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ

               การไม่มีชื่อประเทศบนดวงแสตมป์นั้นอาจไม่เป็นปัญหาหากเป็นการจัดส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ภายในประเทศ แต่จะเกิดปัญหาหากจัดส่งระหว่างประเทศและทำผิดข้อบังคับของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union: UPU) ดังนั้น เมื่อการไปรษณีย์สยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ภายหลังก่อตั้งกิจการไปรษณีย์ได้แค่เพียง 2 ปี การพิมพ์ดวงแสตมป์จึงต้องระบุชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมราคาหน้าดวงเป็นเลขอารบิคตามข้อบังคับ

              การออกแบบแสตมป์ชุดต่อมา “ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 2)” ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2430 หลังเข้าร่วมสหภาพสากลไปรษณีย์แล้ว บนดวงแสตมป์ชุดนี้จึงปรากฏข้อความชื่อประเทศอย่างเด่นชัดอยู่ด้านล่างพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 รวมทั้งสิ้น 8 ชนิดราคา

 

ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 2)
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/6924149

 

              นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อประเทศบนดวงแสตมป์แม้จะมีเพียงชื่อภาษาอังกฤษว่า “SIAM” เท่านั้น ไม่มีชื่อภาษาไทยอยู่คู่กัน แต่รอบกรอบวงกลมภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ก็มีข้อความว่า “ไปรสะนีย์ แล เงินค่าตรา สยาม” (การเขียนตามรูปแบบยุคนั้น) มีคำว่า “สยาม” อยู่ด้วย

ล่วงมาถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2448 แสตมป์ “ชุดวัดแจ้ง” ออกวางจำหน่าย จึงปรากฏชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ชุดนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สยาม SIAM” คู่กัน ด้านบนกรอบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 จึงเป็นครั้งแรกที่แสตมป์ปรากฏชื่อประเทศในลักษณะนี้ และใช้เป็นแบบอย่างการออกแบบแสตมป์มาตลอด

 

ภาพที่ 3 แสตมป์ชุดวัดแจ้ง
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/8097/

 

               จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) “ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี” ออกจำหน่ายวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 มีทั้งสิ้น  8 ชนิดราคา โดยแสตมป์ทุกชนิดราคาระบุชื่อประเทศเพียงคำว่า “สยาม” เท่านั้น และไม่มีชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นเพียงชนิดราคาเดียวคือ 1 บาทที่ระบุทั้งสองภาษา

 

ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/7431873

 

               ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการออกแบบแสตมป์ “ชุดภาพพระที่นั่งจักรี” ที่มี 5 ชนิดราคาและเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ไม่มีคำว่าสยามทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเหมือนที่ผ่านมา แต่ปรากฏคำว่า “ไทย THAILAND” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศบนแสตมป์

 

ภาพที่ 5 แสตมป์ชุดภาพพระที่นั่งจักรี
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/13168/

 

               อย่างไรก็ตาม วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2484 วันแรกจำหน่ายของ “ชุดที่ระลึกงานพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ชุดนี้ที่มี 3 แบบ 12 ชนิดราคากลับมี ปรากฏข้อความชื่อประเทศว่า “ไทย” แต่ไม่มีชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษบนดวงแสตมป์แต่อย่างใด

 

ภาพที่ 6 แสตมป์ชุดที่ระลึกงานพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
แหล่งที่มาภาพ: ไปรษณีย์ไทย

 

               ทว่า แสตมป์ชุดถัดมา “ชุดอากาศไปรษณีย์ (ชุด 2)” ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2485 แสตมป์ชุดนี้ทั้งหมด 5 ชนิดราคา ปรากฏชื่อประเทศว่า “ไทย THAI” แทน

 

ภาพที่ 7 แสตมป์ชุดอากาศไปรษณีย์ (ชุด 2)
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/7467487

 

               นับเป็นช่วงที่ชื่อประเทศปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในแสตมป์ 3 ชุดที่ผลิตแต่ละปี ตั้งแต่ชุดภาพพระที่นั่งจักรี ชุดที่ระลึกงานพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และชุดอากาศไปรษณีย์ (ชุด 2) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลานี้ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ได้เปลี่ยนเป็นใช้คำว่า “ไทย, THAI และ THAILAND” แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องประกาศรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2482 ที่มีนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างชาติจนเกิดคำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” เพื่อปลูกฝังให้คนไทยนิยมใช้สินค้าไทย ให้ประชาชนสวมหมวก ให้ข้าราชการกล่าวคำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่พบกัน เหล่านี้นับเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา และอีกหนึ่งในนโยบายนั้นคือการเปลี่ยนชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แน่นอนว่าข้อความชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ก็ถูกเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

 

ภาพที่ 8 แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 (สยาม) (ชุด 1)
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/11907/

 

               หากแต่แสตมป์ชุดที่มีความพิเศษมาก ผ่านข้อความชื่อประเทศ นั่นคือ “ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 (สยาม) (ชุด 1)” ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพราะปรากฏข้อความว่า “ไทย SIAM” บนดวงแสตมป์ทั้ง 10 ชนิดราคา ต่อด้วยแสตมป์ชุดถัดมา นั่นคือ “ชุดที่ระลึกฉลองราชนิติภาวะ” มีวันแรกจำหน่ายตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 โดยแสตมป์ทั้ง 5 ชนิดราคาก็ยังปรากฏชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ว่า “ไทย SIAM” ดังเดิมเช่นชุดก่อนหน้า

 

ภาพที่ 9 แสตมป์ชุดที่ระลึกฉลองราชนิติภาวะ
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/4332/

 

               สำหรับแสตมป์ชุดแรกของไทย ที่ระบุชื่อประเทศว่า “ประเทศไทย THAILAND” ดังที่คุ้นตากันในปัจจุบัน ได้แก่ “ชุดที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9” ซึ่งมีวันแรกจำหน่ายเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 แม้หลังจากนั้น อาจมีแสตมป์บางชุดกลับไปใช้คำชื่อประเทศแบบเก่าที่เคยใช้มาบ้าง แต่ในเวลาต่อมาก็กลับมาใช้ว่า “ประเทศไทย THAILAND” เหมือนเดิม

 

ภาพที่ 10 แสตมป์ชุดที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9
แหล่งที่มาภาพ ไปรษณีย์ไทย

 

               ทั้งหมดนี้ คือเส้นทางชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ไทย ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 67 ปี กว่าชื่อประเทศทั้งภาษาไทยและอังกฤษจะปรากฏคำว่า “ประเทศไทย THAILAND” ดังที่ใช้กันถึงทุกวันนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย และ 10 ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1 – 4

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ