Fun Facts on Muse
สัมผัสอดีตของเหมืองดีบุกในมาเลเซียที่ Han Chin Pet Soo
Fun Facts on Muse
10 ต.ค. 67 234

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุก Han Chin Pet Soo ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าของอีโปะฮ์ รัฐเประก์ ประเทศมาเลเซีย อาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำคินตาของเมือง เดิมทีอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นชมรมของคนงานเหมืองชาวจีนแคะเมื่อ ค.ศ. 1893 ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่เก็บรักษาประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ นามอาคาร “Han Chin Pet Soo” (闲真别墅) ในภาษาจีน มาจากคำว่า "Han Chin" (闲真) หมายถึง "ความสงบและความจริงแท้" สะท้อนถึงคุณค่าภายใน ส่วน "Pet Soo" (别墅) หมายถึง "วิลล่า" หรือ "คฤหาสน์" ซึ่งสะท้อนการเป็นสถานที่สำหรับการสมาคมของคนงานเหมืองที่มารวมตัวเพื่อพบปะและพักผ่อนหย่อนใจ

ภาพ 1 อาคารของพิพิธภัณฑ์ Han Chin Pet Soo ที่ได้รับการบูรณะ เป็นสัญลักษณ์ของยุคเหมืองแร่ดีบุก
(ภาพจาก https://scontent-bkk1-2.xx.fbcdn.net/v/t39.30808-6/412932019_945926447041648_6268656755307358607_n.jpg?_nc_cat=102&ccb=1-7&_nc_sid=6ee11a&_nc_ohc=emN1AUccbDIQ7kNvgFzFA1E&_nc_ht=scontent-bkk1-2.xx&_nc_gid=ANWTD5sQOFbnm11Y7-frz80&oh=00_AYB383Zy_oGAXlFvKryUvaul6jkIsLI0gp-7CeqAGWi3jg&oe=670C0664)

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกในมาเลเซียโดยเฉพาะหุบเขาคินตา เคยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกของประเทศ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งแร่ดีบุก หุบเขานี้จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย และดึงดูดชาวจีนแคะจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงงานและตั้งถิ่นฐาน อุตสาหกรรมดีบุกเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ต่อมาในทศวรรษ 1980 เมื่อความต้องการแร่ดีบุกทั่วโลกลดลงอย่างมาก ด้วยความเคลื่อนไหวในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และทรัพยากรธรรมชาติที่ลดจำนวนลงอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่หมดบทบาทอย่างสิ้นเชิง Han Chin Pet Soo จึงเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเล่ายุคเศรษฐกิจเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภาพ 2 ครัวและห้องอาหารที่ได้รับการบูรณะ ให้มุมมองของชีวิตในสมาคมในช่วงทศวรรษ 1920
(ภาพจากhttps://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d8/HCPS_Dining_hall.jpg)

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2015 ภายในพิพิธภัณฑ์ มีการจัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ และฉากจำลองที่สะท้อนถึงชีวิตในอีโปะฮ์ช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ยุคสมัยที่กิจการเหมืองแร่เฟื่องฟู พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวด้วยการเดินทางผ่านกาลเวลา ชั้นล่างนำเสนอกระบวนการทำเหมืองดีบุกที่ซับซ้อน พร้อมด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการทำเหมืองแร่แบบดั้งเดิมและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์จากทศวรรษ 1940 ทำให้ผู้ชมเห็นความเหน็ดเหนื่อยของคนงานเหมือง เมื่อขึ้นไปที่ชั้นสอง ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวจีนแคะ ซึ่งเคยถูกขนานนามว่า "ชาวยิวแห่งเอเชีย" เนื่องจากความขยันขันแข็ง ในโถงรับแขกมีฉากกิจกรรมสันทนาการที่เคยเกิดขึ้นในสมาคม เช่น การเล่นไพ่นกกระจอ ส่วนห้องครัวที่ได้รับการบูรณะใหม่ฉายภาพการทำอาหารในทศวรรษ 1920 ดังเช่นเตาฟืนที่มีความสำคัญในการหุงหาอาหารของคนงานเหมือง

ภาพ 3 ฉากจำลองการทำเหมืองและกุลีที่ใช้แรงงานในเหมือง
(ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/07/HCPS_coolie.jpg)

หนึ่งในจุดจัดแสดงที่ผู้มาเยือน Han Chin Pet Soo จะได้สัมผัสกับภาพอดีตของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ คือจิตรกรรมฝาผนังจำลองสภาพของเหมืองพร้อมด้วยเครื่องขุดแร่ดีบุก ฉากดังกล่าวนำพาผู้ชมไปเรียนรู้ชีวิตของคนงานเหมืองและให้รายละเอียดของการใช้หัวฉีดน้ำและเลียงที่ใช้ร่อนแร่ด้วยแรงงานคน ทำให้เป็นจุดถ่ายภาพที่นักท่องเที่ยวบันทึกความทรงจำในการ “ย้อนไปในกาลเวลา” และการมาเยือนพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ของอิโปะฮ์

อ้างอิง

https://www.theislanddrum.com/7-unique-museums-in-southeast-asia/
https://en.wikipedia.org/wiki/Han_Chin_Pet_Soo

ภาพถ่าย

ภาพปก: คนร่อนแร่ด้วยเลียง คนงานทำการร่อนแร่ดีบุกด้วยมือ โดยใช้ถาดไม้แบนที่เรียกว่า เลียง คนงานจะหมุนถาดพร้อมกับน้ำและตะกอน เพื่อให้แร่ดีบุกที่มีน้ำหนักมากกว่าตกลงที่ก้นเลียง วิธีการดั้งเดิมนี้เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก ก่อนที่จะมีการใช้เครื่องจักรอย่างแพร่หลาย ภาพนี้สะท้อนการใช้แรงงานคนในอุตสาหกรรมเหมือง
(ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2c/HCPS_dulang_washer.jpg)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ