ตึกมิวเซียมสยาม (กระทรวงพาณิชย์เดิม) มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ที่ปรับประยุกต์ให้ทันสมัย ออกแบบด้วยความรู้ทางสถาปัตยกรรมตะวันตกจนเกิดรูปทรงอาคารที่เหมาะสมกับบริบทที่ตั้ง มีรูปด้านอาคาร ส่วนประณีตสถาปัตยกรรม ตลอดจนการตกแต่งภายในที่เหมาะสมกับหน้าที่การใช้สอยอาคาร งานสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ย่อมต้องประสานสอดคล้องกับงานวิศวกรรมด้วยการทำร่วมกันของสถาปนิกและวิศวกร ภายใต้รูปทรงอาคารที่ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความรู้ทางวิศวกรรมโครงสร้าง วัสดุและงานระบบอาคารที่ทันสมัยที่สุดเมื่อร้อยปีที่แล้ว
ยกตัวอย่างความสอดประสานระหว่างความคลาสสิกและความรู้วิศวกรรมอย่างหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดสำหรับตึกมิวเซียมสยาม นั่นคือบันไดตรงมุขกลางทางเข้าตึก
โครงสร้างบันไดของตึกมิวเซียมสยามเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคาร มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของคอนกรีต เหล็ก และไม้ เพื่อให้ได้บันไดที่ทอดตัวขึ้นไป 3 ชั้น โดยไม่มีเสารับแม่บันไดเลย คือ อยู่ได้ด้วยผนังมุขเท่านั้น โดยวิศวกรกำหนดให้มีคานคอนกรีตเป็นลูกตั้งฝังอยู่ในผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก เวียนขึ้นไปตามรูปบันได ยึดปลายด้วยเหล็กรูปพรรณเป็นแม่บันได เช่นเดียวกันชานพักบันได ที่ทำด้วยเหล็กรูปพรรณรูปตัวที (T) จากนั้นจึงวางแผ่นไม้เป็นลูกนอนบันได แผ่นไม้บางปิดทับหน้าลูกตั้งคอนกรีต ปูไม้กระดานพื้นชานพัก ส่วนบันไดรองทั้ง 2 ด้านมีขนาดเล็กกว่าบันไดหลัก แต่ก็ใช้โครงสร้างระบบเดียวกัน โครงสร้างบันไดของตึกมิวเซียมสยาม นับเป็นการออกแบบที่ผสมผสานความรู้ทางวิศวกรรมโครงสร้างเข้ากับงานออกแบบสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี
ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวรับน้ำหนักบันไดคือ ผนังตึก โดยโครงสร้างผนังตึกทั้งหมดยกเว้นผนังมุขกลาง เป็นแบบผสม คือมีทั้งเสาคอนกรีตขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ในแนวผนังและผนังรับน้ำหนักระหว่างแนวสาเล็กนั้น ผนังส่วนมากก่ออิฐ 2 ชั้นเว้นช่องว่างตรงกลางไว้เพื่อลดน้ำหนัก และยังช่วยป้องกันความร้อนและเสียงอีกด้วย สำหรับผนังอาคารในส่วนมุขกลางก่ออิฐหนาเป็นพิเศษ โดยไม่เว้นช่องว่างตรงกลาง เพราะผนังส่วนนี้ต้องรับน้ำหนักของบันไดทั้งหมดผ่านลูกตั้งคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวนมาก ผนังส่วนนี้จึงเป็นโครงสร้างผนังรับน้ำหนักที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ
ด้วยความรู้ทางวิศวกรรมและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของนายช่างสมัยนั้น บันไดมุขกลางที่ไร้เสามารองรับก็ยังมีความมั่นคงแข็งแรงและสวยงามมาตลอดกว่าร้อยปี และหากแหงนมองดูเห็นว่า บันไดมุขกลางนั้นคล้ายๆ ว่าลอยอยู่ในอากาศ
ภาพที่ 1 ภาพกราฟิกแสดงโครงสร้างของบันไดตึกมิวเซียมสยาม โดยใช้คานคอนกรีตเป็นลูกตั้ง
ฝังอยู่ในผนังก่ออิฐ ปลายอีกด้านหนึ่งยึดด้วยเหล็กรูปพรรณเป็นแม่บันได
ชานพักบันไดเป็นเหล็กรูปพรรณ แล้วปิดทับด้วยแผ่นไม้ทั้งลูกตั้ง ลูกนอนและชานพัก
ภาพที่ 2 บันไดมุขกลางไม่มีเสามารองรับ เมื่อแหงนมองดูจะมีลักษณะคล้ายลอยอยู่กลางอากาศ
ภาพที่ 3 บันไดมุขข้างทั้งสองของตึกมิวเซียมสยาม มีระบบโครงสร้างเช่นเดียวกับ
บันไดมุขกลางแต่มีขนาดเล็กกว่า