ประวัติศาสตร์พื้นที่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์
สนามไชย ถนนสายแรกๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์
ประวัติศาสตร์พื้นที่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์
12 พ.ย. 67 83

ผู้เขียน : ศราวัณ วินทุพราหมณกุล

               ถนนสนามไชย เป็นถนนสายแรกๆ ในที่พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และเป็นถนนสายสำคัญตั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ถนนเส้นนี้ที่ตัดเลียบกำแพงพระบรมมหาราชวัง ฝั่งทิศตะวันออก โดยมีจุดเริ่มต้นที่ถนนหน้าพระลานตัดกับถนนราชดำเนินในที่บริเวณแยกป้อมเผด็จ สิ้นสุดลงที่ถนนราชินีบริเวณปากคลองตลาด มีความยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร  ลักษณะของถนนในช่วงเริ่มแรกคาดว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำการปรับผิวดินให้เรียบสามารถใช้สัญจรได้ ต่อมาจึงมีการปูอิฐและโรยกรวด

               เมื่อแรกสถาปนากรุงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้นำธรรมเนียมแบบแผนกรุงศรีอยุธยามาใช้เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลของเมือง ทรงกำหนดพื้นที่ตั้งศูนย์กลางการบริหารราชการและศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง ตำแหน่งวังและวัดสำคัญ และลานพื้นที่สำคัญเพื่อประกอบพระราชพิธีหรือพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถอดแบบมาจากกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น

               ลานสำคัญที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญในราชธานีใหม่ มีอยู่ 2 ลาน คือลานทุ่งพระเมรุ และลานจักรวรรดิวังหลวง ลานทั้ง 2 ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจนในการใช้งาน ลานทุ่งพระเมรุนั้นใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพและเป็นที่ตั้งของพระเมรุมาศ ส่วนอีกลานหนึ่งตั้งอยู่บริเวณพลับพลาสูงเรียกชื่อลานนี้ว่า ลานจักรวรรดิวังหลวง ตามชื่อเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยา

               ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีการปรับปรุงพลาพลับสูงให้เป็นพระที่นั่งมียอดปราสาทจึงเปลี่ยนชื่อเรียกลานจักรวรรดิวังหลวงเป็นลานพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ตามชื่อพระที่นั่งที่ปรับปรุงใหม่ ลานนี้ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประทับสำหรับเพื่อพระราชทานสิ่งของแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร ตลอดจนประชาชนใช้สำหรับเข้าฝ้า ลานนี้ยังใช้ในการฝึกทหาร สวนสนาม กระบวนแห่ต่างๆ จนถึงในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดพระราชทานชื่อ "สนามหลวง" ใช้แทนการเรียกทุ่งพระเมรุ และในคราวเดียวกันนั้นทรงพระราชทานชื่อ "สนามไชย" เพื่อใช้แทนการเรียกลานพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ถนนที่ผ่านลานสนามไชยจึงได้ใช้ชื่อสนามไชยตามลานนี้ไปด้วย

                ปัจจุบัน ถนนสนามไชยยังคงทำหน้าที่เป็นถนนสายสำคัญที่ใช้ในการสัญจร และถนนเส้นนี้ยังถูกใช้เป็นเส้นทางหลักในการประกอบพระราชพิธีสำคัญอีกด้วย รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญเมื่อครั้งสร้างกรุงใหม่ เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โรงเรียนราชบพิตร กระทรวงกลาโหม กรมหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และมิวเซียมสยาม 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ