Muse Around The World
‘ศิลปะที่รู้สึก’: ประสบการณ์คนอพยพในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
Muse Around The World
08 พ.ค. 66 1K
Tucson Museum of Art and Historic Block, the States; Van Gogh Museum, the Netherlands

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • ในหลายทศวรรษนี้ พิพิธภัณฑ์จำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม (social change agent) มากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายในสังคม
  • มโนทัศน์ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันหรือ inclusion เป็นฐานคิดที่พิพิธภัณฑ์ใช้ในการออกแบบนิทรรศการและกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
  • กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตรทูซอน สหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ เนเธอร์แลนด์ สะท้อนให้เห็นแนวทางการตีความและการวางแผนการทำงาน ที่พิพิธภัณฑ์มีบทบาทในการผลักดันการอยู่ร่วมกันในสังคม (inclusive museum) อย่างเป็นรูปธรรม

In Content

ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาแผนงานและกิจกรรมให้ตอบโจทย์
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงคือการเคลื่อนย้ายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพลี้ภัยสงคราม หรือการย้ายถิ่นฐานมาแสวงหาโอกาสทำกินในดินแดนใหม่

สำหรับหลายคน การชมผลงานศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะคงเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นกิจกรรมในวันหยุด
สุดสัปดาห์กับสมาชิกในครอบครัว ทั้งรูปทรง สีสัน วัสดุ และเทคนิคในผลงานศิลปกรรมสร้างความรู้สึก
และแรงบันดาลใจบางอย่างให้กับ “ผู้เสพศิลป์” แต่สำหรับผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น หรือลูกหลานของครอบครัว
อพยพนั้น การใช้เวลาเพื่อเสพศิลป์หรือหาประสบการณ์ที่รื่นรมย์ให้กับตนเอง กลายเป็นเรื่องไกลตัวหรือนอกเหนือวิสัย

คำถามคือ พิพิธภัณฑ์จะออกแบบการทำงานของตนอย่างไร ให้กลุ่มคนนั้นมาใช้ประโยชน์หรือตอบสนองความสนใจของคนเหล่านั้น จุดหมายในเบื้องปลายคือการชมนิทรรศการศิลปะและการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์กลายเป็นสิ่งสามัญสำหรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

ผู้เขียนชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์ศิลปะสองแห่ง แห่งแรกพิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตร์
ทูซอน (Tucson Museum of Art and Historic Block) มลรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ (Van Gogh Museum) อัมสเตอร์ดัม เนเธอแลนด์ นครหลวง
แห่งนี้มีประชากรที่มีภูมิหลังเป็นคนอพยพในรุ่นบุกเบิกและรุ่นลูกหลานสูงถึงร้อยละ 50 ของพลเมือง

พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งพัฒนาแนวทางในการสร้างนิทรรศการและกิจกรรมเสริมศึกษา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ที่เป็นครอบครัวคนอพยพ ในส่วนสุดท้าย ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน (inclusive museum)

ศิลปะโดยประชาชน

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตร์ทูซอน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1924 โดยสมาคมจิตรกรรมทูซอน (Tuscon Fine Arts) ในเรือนคิเงิน (Kingan House) ในย่านประวัติศาสตร์อัลเพรสซิดิโอ (El Presidio) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ศิลปะทูซอน ค.ศ. 1954 โดยมีพันธกิจในการจัดแสดงนิทรรศการและศิลปศึกษา จากนั้น ค.ศ. 1975 จึงย้ายมายังสถานที่ตั้งปัจจุบันบนถนนนอร์ธเมน ประกอบด้วยอาคาร 5 หลังและที่ดินที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ปรับเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะทูซอน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตร์ทูซอนในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อนำเสนอและถ่ายทอด
เรื่องราวศิลปะละตินอเมริกา อเมริกาตะวันตก ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย และศิลปะเอเชีย รวมถึงกิจกรรมที่สนับสนุนการเรียนรู้และใช้ประโยน์ศิลปะในกิจวัตรประจำวันและการดำเนินชีวิต

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2010 พิพิธภัณฑ์กำหนดให้อุดมการณ์ในการทำงานว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเข้าถึง (Inclusion, Diversity, Equity and Access: IDEA) เป็นโจทย์หลักของพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 พิพิธภัณฑ์พัฒนาการจัดแสดงผลงานศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น ในทศวรรษต่อมา มีการพัฒนางานศิลปศึกษาสำหรับกลุ่มผู้ป่วย และทศวรรษ 2000 มีกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างเสริมความทรงจำให้กับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ในสหรัฐฯ มีผู้อพยพเพิ่มจำนวนอย่างมาก ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 2020 ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุจำนวนผู้อพยะสูงถึง 3.4 ล้านคน ในทศวรรษ 2010 นี้เอง พิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตร์ทูซอนเริ่มพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรที่ดูแลและสนับสนุนการปรับตัวของผู้อพยพอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อไม่ให้ผู้อพยพรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก รวมถึงการใช้ประโยชน์ศิลปะในการพัฒนาทักษะภาษา และทำงานร่วมกับชุมชนผู้ลี้ภัยและคนอพยพ

พิพิธภัณฑ์ใช้แนวคิดของการเป็นแหล่งพักพิง (Museum as Sanctuary: MaS) ในการทำงาน นั่นคือแนวคิดที่ใช้กระบวนการและชุดประสบการณ์ของผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน โดยรับฟังความคิดเห็นและลงมือทำงานร่วมกัน เช่น การจัดนิทรรศการ การสร้างงานศิลปะ ด้วยแนวทางเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ให้ความเคารพกับความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่าง

ผู้ร่วมโครงการแลกเปลี่ยนมุมมองในผลงานศิลปกรรมที่จัดแสดงในนิทรรศการกับนักการศึกษา ร่วมอภิปรายถึงความหมายของการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ กิจกรรมดังกล่าวชวนให้ผู้อพยพนั้นสะท้อนย้อนคิดถึงประสบการณ์ส่วนบุคคลและถ่ายทอดสู่วงสนทนา ดังเช่นหญิงผู้ลี้ภัยสงครามจากบ้านเกิดเห็นภาพของตนเอง ในผลงานชื่อ Four Women ของฟรานซิสโก ซุนเกีย ศิลปินกัวเตมาลา เธอกล่าวถึงมรดกอารยธรรมมายัน ที่เธอรู้สึกร่วมกับผลงานศิลปกรรมดังกล่าว

ภาพที่ 1 นิทรรศการที่แสดงผลงานของผู้ร่วมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและย่านประวัติศาสตร์ทูซอนในรูปแบบของแกลลอรีที่ฉายภาพความหลากหลายของมุมมองในศิลปะ มิใช่การเล่าเรื่องตามขนบแบบประวัติศาสตร์ศิลป์
(ภาพจาก Pegno, M. (2021). Engaging refugee audiences through process and performance in multivocal, community-based programs. In Engaging communities through civic engagement in art museum education (p. 32). IGI Global.
ISBN 9781799874263. https://doi.org/10.4018/978-1-7998-7426-3.ch001)

จากนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนสร้างชิ้นงานเพื่อฉายภาพของตน ผลงานศิลปะเหล่านั้นสามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ดังเช่นผลงานของผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งนามว่านูรา เธอเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ทูซอน ค.ศ. 2013 และเขียนภาพของตนเองในลักษณะของเด็กน้อย โดยมีคำอธิบายว่า “หญิงสาวแสนสุข” จากนั้น ค.ศ. 2015 เธอนำเสนอผลงานด้วยเสื้อผ้าที่เธอตัดเย็บจากชั้นเรียนในวิทยาลัยชุมชน ผลงานปรับเปลี่ยนจากภาพที่ลอกเลียนธรรมชาติ สู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีรูปแบบเชิงอุปลักษณ์ ที่เปรียบเทียบตนเองกับสิ่งอื่น ผลงานทั้งสองชิ้นสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ในการปรับตัวทางสังคม

อีกตัวอย่างหนึ่งเรียกว่า ป้ายคำบรรยายผลงานที่เกิดจากเสียงของชุมชนหรือ community voice label ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มร่วมกันตีความและร้อยเรียงคำอธิบายผลงานศิลปกรรมที่อยู่เบื้องหน้า โดยมีคำถามให้สมาชิก
ร่วมอภิปราย เช่นผลงานดังกล่าวดูเหมือนอะไร เรื่องราวในผลงานกำลังบอกอะไร คิดเห็นอย่างไรเมื่อแรกเห็นผลงาน เป็นต้น จากนั้น จึงหมุนเวียนกันเขียนคำอธิบายผลงานโดยมีข้อกำหนดให้กลุ่มต่อไปนำคำสุดท้ายของกลุ่มแรกมาใช้ขึ้นต้นประโยค

 

เช้านี้แก่งเงียบสงัด ภาพเขียนสร้างสุขและใจสงบ
อาทิตย์อัสดงเหนือผิวน้ำ ดูงามงดด้วยสีสันละลานตา
เงาภูผาสะท้อนทาบธารน้ำประหนึ่งเส้นขอบฟ้า
เบื้องล่างมีสัตว์น้อยใหญ่และปลาว่ายเวียน (แต่กลับมองไม่เห็น)
เบื้องบนคือฝูงนกที่กำลังโผผิน ยามนั้นน้ำไหลเอื่อย
ท่ามกลางธารน้ำและฝูงนกในท้องฟ้า เรานั้นมีความสุขในจิตใจ

 

คำบรรยายผลงานเกิดขึ้นจากการพรรณนาสิ่งที่เห็นและถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนบุคคล ในหลายกรณี ผู้ร่วมกิจกรรมไม่เขียนคำบรรยายตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้ และผู้ร่วมกิจกรรมในลำดับต่อมา พยายามแก้ไขด้วยการ “เล่นคำ” ที่ล้อไปกับประโยคที่อยู่ก่อนหน้า ในจังหวะของกิจกรรม ผู้ร่วมโครงการทำหน้าที่สลับไปมา ระหว่างผู้เรียนรู้กับผู้พัฒนาเนื้อหา การรับฟังความคิดเห็นนานาในกระบวนการนี้เรียกได้ว่าเป็นการเขียนอย่างสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้ระหว่างกัน 

ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ผู้ชมจึงเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ร่วมสร้าง กล่าวจนถึงที่สุด ความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปเกิดด้วยอุบายในการใช้ประโยชน์จากศิลปะและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์

ศิลปะเพื่อประชาชน

พิพิธภัณฑ์แวนโกะห์รวบรวมผลงานวินเซนต์ แวนโกะห์ ศิลปินเชื้อสายดัชต์ผู้เลื่องชื่อในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้ศิลปะในการจรรโลงจิตใจของปัจเจกบุคคลและสังคม ตามปณิธานของพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1973 พิพิธภัณฑ์เพียรพยายามในการแลกเปลี่ยนความรู้ และใช้ประโยชน์จากผลงานศิลปกรรมในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มสังคมต่าง ๆ อาทิ กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย และผู้ที่มีข้อจำกัดทั้งกายภาพและหรือสติปัญญา

ในระยะหลายสิบปีนี้ สังคมอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ รองรับผู้อพยพจำนวนมากที่โยกย้ายถิ่นที่อยู่จากบ้านเกิด และมาตั้งรกรากในนครหลวงแห่งนี้ พิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ตระหนักถึงสัดส่วนคนอพยพที่จำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น คนเชื้อสายซูรีนัม แอนทิลลิส โมรอคโค เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์จึงพัฒนาแผนงานที่เรียกว่า แวนโกะห์คอนเน็กต์ (Van Gogh Connect) ตั้งแต่ ค.ศ. 2017 แผนงานดังกล่าวเน้นการทำงานอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มเยาวชนในอัมสเตอร์ดัมที่เป็นคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่ตะวันตก เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์ศิลปะในชีวิตและจรรโลงจิตใจ

รูปแบบของการทำงาน คือการพัฒนากลุ่มแกนนำ (think tank) ที่มีสัดส่วนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน การสื่อสารการตลาด แผนงานกิจกรรม และงานบริการ กิจกรรมที่จัดอย่างต่อเนื่องจำนวนถึง 40 ครั้ง ปรับเปลี่ยนประเด็นในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการกับกลุ่มเยาวชน ประกอบด้วย

  • กิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาตนเอง (อัตลักษณ์ อาชีพ)
  • การลงมือปฏิบัติหรือเป็นการร่วมมือแบบเชิงรุก (แฟชั่น เต้นรำ ดนตรี และการพูดในที่สาธารณะ)
  • การร่วมมือแบบตั้งรับ (การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์)

ในกิจกรรมแต่ละครั้ง มีการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อสำรวจรูปแบบความสนใจและผลกระทบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคล

ในการสำรวจ มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเยาวชนที่มีเชื้อสาย “ดั้งเดิม” กับกลุ่มลูกหลานคนอพยพเพื่อทำความเข้าใจถึงปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและผลกระทบจากการเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ตระหนักถึงข้อจำกัดในการวัดความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคล เมื่อพิจารณาจากการเข้าร่วมกิจกรรมเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง กระนั้นข้อมูลจากการสำรวจช่วยสำหรับการวางแผนในอนาคต

ตัวชี้วัดในแบบสำรวจ ประกอบด้วยคุณภาพชีวิต ทักษะ แรงบันดาลใจ ความแน่นแฟ้นทางสังคม ความรู้สึก สำนึกในการอยู่ร่วมกัน ความรุนแรง การใช้เวลาว่าง ความเข้าใจในวัฒนธรรมอื่น ความเชื่อมั่นในตนเอง ประสบการณ์ใหม่ เครือข่าย และความสัมพันธ์ 

การศึกษาส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ตระหนักถึงรูปแบบการพัฒนากิจกรรมที่ตอบโจทย์ความสนใจที่แตกต่างกัน เยาวชนจากครอบครัวคนอพยพให้ความสนใจในกิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติ เช่น ดนตรี ร้องเพลง การแสดง มากกว่ากิจกรรมที่เน้นข้อมูล และความสนใจนี้มีสัดส่วนที่สูงกว่าในกลุ่มเยาวชนที่มีเชื้อสายตะวันตก

ส่วนความเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรม วัยรุ่นที่มีเชื้อสายอพยพระบุในการสำรวจครั้งที่ 2 ถึงเหตุผลในการมาพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ ความต้องการในการหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ แตกต่างจากเหตุผลในการสำรวจครั้งแรก ที่มาพิพิธภัณฑ์เพื่อออกห่างจากกิจวัตรประจำวัน หรือหาความเพลิดเพลิน

แวนโกะห์คอนเน็กซ์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี กิจกรรมในแผนงานเปิดโอกาสให้พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ประเภทความสนใจของเยาวชน และอิทธิพลของครอบครัวและการศึกษาที่ส่งผลต่อความต้องการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ นับเป็นวิธีการเรียนรู้สาธารณชนโดยอาศัยทั้งปฏิบัติการและการเก็บข้อมูล มิใช่เพียงการคำนวณค่าความพึงพอใจเมื่อรับบริการของพิพิธภัณฑ์

ข้อมูลนี้ทำให้พิพิธภัณฑ์เข้าใจความต้องการของสาธารณชนที่แตกต่างกัน และออกแบบกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจเหล่านั้น รวมถึงความเชื่อมโยงสาระทางศิลปะด้วยมิติอื่น ๆ เช่น ชีวิตของศิลปิน มากขึ้น นอกเหนือจากสุนทรียศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ศิลปะ

แม้แวนโกะห์คอนเน็กซ์ฉายภาพผลลัพธ์เชิงบวกในการทำงาน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนำชมครั้งหนึ่ง กลับสร้างความรู้สึกแปลกแยกในกลุ่มเยาวชนที่มีเชื้อสายคนอพยพ ผู้เข้าชมวัยรุ่นเชื้อสายตะวันตกเดินเข้ามาหามัคคุเทศก์และกล่าวยินดีที่พิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ได้ให้ความรู้กับกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ดีแล้วที่ให้ความรู้กับพวกที่ไม่รู้ประสาเหล่านี้”

เหตุการณ์นี้สร้างความรู้สึกเชิงลบกับเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม และกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ที่ทางสำหรับพวกตน เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่พิพิธภัณฑ์ต้องทำงานกับกลุ่มอื่น ๆ ให้มากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคทางสังคมในการอยู่ร่วมกัน

ศิลปะของประชาชน

จากตัวอย่างการทำงานข้างต้นเผยให้เห็นวิธีการในการตีความการอยู่ร่วมกันทางสังคมและการยอมรับ
ความหลากหลาย พิพิธภัณฑ์สามารถเปิดโอกาสให้กับมุมมองที่แตกต่าง ดังเช่นการตีความและการนิยามความงามที่แตกต่าง ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสของสาธารณชนในการร่วมกิจกรรม และแบ่งปันอำนาจอันเกิดขึ้นจากโครงสร้างเชิงสถาบันของพิพิธภัณฑ์

ด้วยการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มีภูมิหลังทางสังคมที่แตกต่างกัน พิพิธภัณฑ์ได้เรียนรู้รสนิยมและความพึงพอใจของสาธารณชน ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้การออกแบบกิจกรรมมีเสน่ห์ และสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างพื้นที่ที่ช่วยสานสนทนากับกลุ่มคนนานาประเภท เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันของสังคมอย่างแท้จริง.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Pegno, Marianna. 2020. “Engaging Refugee Audiences Through Process and Performance in Multivocal, Community-Based Programs.” In Engaging Communities Through Civic Engagement in Art Museum Education, edited by Bryna Bobick and Carissa DiCindio, 1–32. IGI Global. https://doi.org/10.4018/978-1-7998-7426-3.ch001.

Pegno, Marianna, and Christine Brindza. 2021. “Redefining Curatorial Leadership and Activating Community Expertise to Build Equitable and Inclusive Art Museums.” Curator: The Museum Journal 64 (2): 343–62. https://doi.org/10.1111/cura.12422.

Tucson Musuem of Art and Historic Block. n.d. “A Commitment to Inclusion, Diversity, Equity and Access.” Cultural Instituion and Education. Tucson Museum of Art and Historic Block.

Vermeulen, Marjelle, Filip Vermeylen, Karen Maas, Marthe De Vet, and Martin Van Engel. 2019. “Measuring Inclusion in Museums: A Case Study on Cultural Engagement with Young People with a Migrant Background in Amsterdam.” The International Journal of the Inclusive Museum 12 (2): 1–26. https://doi.org/10.18848/1835-2014/CGP/v12i02/1-26.

Photo Credit

ภาพปก ภาพจาก https://www.tucsonmuseumofart.org/

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ