Museum Core
ครั้งแรกและโฉมใหม่แสตมป์สยามสมัยรัชกาลที่ 7
Museum Core
20 เม.ย. 66 584

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

               ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระองค์ทรงครองราชย์เพียง 9 ปีเศษ และมีการจัดสร้างแสตมป์ออกมาเพียง 4 ชุดเท่านั้น ทว่าแสตมป์ 2 ชุดหลังในรัชสมัยของพระองค์กลับมีความพิเศษอย่างเป็นครั้งแรกและโฉมใหม่ของแสตมป์สยาม

               แสตมป์สองชุดดังกล่าว คือ แสตมป์ชุดประชาธิปก และแสตมป์ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี นอกจากนี้ยังมีบุคคลหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังแสตมป์ทั้งสองชุดนี้อย่างเป็นความสำคัญขั้นเอกอุ นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

ภาพที่ 1 แสตมป์ชุดประชาธิปก

แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/9433/

 

               แม้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองหนักหน่วง ประจวบกับบ้านเมืองต้องเผชิญเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และแม้สยามจะรอดพ้นภัยมาได้ก็ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจการไปรษณีย์ให้ก้าวหน้ามั่นคง

               โดยเฉพาะเรื่องแสตมป์ นับเป็นยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบตราไปรษณีย์ประจำรัชกาล เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงมีพระราชดำริให้ช่างเขียนของกรมศิลปากรและกรมมหาดเล็กประกวดการออกแบบถวายให้ทอดพระเนตร และพระราชทานรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวด

               ผู้ชนะการประกวดได้เขียนแบบเสร็จเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2468 และต่อมาในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2469 พระองค์ทรงเลือกแบบของขุนเทพลักษณ์เลขา โดยแก้ไขแบบในรายละเอียดตามการพิจารณาของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระราชทานเงินรางวัลให้ผู้ออกแบบ 500 บาท

 

ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี

แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/7431873

 

               ด้านการออกแบบที่นับว่าเป็นทั้งการเปลี่ยนแปลงและจุดเริ่มต้น เพราะปรากฏลายไทยเป็นลายกรอบล้อมพระบรมรูป ซึ่งแตกต่างจากแสตมป์สมัยรัชกาลที่ 5 – 6 ที่จ้างชาวต่างชาติออกแบบ จึงมักปรากฏลายฝรั่งเป็นกรอบล้อมพระบรมรูป นอกจากนี้ยังปรากฏตราประจำราชวงศ์จักรี อยู่มุมบนทั้งด้านซ้ายและขวาของแสตมป์ชนิดราคาบาทอีกด้วย ก่อนส่งไปพิมพ์ที่วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ

               ทั้งหมดคือที่มาของ “แสตมป์ชุดประชาธิปก” ซึ่งมีทั้งสิ้น 15 ชนิดราคา ดังนี้ 2 สตางค์ สีน้ำตาล วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2471, 3 สตางค์ สีเขียว วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2471, 5 สตางค์ สีม่วง วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน พ.ศ. 2471, 10 สตางค์ สีแดง วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน พ.ศ. 2471, 15 สตางค์ สีน้ำเงิน วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2471, 25 สตางค์ สีจำปาทับดำ วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2471, 50 สตางค์ สีดำทับจำปา วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2471, 80 สตางค์ สีเทาอ่อนทับสีครามอ่อน วันแรกจำหน่าย 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471

               1 บาท สีเทาทับสีน้ำเงินอ่อน, 2 บาท สีน้ำตาลอ่อนทับกุหลาบ, 3 บาท สีเทาทับสีเขียวอ่อน, 5 บาท สีเทาทับหว้า, 10 บาท สีเม็ดมะปรางทับสมออ่อน, 20 บาท สีน้ำตาลแก่ทับสีน้ำเงินปนเขียว และ 40 บาท สีน้ำตาลอ่อนทับเขียวหม่น ชนิดราคาบาททั้งหมดมีตราประจำราชวงศ์จักรีอยู่มุมบนทั้งด้านซ้ายและขวาของดวงแสตมป์ และทุกดวงมีวันแรกจำหน่ายพร้อมกันคือ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2471

               แสตมป์ชุดดังกล่าวยังมีเกร็ดน่าสนใจอีกข้อ นั่นคือเดิมจัดสร้างเพียง 14 ชุดเท่านั้น แต่ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2471 กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานขอพระบรมราชานุญาตพิมพ์ตราไปรษณียากรเพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิดราคา นั่นคือ 80 สตางค์ เพื่อเป็นค่าคำโทรเลข จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการได้ ส่งผลให้แสตมป์ชุดประชาธิปกมีทั้งสิ้น 15 ชนิดราคา

               ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้มีการสมโภชพระนครครบรอบ 150 ปี ที่มาถึงในปี พ.ศ. 2475 โดยมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะทรงรับราชการอยู่ ณ แผนกศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้ออกแบบตราไปรษณียากรที่ระลึกงานสมโภชพระนคร 150 ปี ก่อนส่งไปพิมพ์ที่วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ

               นั่นคือที่มาของ “แสตมป์ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี” ซึ่งมีวันแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 มีด้วยกันทั้งสิ้น 8 ชนิดราคา ได้แก่ 2 สตางค์ สีน้ำตาล, 3 สตางค์ สีเขียว, 5 สตางค์ สีม่วง, 10 สตางค์ สีเทาบนพื้นสีเลือดหมู, 15 สตางค์ สีเทาบนพื้นสีน้ำเงิน, 25 สตางค์ สีเทาบนพื้นสีลูกหว้า, 50 สตางค์ สีเทาบนพื้นสีม่วงแดง และ 1 บาท สีน้ำเงินแก่

               ด้านการออกแบบ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบแสตมป์เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 7 อยู่ในภาพเดียวกัน นับเป็นแสตมป์สยามชุดแรกที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ถึงสองรัชกาลอยู่บนแสตมป์ดวงเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากที่เคยออกแบบกันมานับตั้งแต่ก่อตั้งการไปรษณีย์สยามในปี พ.ศ. 2426

 

ภาพที่ 3 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

แหล่งที่มาภาพ:https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:Naritsaranuwattiwong_-_001.jpg#mw-jump-to-license

 

               นอกจากนี้ บนดวงแสตมป์ชนิดราคา 10, 15, 25 และ 50 สตางค์ ยังปรากฏตราประจำรัชกาลที่ 1 นั่นคือ “อุณาโลม” มุมซ้ายด้านล่าง (ด้านบนเลข พ.ศ. ๒๓๒๕) และตราประจำรัชกาลที่ 7 นั่นคือ “พระไตรศร” หรือพระแสงศร 3 พระองค์ (พระแสงศรพรหมศาสตร์ ศรของพระพรหม พระแสงศรอัคนีวาต ศรของพระนารายณ์ และพระแสงศรประลัยวาต ศรของพระอิศวร) มุมขวาด้านล่าง (ด้านบนเลข พ.ศ. ๒๔๗๕)

               เฉพาะแสตมป์ชนิดราคา 1 บาท เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 ทรงเครื่องเต็มยศตามขัตติยราชประเพณีประทับบนพระที่นั่ง การสมโภชพระนครครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 (ครั้งแรก เมื่อครั้งสร้างพระนครเสร็จสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งที่สอง เมื่อครั้งครบรอบพระนคร 100 ปี ในปี พ.ศ. 2425 สมัยรัชกาลที่ 5) นอกจากนี้บนดวงแสตมป์ยังปรากฏชื่อประเทศ “สยาม” เป็นภาษาไทย และ “SIAM” เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่ชนิดราคาอื่น ๆ มีเฉพาะชื่อประเทศเป็นภาษาไทยเท่านั้น

               การออกแบบและปรับแก้ดวงแสตมป์ทั้งสองชุดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา
นริศรานุวัดติวงศ์ อัครศิลปินสร้างงานศิลป์สู่ไปรษณียากรไทย นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นออกแบบแสตมป์ในรัชกาลต่อมาใช้กรอบลายไทยอย่างเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่การออกแบบแสตมป์เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์สองพระองค์บนแสตมป์ดวงเดียวกัน ในเวลาต่อมานักออกแบบรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทาง โดยเฉพาะแสตมป์วาระสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 9

               แสตมป์ทั้งสองชุด จึงเป็นทั้งครั้งแรกและโฉมใหม่ ในความหมายของต้นทางที่ส่งต่องานศิลป์อย่างข้ามเวลา ปรากฏให้เห็นได้ในแสตมป์ไทยยุคปัจจุบัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1 และ 4

นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม ฉบับ ก.ค. 2562

นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม ฉบับ ก.ย. 2562

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ