Museum Core
บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน
Museum Core
19 เม.ย. 66 737

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               ‘บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน’ เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชื่อย่านสวนสำคัญในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยปัจจุบัน 2 แห่งคือ ‘บางช้าง’ ปัจจุบันเขตพื้นที่ ต. บางช้าง อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม และ ‘บางกอก’ คือบริเวณย่านริมปากคลองบางกอกใหญ่ใกล้วัดอรุณราชวราราม จ. ​กรุงเทพมหานคร

                ทั้งบางช้างและบางกอก ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่โคตนตมทับถมทางปากน้ำแม่กลอง และปากน้ำเจ้าพระยาตามลำดับ จึงมีดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารของพืช ส่งผลให้เป็นดินที่เหมาะสำหรับปลูกเรือกสวนไม้ดอกไม้ผล ดังนั้นจึงมีผู้คนโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะพวกจีนที่อาศัยอยู่ใต้แม่น้ำฉางเจียน (ไทยเรียก แยงซีเกียง) บริเวณมณฑลกวางตุ้ง-กวางสีที่ได้นำเอาเทคโนโลยีการทำ ‘สวนยกร่อง’ เข้ามาพัฒนาดัดแปลงพื้นที่ทั้งปากน้ำแม่กลอง และปากน้ำเจ้าพระยาจนเป็นกลายเป็นพื้นที่เรือกสวนกว้างขวางทั้งสองแห่ง

                 สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ทั้ง ‘บางช้าง’ และ ‘บางกอก’ พัฒนาขึ้นเป็น ‘สวนนอก’ และ ‘สวนใน’ ในช่วงเวลาเดียวกัน (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกันมาก) ผู้คนในชุมชนทั้งสองแห่งนี้จึงได้เกี่ยวดองเป็นญาติกันต่อไปในภายภาคหน้า จนได้เกิดชื่อเรียกคล้องจองกันว่า ‘บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน’ นั่นเอง

                 คำว่า ‘บางช้าง’ ประกอบขึ้นจากคำว่า ‘บาง’ และคำว่า ‘ช้าง’

                 ‘บาง’ เป็นคำพื้นเมืองของชนชาวอุษาคเนย์ หมายถึงย่าน หรือบริเวณชุมชนที่ตั้งอยู่ปากคลอง หรือลำน้ำสายเล็กๆ สั้นๆ บางแห่งเป็นลำน้ำตัน แต่บางแห่งเชื่อมลำน้ำสายอื่นก็ได้

                 ส่วนคำว่า ‘ช้าง’ มีผู้อธิบายไว้หลายทาง แต่คำอธิบายที่น่าสนใจมาจากหนังสือ เที่ยววัดไทยในจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ร.ศ. ไกรนุช ศิริพูล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2547 โดยอ้างถึงบันทึกคำบอกเล่าเรื่องวัดช้างเผือก แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าทึบและมีโขลงช้างป่าจำนวนมากมาหาอาหารกิน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าตำบลบางช้าง

                 โดยเฉพาะตรงบริเวณที่ตั้งของวัดช้างเผือกนั้น เล่ากันว่าเป็นที่หลบซ่อนอาศัยของช้างเผือก (อันเป็นที่มาของชื่อวัด) และช้างธรรมดาในยุคที่สงครามยังต้องอาศัยช้างเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีชีวิตอยู่ หลักฐานปรากฏว่ามีเสาตะลุงสำหรับผูกช้างตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า แต่ปัจจุบันได้ถูกดินทับถมจนจมลงไปมากแล้ว และที่หน้าอุโบสถหลังนี้ยังเคยมีลำคลองสั้นๆ เรียกว่า ‘คลองช้าง’ อีกด้วย

                เชื่อกันว่าคลองดังกล่าวเป็นลำน้ำที่ช้างใช้อาบน้ำและดื่มน้ำ ตัวคลองมีความยาวประมาณ 600 เมตร เริ่มต้นตั้งแต่ที่หน้าพระอุโบสถต่อเนื่องไปจนจรดคลองบางพรหม แต่ปัจจุบันได้ถูกถมกลายเป็นบ้านเรือนและถนนไปหมด จนเหลือไว้แต่ชื่อคลองช้างนั่นเอง 

                บริเวณพื้นที่บางช้างนั้นยังเป็นสถานที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 โดยพื้นที่แถบบางช้างนั้นเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมในสายตระกูลของสมเด็จพระ
อมรินทราบรมราชินี (นาค) ผู้เป็นพระบรมราชชนนี (แม่) ของพระองค์

                ดังนั้นเมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว บรรดาพระญาติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี จึงมีฐานะเป็น ‘ราชินิกุล’ (คือเป็นพระญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยนับจากฝั่งพระบรมราชชนนี ถ้าหากเป็นพระญาติโดยนับจากฝั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ เรียกว่า ‘ราชนิกุล’) สาย ‘ณ บางช้าง’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ภาพที่ 1: คลองอัมพวา จ. สมุทรสงคราม

แหล่งที่มาภาพจาก: หนังสือ ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

 

ภาพที่ 2: ภาพวาดต้นไม้ และผลไม้ในสวนยุคหกรุงศรีอยุธยา

จากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยายุคสมเด็จพระนารายณ์

แหล่งที่มาภาพจาก: หนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม

 

               ส่วนชื่อ ‘บางกอก’ นั้น บางท่านว่าเพี้ยนมาจาก ‘บางเกาะ’ เพราะหลังจากการขุดคลองลัด จากบริเวณหน้าปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน คือบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ละแวกวัดอรุณราชวราราม ไปจนถึงปากคลองบางกอกน้อยแถวโรงพยาบาลศิริราชก็ทำให้เกิดสภาพของพื้นที่ที่กลายเป็นเกาะขึ้นมาจนถูกเรียกว่าบางเกาะไปในที่สุด

               อย่างไรก็ตาม วัดอรุณฯ ที่ตั้งอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เดิมมีชื่อว่า ‘วัดมะกอก’ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีต้นมะกอกมาก (อาจเป็นต้นมะกอกน้ำ) แถมต่อมาเมื่อมีการขุดคลองแล้วก็มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นภายหลังในตำบลเดียวกัน บริเวณคลองบางกอกใหญ่จึงเรียกวัดใหม่นี้ว่า วัดมะกอกใน (ปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศ) แล้วเรียกชื่อวัดมะกอกเดิม หรือวัดอรุณฯ ว่า วัดมะกอกนอก

               ดังนั้นคำว่า ‘บางกอก’ ไม่ว่าจะเป็นชื่อย่าน หรือชื่อคลอง จึงควรเป็นการกร่อนคำมาจาก ‘บางมะกอก’ หมายถึง ย่านที่มีต้นมะกอกเยอะมากกว่า

               น่าสนใจว่าการขุดคลองลัดซึ่งต่อมาได้ขยายใหญ่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักในปัจจุบันได้ทำให้ย่านบางกอกใหญ่โต และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ว่า ‘ทณบุรี’ (ต่อมาคือ ธนบุรี) ดังปรากฏในกฎหมายพระไอยการอาชญาหลวง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2091-2111)

              การยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนี้แสดงให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นความสำคัญ และในกฎหมายฉบับที่ว่านี่เองที่ระบุตำแหน่ง ‘นายพระขนอนทณบุรี’ คือนายด่านเก็บภาษี คู่กับขนอนน้ำ ขนอนบกต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา หมายความว่า อยุธยาได้นับบางกอกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอำนาจรัฐของตนเอง จนถึงกับต้องตั้งเจ้าหน้าที่เก็บภาษีไปประจำอยู่ที่นั่น และจะค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนมีตำแหน่ง ‘เจ้าเมือง’ ในที่สุด

               ถึงแม้มีอำนาจรัฐเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า ‘ธนบุรี’ แล้ว แต่ชื่อ ‘บางกอก’ ก็ยังคงถูกใช้ควบคู่กันไป ดังหลักฐานในเอกสารที่มีชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม’ (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) ที่เขียนขึ้นโดย นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise)
นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2224-2229 ตรงกับ
สมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้มีข้อความระบุว่า

                “บางกอก (BANKOC)  เป็นสถานที่อันมีความสำคัญที่สุดแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย เพราะว่าในบรรดาเมืองท่าด้วยกันแล้วก็เป็นแห่งเดียวเท่านั้นที่พอจะป้องกันข้าศึกได้ ผังเมืองนั้นมีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง มีอาณาบริเวณไม่เกินครึ่งลี้ มีกำแพงกั้นเฉพาะทางด้านชายแม่น้ำใหญ่ ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกกับทิศใต้ เหนือจากปากอ่าวขึ้นมาประมาณ 12 ลี้ ตรงแหลมที่แม่น้ำแบ่งสายทางแยกนั้นมีพื้นที่เป็นรูปจันทร์ครึ่งซีก เป็นทำเลพอป้องกันได้ มีป้อมอยู่เพียงแห่งเดียว (หมายถึงป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นเรียกว่า ป้อมวิชเยนทร์-ผู้เขียน) มีปืนใหญ่หล่ออยู่ 24 กระบอก”

              ดังนั้นถึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ธนบุรี’ แต่ชาวต่างชาติก็ยังเรียกว่า ‘บางกอก’ ซึ่งก็คงจะเป็นด้วยผู้คนทั่วไปในพื้นที่ชุมชนเมืองบางกอกในสมัยนั้นที่ใช้ชื่อดั้งเดิมเป็นปกติ ฝรั่งและชนชาติอื่นๆ จึงได้เรียกตาม

              แน่นอนว่าภายหลังจากการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ใช้เมืองบางกอก หรือธนบุรีในภาษาทางการ เป็นราชธานีของพระองค์ ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่มี ‘ท่านนาค’ หรือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ต้นสกุล ณ บางช้าง เป็นพระชายาเอก ในท้ายที่สุดนอกจาก ‘สวนนอก’ และ ‘สวนใน’ คู่กันแล้ว ทั้ง ‘บางช้าง’ และ ‘บางกอก’ ก็ยังถูกกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้นด้วยประการฉะนี้

 

ภาพที่ 3: ภาพถ่ายเก่าผลไม้ต่างๆ ที่พบได้ในสวนทั้งฝั่งบางกอก และบางช้าง

แหล่งที่มาภาพจาก: เว็บไซต์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ

 

ภาพที่ 4: แม่ค้าเรือพายในลำคลองต่างๆ ที่เชื่อมโยงบางช้าง กับบางกอกเข้าด้วยกัน

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2512

แหล่งที่มาภาพจาก: : เว็บไซต์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ