ชิ้นส่วนของภาชนะยุโรปที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยาม มีชิ้นหนึ่งที่มีลวดลายชื่อว่า “ติมอร์” (Timor) ที่มาของชื่อไม่ปรากฏชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าตั้งชื่อลายตามเกาะติมอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกภาชนะลวดลายนี้ไปขายที่ประเทศอินโดนีเซียในในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25
สิ่งที่น่าสังเกตคือชื่อกับลวดลายกลับไม่ไปด้วยกัน มีการสันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของลวดลายนี้มาจากตำนานจีนเรื่อง ความรักแห่งโถงตะวันตก หรือ บันทึกหอประจิม (Romance of the Western Chamber) ชื่อในภาษาจีนคือ 西厢记 Xixiang Jì อ่านว่า ซีเซียงจี้ เป็นลวดลายที่นิยมเขียนบนภาชนะที่ผลิตจากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen) ประเทศจีน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา เมื่อชาวตะวันตกเริ่มสนใจที่จะซื้อเครื่องปั้นดินเผาจากจีน และส่งไปขายในทวีปยุโรป ความต้องการของเครื่องปั้นดินเผาจีนกลายเป็นตัวกระตุ้นในการออกแบบและผลิตเครื่องปั้นดินเผาในประเทศตะวันตก ลวดลายแบบจีนกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการผลิตเครื่องปั้นดินเผายุโรประหว่างช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม
ภาพที่ปรากฏในลายติมอร์ มีที่มาจากตำนานจีนเรื่อง ความรักแห่งโถงตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องราวโรแมนติกที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) หากแต่ตอนจบกลับเป็นโศกนาฏกรรม จึงมีการปรับแก้เรื่องราวหลายครั้งจนจบลงอย่างงดงาม ต่อมาได้ถูกนำไปแต่งเป็นบทละครกลายเป็นอุปรากรจีนในช่วงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1823-1911) เรื่องราวกล่าวถึง จางเฉิง เดินทางไปสอบรับราชการในเมืองหลวง ระหว่างทางเขาได้แวะพักในวัด และได้พบกับ จุยหยิงหยิง ลูกสาวของขุนนางผู้ใหญ่ เขาตกหลุมรักเธอทันที ระหว่างนั้นมีโจรมาปล้น มารดาของจุยหยิงหยิงประกาศว่า จะให้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ที่ช่วยชีวิต จางเฉิงชนะพวกโจรได้แต่มารดากลับปฏิเสธที่จะให้แต่งงานกับลูกสาวเพราะเขายากจน แต่หนุ่มสาวได้ตกหลุมรักกันแล้วโดยมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปสามารถหาอ่านหรือชมได้ในสื่อออนไลน์ต่างๆ
ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลวัตถุเพิ่มเติมในรูปแบบสามมิติได้ที่ collection360.museumsiam.org