Museum Forum 2015
การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ เรื่อง พิ(ศ)พิธภัณฑ์ Museum Refocused
Museum Forum 2015
01 ธ.ค. 58 3K

ผู้เขียน : Administrator

การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ เรื่อง พิ(ศ)พิธภัณฑ์  Museum Refocused

 

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปาฟา) จัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ เรื่อง พิ(ศ)พิธภัณฑ์ Museum Refocused

 

หลักการและเหตุผล
พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันที่ถือกำเนิดในสังคมไทยมาร่วมร้อยปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้เห็นพิพิธภัณฑ์ในหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล พิพิธภัณฑ์ในวัด พิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ปรากฏตัวในหลายชื่อ เป็นต้นว่าหอศิลป์ฯ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ คำต่างๆ ที่ใช้เรียกล้วนสะท้อนการให้ค่าว่าสถาบันประเภทนี้เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่สังคม


เส้นทางของพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยโจทย์มากมาย นับแต่ การอนุรักษ์วัตถุ การจัดแสดง การเล่าเรื่อง การสื่อสารกับผู้ชม การให้การศึกษา สถานภาพทางกฎหมาย ทุนทรัพย์และการอยู่รอด การให้บริการแก่ผู้ชม ฯลฯ คำถามชุดนี้เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่กับแวดวงคนทำและคนศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระนั้นก็ตาม พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ความเป็นไปของพิพิธภัณฑ์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริบทอื่นๆเสมอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วัฒนธรรม โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบัน โลกาภิวัตน์และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ขับเน้นให้ความเป็นพหุวัฒนธรรมเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งในแง่กลุ่มชนที่หลากหลายขึ้นจากการเคลื่อนย้ายของประชากร การเกิด “ชุมชน” ที่ไม่ติดกับพื้นที่ การปะทะ รับ เลือก ความรู้ที่ทะลักข้ามเส้นพรมแดนกายภาพ


ในแง่นี้ วิชาความรู้ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันขยายออกจากโบราณคดี มาเป็นสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การจัดการ ฯลฯ จะตอบสนองและรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร เพื่อยังคงความเป็นองค์กรทางวัฒนธรรม และการศึกษาทางเลือกแก่สาธารณชน เป็นไปได้หรือไม่ที่พิพิธภัณฑ์ในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรม ต้องคิดถึงโจทย์ที่กว้างขวางไปกว่าโจทย์เดิมที่เคยถกเถียงกันมา เป็นต้นว่า พิพิธภัณฑ์จะปรับตัวอย่างไรในโลกยุคดิจิทัล พิพิธภัณฑ์จะให้การศึกษาอะไร และอย่างไรในยุคของสังคมพหุวัฒนธรรม ชุมชนเป็นใครได้บ้างและพิพิธภัณฑ์จะสัมพันธ์กับชุมชนในหลากลักษณะอย่างไร พิพิธภัณฑ์จะจัดการอย่างไรกับวัตถุทางวัฒนธรรมที่บางกลุ่มชนถือเป็น “มรดก”ของกลุ่มชน พิพิธภัณฑ์จะมีส่วนเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้อย่างไร ใครคือ “เจ้าของ”พิพิธภัณฑ์กันบ้าง ฯลฯ กล่าวโดยรวบรัด โจทย์ที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์ในอนาคตอันใกล้ น่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์กับสังคม

 

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นการระดมความคิด ความรู้ และบทเรียนจากนักวิชาการ นักศึกษา ทั้งด้านพิพิธภัณฑ์และสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ โดยจะเปิดกว้างเพื่อสำรวจความเป็นไปของพิพิธภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 2 หมวดหลัก หมวดแรกคือ สำรวจประเด็น ข้อถกเถียง การทำงาน ปฏิบัติการภายในพิพิธภัณฑ์และหมวดที่สอง คือ สำรวจบทบาททางสังคมของพิพิธภัณฑ์ ว่าในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์มีบทบาทอย่างไรต่อสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อประมวลภาพของพิพิธภัณฑ์ในฐานะองค์กรทางวัฒนธรรมให้เด่นชัดขึ้น และอาจจะนำไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับสังคมในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

วัตถุประสงค์
1. เพื่อทบทวนและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
2. เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านพิพิธภัณฑ์ ระหว่างนักวิชาการและ นักปฏิบัติการจากหลากสาขา
3. เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้เครือข่ายสถาบันวิชาการและนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์
2. หนังสือรวมบทความจากการประชุม
3. สังคมไทยมีความเข้าใจในบทบาทและคุณค่าทางสังคมของพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ