Museum Core
วิบากกรรมของเบอร์ลินโดม
Museum Core
19 เม.ย. 66 455
ประเทศเยอรมันนี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

 

(ภาพปก) ปีกด้านเหนือของเบอร์ลินโดมเดิมเป็นโบสถ์ราชานุสรณ์ ในวินาทีที่ถูกระเบิดเพื่อรื้อถอน ภาพที่รูดิเกอร์ ฮอธ ((Rüdiger Hoth) แอบถ่ายไว้ในปี ค.ศ.1975 โดยฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลเยอรมันตะวันออก

 

               วิหารเบอร์ลิน (Berlin Cathedral) หรือเบอร์ลินโดม (Berlin Dom) เป็นวิหารที่ดูเก่าแก่เหมือนผ่านกาลเวลามานาน ไม่น่าเชื่อเลยว่าที่จริงแล้วอาคารหลังนี้มีอายุร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง

               เบอร์ลินโดมสร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ.1905  สาเหตุที่ดูเก่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้สไตล์นีโอ

เรอเนซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอบาโรก (Neo Baroque) ในการออกแบบ  จึงทำให้วิหารดูเหมือนว่ามาจากคริสต์ศตวรรษที่ 17  อีกส่วนหนึ่งนั้น...ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิหารแห่งนี้ดูโทรมกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากขาดงบประมาณในการดูแลรักษา

               เบอร์ลินโดมเป็นแลนด์มาร์กสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับผู้มาเที่ยวกรุงเบอร์ลิน เบอร์ลินโดมอาจเป็นที่รักของนักท่องเที่ยวแต่ดูเหมือนไม่ได้เป็นที่รักของกรุงเบอร์ลินเท่าใดนัก วิหารซึ่งมีอายุพียงร้อยปีนี้ผ่านวิบากกรรมมามากมาย และยังต้องต่อสู้ต่อไปในปัจจุบัน

 

กว่าจะได้สร้าง

               เบอร์ลินโดมพัฒนามาจากโบสถ์น้อยประจำตระกูลโฮเอนซอลเลิร์น (Hohenzollern) เจ้านครรัฐ
บรันเดนบูร์ก (Brandenburg) นับตั้งแต่สถาปนาเป็นวิหารเบอร์ลินในปี ค.ศ.1465  วิหารได้ขยับขยายย้ายที่และเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปหลายครั้ง ความคิดที่จะปรับปรุงหรือรื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่วนเวียนกลับมาอยู่เสมอ โดยมักขยายตามความต้องการที่มากขึ้นตามอำนาจและความมั่งคั่งของราชวงศ์โฮเอนซอลเลิร์นผู้เป็นเจ้าของ

              ในปี ค.ศ.1750 พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (Frederick the Great ค.ศ.1712-1786) ทรงบัญชาให้รื้อวิหารเก่าแล้วย้ายวิหารมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันโดยสร้างเป็นแบบบาโรก ต่อมาในทศวรรษที่ 1820 มีการรีโนเวทเปลี่ยนโฉมเป็นแบบคลาสสิค เครื่องประดับตกแต่งแบบบาโรกทั้งหลายโดนรื้อทิ้งจนสิ้น ไม่นานจากนั้นราชสำนักมอบหมายให้สถาปนิกที่มีชื่อเสียงหลายคนเสนอรูปแบบวิหารใหม่พร้อมมหาสุสานที่ดูยิ่งใหญ่สมฐานะมาให้พิจารณา ในที่สุดแบบที่ถูกเลือกเป็นของฟรีดริช ออกุสท์ สตูเลอร์ (Friedrich August Stüle ค.ศ.1800-1865) การก่อสร้างฐานรากและกำแพงของสุสานใต้ดินเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1844 แต่การปฏิวัติเยอรมันในปี ค.ศ.1848-1849 ยุติทุกอย่างลงอย่างสิ้นเชิง

 

ภาพที่ 1 โมเดลของวิหารที่ออกแบบโดยสตูเลอร์ ในปี ค.ศ.1843 (ซ้าย) และปี ค.ศ.1859 (ขวา)

จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลินโดม

 

               ครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น ดินแดนเยอรมันซึ่งประกอบด้วยนครรัฐน้อยใหญ่มีเรื่องสำคัญต้องใส่ใจ นั่นคือความพยายามในการรวมชาติท่ามกลางกระแสการปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรป เยอรมันมีความซับซ้อนเพราะแต่ละนครรัฐก็มีความแตกต่างกันไปทั้งสภาพเศรษฐกิจสังคม ประชากร ผู้นำ รวมไปถึงแนวคิดทางการเมืองและศาสนา ในที่สุดด้วยการดำเนินกลยุทธ์ทางการทหารและการเมืองที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อนของกลุ่มผู้หนุนหลังหลายรุ่น ราชวงศ์โฮเอนซอลเลิร์นซึ่งครองราชอาณาจักรปรัสเซียก็ได้เป็นประมุขของสมาพันธรัฐแห่งเยอรมันเหนือในปี ค.ศ.1867   ต่อมาในปี ค.ศ.1871 พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 (Wilhelm I) ได้เป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิเยอรมันซึ่งรวมเยอรมันเหนือ-ใต้เข้าด้วยกัน

                จักรพรรดิมอบหมายให้มีการประกวดแบบวิหารเบอร์ลิน แต่ก็ไม่มีใครชนะ การออกแบบโบสถ์ตกอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเวลาหลายสิบปี คำถามที่ว่าวิหารควรจะเป็น “อัครมหาวิหาร”ของราชวงศ์? (royal basilica) หรือควรเป็นโบสถ์ที่เป็นศูนย์กลางแห่งประชาธิปไตย? (central democratic church) สุสานควรเป็นของราชวงศ์? หรือควรมีที่ให้แก่วีรบุรุษอื่นๆของชาติด้วย? ทำให้โครงการก่อสร้างไม่ขยับ จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 (Friedrich III) ซึ่งครองราชย์ในปีค.ศ. 1888 และมีรัชสมัยเพียง 99 วัน มอบหมายให้สถาปนิกจูเลียส คาร์ล รัชดอร์ฟ (Julius Carl Raschdorff  ค.ศ. 1823-1914) เป็นผู้ออกแบบต่อมา ในปี ค.ศ.1891 รัฐสภาจึงได้ลงมติรับแบบร่างที่ 3 ของรัชดอร์ฟในราคา 10 ล้านมาร์คซึ่งเป็นการตัดงบประมาณลงครึ่งหนึ่งจากที่ขอไป

 

ภาพที่ 2 โมเดลวิหารจากการออกแบบของรัชดอร์ฟที่ทำขึ้นราวปี ค.ศ.1890 (ภาพซ้าย)

มีช่องมองสะท้อนรายละเอียดการตกแต่งภายใน (ภาพขวา) ส่วนที่กั้นฉากไว้เพราะโมเดล

แตกหักลงมาบางส่วน กำลังอยู่ระหว่างบูรณะ โมเดลนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของเบอร์ลินโดม

 

               เริ่มแรกจิตรกรและประติมากรฝีมือดีที่จบจากสถาบันศิลปะและมองว่าตนเองเป็นผู้สืบทอดของปรมาจารย์จากยุคเรอเนสซองส์และบาโรกต่างเข้ามาร่วมงานและทุ่มเทอย่างเต็มที่  ยอดประติมากรหลายสิบคนแห่ง”ยุควิลเฮล์ม” (Wilhelmine era) ร่วมกันสร้างแบบจำลองทางสถาปัตยกรรมและสิ่งตกแต่งในสเกลต่างๆเพื่อทดสอบและเตรียมงานสร้าง แบบจำลองเหล่านี้รอดจากภัยสงครามมาบางส่วนซึ่งเป็นประโยชน์ในการบูรณะวิหารในภายหลังเป็นอย่างมาก  อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการก่อสร้างเบอร์ลินโดมต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป คลื่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สังคมมั่งคั่งขึ้นและกลายเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ศิลปินปลดปล่อยตัวเองจากวิชาการและเข้าร่วมขบวนการศิลปะสมัยใหม่ของยุโรป แม้ในขณะที่กำลังสร้างเบอร์ลินโดมก็ค่อยกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับสาธารณชนและสังคมซึ่งกำลังเร่งรุดไปข้างหน้า

               เบอร์ลินโดมสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1905 ต่อมาไม่นานจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ((Wilhelm II) ผู้สร้างเบอร์ลินโดมนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจบลงด้วยการแพ้สงคราม จักรพรรดิถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ทรงลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1918 และไม่ได้กลับมาอีกเลย ราชวงศ์โฮเอนซอลเลิร์นไม่ได้ปกครองเยอรมนีอีกต่อไป

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้น

               ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1944 ระเบิดเพลิงตกใส่โดมของวิหารเบอร์ลินทำให้เกิดไฟไหม้ โดมอยู่สูงเกินกว่าจะดับไฟจึงได้แต่ปล่อยให้ไฟโหมไหม้จนโดมส่วนหนึ่งถล่มลงมา น้ำหนักของมันทำให้หลังคาโบสถ์ราชานุสรณ์ (Memorial church) ถล่ม พื้นโบสถ์ก็ถล่มตามลงไปทำความเสียหายให้กับสุสานใต้ดิน ภาพเขียนสีบนกระจกหลังแท่นบูชาถูกแรงระเบิดอัดจนแตกหมดสิ้น ภาพโมเสกบนหลังคาโดมในส่วนที่ยังไม่ถล่มถูกทิ้งให้เผชิญลมฝนและหิมะเป็นเวลาหลายปีหลังสงครามจบ ในที่สุดโมเสกก็ร่วงหลุดลงมาเกือบหมด

               กองทัพโซเวียตปล่อยมือให้รัฐบาลเยอรมันตะวันออกปกครองตนเองในปี ค.ศ.1949  รัฐบาลพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (SED) มีที่มาจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ที่วิพากษ์วิจารณ์เบอร์ลินโดมมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้สร้าง ชะตากรรมของเบอร์ลินโดมซึ่งตกไปอยู่ในเขตเยอรมันตะวันออกกลับมาอยู่บนความไม่แน่นอนอีกครั้ง  ในปี ค.ศ.1950 พระราชวังของราชวงศ์โฮเอนซอลเลิร์น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันโดนรื้อถอนจนราบเรียบ เหลือเพียงเบอร์ลินโดมยืนอย่างอิหลักอิเหลื่ออยู่เพียงลำพัง จากนั้นไม่นานก็มีการเสนอให้รื้อเบอร์ลินโดม แต่ก็มีสมาชิกสภาเมืองบางคนเห็นว่าการรื้อทิ้งนั้นแพงกว่าการซ่อมเอาไว้ใช้งาน จึงมีการสร้างหลังคาชั่วคราวคลุมช่องโหว่ของโดมหลังใหญ่ไว้ หลังคานี้ใช้เวลาสร้างหลายปีเพราะขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและช่าง

 

ภาพที่ 3 แบบร่างวิหารเบอร์ลินของรัชดอร์ฟ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลินโดม แสดงให้เห็น

โบสถ์สำหรับทำพิธีบัพติสมาและพิธีแต่งงาน (Baptismal and Matrimonial Church) เล็กๆ ทางขวา

โบสถ์เทศนา (Sermon Church) อยู่ตรงกลางใต้โดมใหญ่

และโบสถ์ราชานุสรณ์ทางซ้าย (Memorial church) ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว

 

               มันเฟรด ชตอยเป (Manfred Stolpe (ค.ศ.1936-2019)) ขณะที่เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการของ
คริสตจักรโปรเตสแตนต์ในเบอร์ลินตะวันออก เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเบอร์ลินโดมซึ่งรณรงค์ต่อรองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลล้มเลิกแผนการรื้อถอนและยอมอนุญาตให้บูรณะเบอร์ลินโดม ระหว่างที่แสวงหาความสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ เขากล่าวว่าทุกคนก็เข้าใจว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่ในขณะที่หลายคนคิดว่าควรจะรักษาไว้ก็มีอีกหลายคนที่คิดว่าควรกำจัดทิ้งไปเสีย

               รัฐบาลเยอรมันตะวันออกเองก็มีอีกหลายเรื่องต้องเอาใจใส่ แม้ว่าจะเป็นรัฐบริวารของโซเวียตที่มีผลประกอบการดีกว่าแห่งอื่นๆ แต่ก็ไม่ดีไปกว่าเยอรมันตะวันตก ทำให้ประชาชนที่มีความรู้ความสามารถพากันอพยพออกไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เมื่อประชากรหายไปถึง 20% เยอรมันตะวันออกก็เริ่มปิดกั้นพรมแดนและสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นในปี ค.ศ.1961 การปิดกั้นยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองแย่ลง  ในที่สุดเยอรมันตะวันออกก็ยอมให้บูรณะเบอร์ลินโดมเพื่อแลกกับเงินที่จะไหลเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเงื่อนไขมากมายเช่นต้องรื้อถอนสัญลักษณ์ทางศาสนาออกไป ต้องเอาประติมากรรมที่แสดงถึงยุคราชาธิปไตยออกไป จะต้องทำฝ้าเพดานกั้นใต้โดม  ขณะที่การเข้ามาตรวจสอบความเสียหายและวางแผนบูรณะดำเนินไปก็ต้องยอมให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้พื้นที่ รวมถึงการใช้โถงกลางในการจัดแสดงคอนเสิร์ต

 

การบูรณะ

               ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เบอร์ลินถูกบอมบ์อย่างหนัก เอกสารจดหมายเหตุหลายร้อยกล่องของเบอร์ลินโดมลี้ภัยไปยังประเทศโปแลนด์ แต่ก็ยังมีเอกสาร แบบแปลน ภาพร่าง และสิ่งของเก็บไว้ในห้องเก็บเอกสารบนชั้น 2 และห้องอื่นๆในวิหารอีกมาก ของเหล่านี้อยู่ในสภาพย่ำแย่เพราะถูกทิ้งไว้ในซากปรักหักพังอย่างไม่สนใจใยดีเป็นเวลานาน โชคดีที่ภาพสีต้นแบบของภาพโมเสกบนโดม 8 ภาพ แบบแปลนของอาคารและสิ่งตกแต่ง  โมเดลขนาดใหญ่แสดงรูปแบบเหมือนจริงของวิหารและการตกแต่งอย่างละเอียดทั้งภายนอกและภายใน สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการบูรณะได้

 

ภาพที่ 4 ผู้คนมักไฮไลท์ภาพมุมสูงจากการขึ้นไปบนระเบียงรอบโดม แต่ระหว่างทางก็มีสิ่งน่าสนใจ
นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วก็ยังมีโมเดลจำนวนมากที่วางตากแดดตากฝนไว้บนระเบียงด้านนอก
และการจัดแสดงภาพขาว-ดำบันทึกการทำงานของช่างบนหลังคาโดมขณะบูรณะ

 

               เยอรมันตะวันตกและสหพันธ์คริสตจักรโปรเตสแตนต์ในเยอรมันตะวันออกช่วยกันระดมทุนได้ 55 ล้านมาร์ค และในปี ค.ศ.1975 โครงการบูรณะก็เริ่มขึ้นโดยมีรูดิเกอร์ ฮอธ (Rüdiger Hoth ค.ศ.1940-ปัจจุบัน) เป็นนายช่างใหญ่ควบคุมงาน เบอร์ลินโดมที่เราเห็นในปัจจุบันยังคงประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนา ไม่ได้เหลือเพียงโครงสร้างอาคารสำหรับใช้ประโยชน์ตามบัญชาของรัฐ เป็นเพราะการต่อสู้ต่อรองอย่างอดทน การหลบเลี่ยงคำสั่ง และการเรียกร้องความเห็นใจจากสาธารณะของฮอธ เพื่อที่จะรักษาวิหารหลังสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์และศิลปะในยุควิลเฮล์มอันแสนสั้นไว้ ฮอธทำงานกับเบอร์ลินโดมอยู่นานถึง 30 ปี เขาเกษียณอายุในปี ค.ศ.2005

                งานบูรณะภายนอกเสร็จในปี ค.ศ.1993 เบอร์ลินโดมกลับมาเปิดใช้งานในฐานะโบสถ์อีกครั้ง ภาพสีบนหน้าต่างกระจกหลังแท่นบูชาทำขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1997 โดยอาร์ตสตูดิโอด้านกระจกสีของเยอรมันชื่อ STAINED GLASS PETERS STUDIOS พวกเขารวบรวมข้อมูลจากแบบร่างและภาพถ่ายเก่าจำนวนมากแล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลออกมาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคที่เขาตั้งชื่อว่าลูซ เฟลเรโอ (Luce Flereo) เป็นเทคนิคทำนองเดียวกับการพิมพ์ คือใช้กระจกแม่สีสามสีมาวางซ้อนกัน  งานตกแต่งภายในเสร็จสิ้นในปี ค.ศ.2002 โดยมีพิธีเปิดกระเบื้องโมเสคบนโดมภาพที่แปดเป็นอันสุดท้าย

 

ภาพที่ 5 ส่วนหนึ่งของภาพโมเสก รูปความสุขแท้แปดประการ (Eight Beatitudes )

ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมด

 

ปัจจุบันและอนาคต

               อันที่จริงแล้วการบูรณะเบอร์ลินโดมยังไม่จบสิ้น งานอนุรักษ์ซ่อมแซมรอยแตกกะเทาะและคราบไคลต่างๆ ยังมีไม่รู้จบ พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ดูเก่าทรุดโทรม เอกสารเก่าและโบราณวัตถุอีกนับพันชิ้นยังรอคิวการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการซึ่งเป็นไปอย่างเชื่องช้าและขาดกำลังคน แผนการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และนำสิ่งเหล่านี้ออกมาจัดแสดงยังอยู่อีกห่างไกล แล้วยังค่าน้ำค่าไฟค่าดูแลรายวันอีกเล่า เบอร์ลินโดมเป็นโบสถ์แห่งเดียวในเยอรมนีที่ต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองถึง 97% มีเงินสนับสนุนจากรัฐเพียง 3% เท่านั้น  แต่ก็ยังมีผู้คนที่เข้ามาช่วยโบสถ์ที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครรักแห่งนี้ ได้แก่ มูลนิธิวิหารเบอร์ลิน (Berliner-Dom-Stiftung) สมาคมเพื่อการก่อสร้างวิหารเบอร์ลิน (Berliner Dombau-Verein) กลุ่มเพื่อนวิหารเบอร์ลิน (Berliner-Dom-Freunde) มูลนิธิแบร์เบล วาสัก (Bärbel Vasak เป็นชื่อสุภาพสตรีที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายการบรรเลงดนตรีในระหว่างพิธีในโบสถ์ เมื่อเธอเสียชีวิตก็ได้มีการตั้งมูลนิธิขึ้น) และสมาคมผู้อุปถัมภ์คณะนักร้องประสานเสียงวิหารเบอร์ลิน (Förderverein der Berliner Domkantorei) ต่างมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อหาทุนสนับสนุนในด้านต่างๆ

                 สำหรับผู้มาเที่ยวกรุงเบอร์ลิน สนับสนุนค่าชม 7 ยูโรเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายของเบอร์ลินโดม แล้วท่านจะไม่เสียใจเลยที่ได้เข้าไปชมด้านใน  นอกจากนั้นยังมีเอกสาร แบบแปลน และโมเดลอีกส่วนหนึ่งจัดเก็บและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มัณฑนศิลป์ (Museum of Decorative Arts) ในเบอร์ลิน และหอจดหมายเหตุรัฐบรันเดนบูร์ก (Brandenburg State Main Archive) ที่พอทสดัม (Potsdam)

 

ที่มาของข้อมูล

  1. เว็บไซต์ของเบอร์ลินโดม https://www.berlinerdom.de/en/
  2. เว็บไซต์ของสมาคมเพื่อการก่อสร้างวิหารเบอร์ลิน https://www-berliner--dombau--verein-de.translate.goog/der-berliner-dom/?_x_tr_sl=de&_x_tr_tl=en&_x_tr_hl=en&_x_tr_pto=sc
  3. บทความ GDR plans for Berlin Cathedral: swimming pool or museum?” เขียนโดย H.-R. Karutz, เผยแพร่เมื่อ 02/05/2000
  4. บทความ Berlin Cathedral - Cathedral Museum - Models, drawings, paintings” เขียนโดย Christine Becker ในปีค.ศ. 2005 (ครบรอบร้อยปีเบอร์ลินโดม)

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ