Museum Core
ดนตรีกับสำนึกแห่งความเป็นชาติ
Museum Core
19 เม.ย. 66 979

ผู้เขียน : ด.ช.ณัฐปกรณ์ มานะเสถียรกิจ

               เมื่อเราพูดถึงดนตรี เราก็มักนึกถึงเสียงต่างๆ ที่ไพเราะ เสียงที่ทำให้เราจินตนาการไปถึงสิ่งต่างๆ เสียงที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดที่คีตกวีต้องการให้เรารับรู้ และที่สำคัญที่สุด ดนตรีช่วยยกระดับจิตใจและสุนทรียภาพของมนุษย์ ดังคำกล่าวของวิลเลียม เชกเสปียร์ (William Shakespeare) ที่ว่า:

              ชายผู้ใดมิมีดนตรีในใจ หรือมิได้เปี่ยมด้วยความปรองดองในเสียงอันผ่องแผ้ว เป็นผู้ชอบแล้วแก่การทรยศ การวางกลยุทธ์ที่แฝงด้วยเล่ห์เลี่ยม และการกระทำเพื่อการสูญสิ้นของสรรพสิ่งน้อยใหญ่ ทางเดินของจิตวิญญาณของผู้นั้นแห้งแล้งดั่งคืนรัตติกาล และความใคร่ของเขามืดมนเปรียบเช่นเทพเอเรบัส อย่าได้วางความมั่นหมายไว้ในหทัยของเขา จงเลือกเชื่อคนจากเสียงดนตรี

จาก “พ่อค้าแห่งเวนิซ” แปลโดยผู้เขียน


              “The man that hath no music in himself, nor is not moved with concord of sweet sounds, Is fit for treasons, stratagems, and spoils; The motions of his spirit are dull as night, And his affections dark as Erebus. Let no such man be trusted. Mark the music.”

William Shakespeare, The Merchant of Venice

 

                  ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าดนตรีมีความสำคัญต่อมนุษย์เพียงใด นอกจากความสำคัญที่มีผลต่อปัจเจกชนแล้ว ดนตรียังมีบทบาทและมีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์อย่างมากอีกด้วย ทั้งการที่ดนตรีเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนจำนวนมากๆ เป็นจิตวิญญาณของชาติ หรือที่สำคัญไปกว่านั้น ดนตรียังเป็นเครื่องมือของสถาบันชาติได้อีกด้วย

                 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีคีตกวีนามว่า ลุดวิค วาน เบโทเฟน (Ludwig Van Beethoven) เริ่มเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมของการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตโดยการขยายขนาดของวงออร์เครสตรา เช่น ในบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 มีการใช้ฮอร์นเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น (จาก 2 ชิ้นเป็น 3 ชิ้น) และการเริ่มใช้ “ดนตรีที่มีเรื่องเล่า” (Programmatic Music) ในเชิงที่เป็นดนตรีอิสระ ไม่ได้ใช้สำหรับประกอบละครหรือโอเปร่าดังเดิม อาทิ ซิมโฟนีหมายเลข 6 ของ เบโธเฟน ซึ่งสื่อความคิดของการท่องเที่ยวในชนบท ชมนกชมไม้ เป็นต้น

 

ภาพที่ 1: ลุดวิค วาน เบโทเฟน 

แหล่งที่มาภาพ: https://cdn.thecollector.com/wp-content/uploads/2022/01/beethoven-painting-lost-hearing.jpg

 

                นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแหกกฎวัฒนธรรมทางดนตรีที่มีมาอย่างยาวนาน   ในภายหลังแนวคิดนี้ได้รับการต่อยอดโดยคีตกวีในยุคต่อมาที่เริ่มมีอิสรภาพในการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากการเพิ่มขนาดของวงดนตรีออร์เครสตราอย่างรวดเร็วโดยการเพิ่มจำนวนของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง เนื่องจากผู้ประพันธ์เพลงสามารถเลือกเครื่องดนตรีที่ใช้ได้หลากหลายชนิดมากขึ้น (ในสมัยก่อนผู้ประพันธ์เพลงที่รับใช้ขุนนางต้องใช้เฉพาะเครื่องดนตรีที่มีในราชสำนักเท่านั้น) เช่น การเพิ่มแคลร์ริเน็ต ทรอมโบน ในวงดนตรี เป็นต้น และเริ่มมีการปรากฏตัวของแนวดนตรีท้องถิ่นผสมเข้ามาในดนตรีออร์เคสตราอย่างมากอีกด้วย

                หนึ่งในประเภทของดนตรีท้องถิ่นที่ทรงอิทธิพลมากต่อดนตรียุโรปในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นดนตรีของชนกลุ่มยิปซี (Gypsy) ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ยกตัวอย่างเช่นดนตรีของ โยเซฟ ไฮเดิน (Joseph Haydn) (ตัวไฮเดินเองเรียกดนตรีในแบบนี้ว่า “ดนตรีของพวกฮังกาเรียน”) นับตั้งแต่นั้นมาดนตรีพื้นถิ่นจากหลายกลุ่มชนก็ค่อย ๆ ทยอยเข้ามาแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมดนตรีซิมโฟนิก (Symphonic Literature) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

                ดนตรีที่มีผู้ให้ความสนใจอีกแบบหนึ่งคือดนตรีพื้นบ้านของฮังการี ซึ่งฟรานซ์ ลิสต์ (Franz Liszt) ได้นำทำนองพื้นบ้านมาประพันธ์ชุดเพลง Hungarian Rhapsodies ในระหว่างปีค.ศ. 1846 – 1853 ทำให้ผลงานที่ออกมานั้นมีกลิ่นอายของดนตรีฮังกาเรียนลอยคละคลุ้งจากบันไดเสียงฮังกาเรียนไมเนอร์ส่งผลให้ผลงานดังกล่าวโด่งดังอย่างมากไปทั่วโลก ต่อมาในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เราสามารถสังเกตถึงการแฝงภูมิปัญญาท้องถิ่นลงในวัฒนธรรมดนตรีซิมโฟนิกได้มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น บรามส์ (Brahms) คีตกวีชาวเยอรมันก็ได้เขียนชุดเพลง Hungarian Dances ด้วยเช่นกัน หรือ สเม็ทานา (Smetana) คีตกวีชาวเช็ก ก็ประพันธ์ชุดเพลง Má vlast หรือ “ปิตุภูมิของข้า” โดยนำสถานที่ที่สำคัญในแถบโบฮีเมีย เช่น แม่น้ำ Vltava มาแปรรูปเป็นบทเพลง หรือกลุ่มนักแต่งเพลงรัสเซียเดอะ ไฟฟ์ (Moguchaya Kuchka) ที่พยายามพัฒนาแนวคิด “ดนตรีรัสเซีย” จากภูมิปัญญาและสภาพสังคมชาวรัสเซียที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาเป็นเวลานาน

 

ตัวอย่างบทเพลง Hungarian Dance No.5 in G Minor โดย Johannes Brahms

 

                        ภาพที่ 2: สเม็ทานากับแม่น้ำ Vltava  หนึ่งในแรงบันดาลใจของ Ma vlast

แหล่งที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/60/Smetana.jpg

https://www.corinthia.com/media/3993/vltava-river-czech-republic_credit-istock_kimmicranes.jpg?anchor=center&mode=crop&width=1600&height=644&rnd=132103603100000000

 

 

 

 

ตัวอย่างบทเพลง Ma Vlast 

 

               เราสามารถสังเกตจุดที่เหมือนกันของพฤติการณ์ที่กล่าวมานี้ได้อย่างหนึ่ง คือ ดนตรีเหล่านี้ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่รัฐชาติที่มีอำนาจปกครองดินแดนในแถบนั้น แต่อุทิศให้ชนชาติต่างๆ ที่คีตกวีต้องการสื่อความหมายถึง เช่น สเม็ทานาไม่ได้ประพันธ์ชุดเพลงเพื่อเพ้อถึงความมั่นคงของรัฐบาลออสเตรีย-ฮังการี หรือความยิ่งใหญ่ของไกเซอร์ ฟรานซ์ โจเซฟ (จักรพรรดิของออสเตรีย-ฮังการี) ซึ่งเป็นผู้ปกครองดินแดนเช็กที่เขาอาศัยอยู่ แต่เขาประพันธ์เพลงที่สื่อถึงวัฒนธรรมและวิถีของคนเชื้อชาติโบฮีเมียเท่านั้น

               ปัญหาความสัมพันธ์ของรัฐชาติและชนชาติได้เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติ (หรือพยายามปฏิวัติ)ในช่วงปีค.ศ. 1848 ซึ่งนอกจากประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแล้ว แต่ละชนชาติยังออกมาเรียกร้องขอเอกราชจากรัฐชาติอีกด้วย เช่น ฮังการีที่ขอแยกตัวจากจักรวรรดิออสเตรีย หรือการพยายามรวมชาติของคนเยอรมันที่อยู่ในหลายรัฐเล็กๆ ถึงแม้ว่าการปฏิวัติครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการเรียกร้องอิสรภาพ แต่กลับปลุกระดมความคิดเกี่ยวกับ “ชนชาติ” ขึ้นมา นอกจากนี้ประชาชนในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็สามารถศึกษาและเข้าใจกันและกันอย่างรวดเร็วขึ้นจากอิทธิพลของโทรเลข กล้องถ่ายรูป หนังสือพิมพ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในสมัยนั้น แน่นอนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต้องการปลดแอกตนเองก็พยายามสื่อสารออกมาสู่โลกภายนอกในรูปแบบต่างๆ เช่น วรรณกรรม ผลงานศิลปะ และดนตรี โดยชนชาติดังกล่าวก็ตั้งความหวังว่า ผลงานที่ถูกผลิตออกมานั้นจะสามารถเรียกร้องความสนใจในระดับนานาชาติ ทำให้รัฐชาติหรือประเทศอื่นๆ เข้ามาช่วยในการปลดแอกหรืออย่างน้อยก็ให้การยอมรับ (เช่น การที่บรามส์ คีตกวีชาวเยอรมัน หันมาให้ความสนใจในดนตรีพื้นบ้านฮังการี และแต่งชุดเพลง Hungarian Dances ขึ้น) นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในยุคสมัยดังกล่าวก็คือ กระบวนการสื่อสารต่างๆ เหล่านั้นได้ช่วยเผยแพร่หลักการแนวคิดปลดแอกไปยังบริเวณต่างๆ ที่ชนชาติดังกล่าวตั้งหลักปักฐานอยู่ และช่วยปลุกใจคนในชาติของตนให้ฮึกเหิมอีกด้วย 

                ดังที่กล่าวในบทความข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าดนตรีนั้นสามารถสร้างอิทธิพลและเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกร่วมกันของคนเชื้อชาติเดียวกันโดยไม่ได้ยึดโยงกับรัฐชาติหรือรัฐบาลที่เป็นผู้ปกครองพื้นที่หรือดินแดนในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วในทางกลับกัน ดนตรีเองก็อาจสามารถได้ผลกระทบ หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิจกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ดนตรีนีโอโปลิตัน หรือดนตรีของเนเปิลส์ ซึ่งเป็นชนชาติที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ภายหลังกลับถูกสร้างความรับรู้ของคนทั้งโลกว่าเป็น “ดนตรีอิตาลี” จากกระบวนการการสร้างอิตาเลี่ยนภายหลังการสร้างประเทศอิตาลีที่นำโดยราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ในช่วงปีค.ศ. 1848-1870 เป็นต้นมา

 

ภาพที่ 3: “O sole mio” เพลงนีโอโปลีตันที่มีชื่อเสียง

แหล่งที่มาภาพ:  https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2e/O_sole_mio_1st_edition_cover.jpg

 

               ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกอีกด้วย เพราะความคิดแบบรัฐชาตินิยมนั้น ชนชาติที่มีอำนาจที่สุดภายในรัฐนั้นย่อมต้องพยายามบังคับให้ชนชาติอื่นรับวัฒนธรรมของชนชาติตน รัฐและชาติจึงจะสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ แน่นอนว่าหนึ่งในวัฒนธรรมที่โดนกลมกลืนไปกับความคิดนี้ก็คือดนตรี ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงว่าดนตรีมีความสัมพันธ์ (และสำคัญ) กับชาติอย่างไร

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Hobswam, Eric. The Age of Capital:1848-1875. London: Abacus, 1997.

Melissa, Albert. Bedrich Smetana. (2023). [Online]. Accessed 2023 Apr 7. Available from: Bedřich Smetana | Bohemian composer | Britannica

Nirala, Satyavrat. The Five. (2015). [Online]. Accessed 2023 Apr 7. Available from: The Five | Russian composers | Britannica

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ