มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
สตูดิโองานประดับมุกที่วังท้ายวัดพระเชตุพน
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
18 ม.ค. 67 415

ผู้เขียน : ปัฐยารัช ธรรมวงษา

               ในพื้นที่มิวเซียมสยามได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณวังเก่าของเจ้ากรมมุกและกรมช่างสิบหมู่ พบชิ้นส่วนเปลือกหอยจำนวน 520 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นหอยมุกไฟหรือหอยอูด (Nile top shell) ทั้งหมดเป็นเศษที่เหลือจากการทำงานประดับมุก บริเวณที่พบชิ้นส่วนเปลือกหอยนี้อาจเป็นสตูดิโอ หรือสถานที่ทำงานประดับมุก และมีพื้นที่สำหรับทิ้งเศษเปลือกหอยที่เหลือใช้

                เศษเปลือกหอยมี 4 แบบคือ แกนหอยที่ตัดเปลือกไปแล้ว ก้นหอยที่นำมาทำมุกไม่ได้ ก้นหอยติดแกนที่เหลือจากตัดเปลือก และเปลือกหอยที่ตัดเป็นชิ้น บางชิ้นถูกฝนขัดจนเรียบเนียนแวววาว ทั้งหมดแสดงถึงกระบวนการเตรียมเปลือกหอยเพื่อนำมาประดับมุกต่อ

                แล้วชิ้นส่วนสำคัญเขาตัดไปทำอะไร? ในช่วงรัชกาลที่ 3 - 5 มีความนิยมใช้งานประดับมุกตกแต่งบานประตูหน้าต่างของโบสถ์วิหาร เครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ  เปลือกหอยที่พบในพื้นที่นี้จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานประดับมุกที่นิยมในช่วงนั้น

                 วิธีการประดับมุกเป็นอย่างไร? เริ่มจากการร่างลายบนผิวไม้ แกะสลักให้เป็นลายตื้นๆ ฝังชิ้นมุกที่ฉลุ และขัดจนเป็นประกายแวววาวลงบนลายที่แกะไว้ จากนั้นถมยางรักให้เต็มพื้นผิว ขัดจนลายมุกปรากฏขึ้นมาเรียบเสมอกับผิวไม้สีดำ งานนี้นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่ต้องใช้เวลา ฝีมือ และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ