มีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่าทำไมพื้นผิวด้านนอกตึกมิวเซียมสยามจึงมีลายเหมือนถูกตีเส้นไว้เฉพาะชั้นที่หนึ่งเท่านั้น ลายเส้นนี้มีความหมายหรือไม่? แล้วเหตุใดสถาปนิกจึงออกแบบลักษณะนี้?
การออกแบบให้พื้นผิวด้านนอกอาคารเป็นเส้นมีร่องตื้นนี้มีชื่อเรียกตามศัพท์สถาปัตยกรรมว่า เทคนิคเลียนแบบการก่ออิฐ (Rustication) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการตกแต่งเป็นครั้งแรกที่อิตาลีในศตวรรษที่ 14 โดยตั้งใจจำลองการก่อสร้างอาคารสมัยโรมันโบราณ
เทคนิคเลียนแบบการก่ออิฐนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้ในสถาปัตยกรรมคลาสสิก โดยออกแบบให้พื้นผิวด้านนอกเป็นเส้นขอบร่องตื้นๆ แลดูคล้ายงานก่ออิฐ และอาจตกแต่งพื้นผิวให้ดูหยาบขรุขระ ให้ความรู้สึกมั่นคงและแข็งแรงตัดกันกับพื้นผิวที่เรียบของผนังชั้นบน
มีสถาปนิกหลายคนนำเทคนิคนี้มาใช้ออกแบบชั้นแรกของอาคารที่มี 3 ชั้น ตามองค์ประกอบฐานานุศักดิ์ของอาคาร (Piano Nobile) จนกลายเป็นลักษณะเด่นของงานสถาปัตยกรรมในยุคเรเนซองส์ ตัวอย่างเช่น ปาลาซโซ เมดิชี่ ริคาร์ดิ (Palazzo Medici Ricardi) ปาลาซโซ สโตรซซี่ (Palazzo Strozzi) ในเมืองฟลอเรนซ์ เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความคลาสสิกที่ได้รับความนิยม และแผ่อิทธิพลทั้งในยุโรปและอเมริกา
ภาพที่ 1 อาคารปาลาซโซ สตรอซซี่ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกผู้ออกแบบก็ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ออกแบบพื้นผิวด้านนอกตึกมิวเซียมสยาม เพื่อสร้างให้เกิดความรู้สึกมั่นคงแข็งแรง และดูสง่างามโออ่าในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอาคารร่วมยุคสมัยอีกหลายแห่งที่มีพื้นผิวผนังด้านนอกเป็นเส้นร่องตื้น อาทิ ตึกพระราชวังสราญรมย์ บ้านพิบูลธรรม ริมคลองผดุงกรุงเกษม (อยู่ในความดูและของกระทรวงพลังงาน) ตึกพรรณราย มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตำหนักในวังลดาวัลย์ (อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) พระตำหนักหลายหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นต้น
ภาพที่ 2 ตึกพระราชวังสราญรมย์ ถนนสนามไชย
ภาพที่ 3 ตึกพรรณราย มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Rustication_(architecture)
https://www.britannica.com/technology/rustication
https://voices.uchicago.edu/201504arth15709-01a2/2015/11/16/rustication/